“พวงหรีดหนังสือ” จากวัสดุเหลือใช้ ต่อยอดชุมชนสู่การพัฒนาโรงเรียน

 

 
 
 

“ในชุมชนตำบลดงมูลเหล็กมีโรงงานผลิตสินค้าประเภทดอกไม้กระดาษส่งออกต่างประเทศมาตั้งอยู่ในชุมชนและใกล้โรงเรียน โรงงานมักทิ้งสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานโดยการเผาทำลายทิ้งหลังโรงงาน ทำให้เกิดมลพิษในหมู่บ้าน บางครั้งโรงงานทิ้งสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานมากเกินไป ทำให้ขยะเกลื่อนหมู่บ้าน ทางชุมชนจึงร่วมกันหาทางแก้ไขโดยการขอเศษวัสดุเหลือใช้มาประดิษฐ์เพื่อส่งขาย และนำรายได้มาใช้ประโยชน์ให้กับโรงเรียน” มะลิ กันหา ครูชำนาญการพิเศษโรงเรียนบ้านลำป่าสักมูล ต.ดงมูลเหล็ก อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ เล่าถึงปัญหาจากโรงงานภายในชุมชน

จากปัญหาดังกล่าวชาวบ้านในชุมชนรวมถึงครู อาจารย์โรงเรียนบ้านลำป่าสักมูลเห็นว่าสิ่งแวดล้อมไม่ดี มลพิษก็มาก จึงคิดหาทางเอาอุปกรณ์ที่เหลือใช้จากโรงงานมาประดิษฐ์เป็นพวงหรีดหนังสือโดยผ่านฝีมือและไอเดียระหว่างครู อาจารย์ ชาวบ้านในหมู่บ้านรวมถึงนักเรียนในโรงเรียนบ้านลำป่าสักมูล กระทั่งกลายมาเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญของตำบลสุขภาวะ ภายใต้สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อีกด้วย

มะลิ เล่าว่า การดำเนินการจัดตั้งกลุ่มพวงหรีดหนังสือเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2551 โดยทางโรงเรียนเข้าไปขอเศษวัสดุกระดาษเหลือใช้จากโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น กลีบ ดอก ก้าน เมื่อได้มาแล้วจะนำมาคัดแยกว่าวัสดุใดสามารถใช้งานได้หรือไม่ได้ จากนั้นจึงนำมาทำเป็นพวงหรีดโดยประดิษฐ์จากสิ่งของเหลือใช้อย่าง กระด้ง โอเอซิส และนำหนังสือ เช่น หนังสือการ์ตูน หนังสือเรียน รวมถึงหนังสือธรรมะใส่ลงในไปในพวงหรีด

“สาเหตุที่ต้องใส่หนังสือลงไปในพวงหรีดเพราะเราเป็นสถานศึกษา สัญลักษณ์หรือเอกลักษณ์ของเราน่าจะมีหนังสือเข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งหนังสือยังสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก เพราะหากลูกค้าที่อยู่ในตำบลดงมูลเหล็กเข้ามาสั่งซื้อ เมื่อถึงเวลาฌาปนกิจทางวัดจะรวบรวมหนังสือมาคืน เพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ การใส่หนังสือลงไปกับพวงหรีดทำให้เป็นที่มาหรือชื่อของกลุ่มพวงหรีดหนังสือ

นอกจากการใส่หนังสือลงไปในพวงหรีดจะเป็นสัญลักษณ์ว่าพวงหรีดนี้ผลิตมาจากสถานศึกษาแล้ว ยังทำให้พวงหรีดดูมีค่ามากขึ้นเพราะหากไปเทียบกับพวงหรีดดอกไม้สดคงเทียบกันไม่ติด เพราะพวงหรีดของเราสีไม่สดและไม่ฉูดฉาด ที่สำคัญเราขายพวงหรีดหนังสือให้กับคนในชุมชมด้วยราคาที่ย่อมเยา ไม่แพงมากนัก ราคาจะอยู่ 300-500 บาท แล้วแต่ดอกไม้ หรือหนังสือที่ใส่ลงไปในพวงหรีด” มะลิ กล่าว

การจัดตั้งกลุ่มพวงหรีดหนังสือไม่ใช่แค่เพียงครู อาจารย์ หรือชาวบ้านในชุมชนเพียงเท่านั้น แต่ยังมีเด็กประถมโรงเรียนบ้านลำป่าสักมูล เข้ามาร่วมแสดงฝีมือและแสดงศักยภาพด้านความคิด ผ่านการประดิษฐ์พวงหรีดหนังสือส่งออกภายในชุมชน

“เราดึงเด็กเข้าร่วมกิจกรรมตรงนี้โดยจัดเป็นหลักสูตรชุมชนท้องถิ่นให้กับนักเรียน ทุกวันอังคาร 1 ชั่วโมง เราใช้ชั่วโมงซ่อมเสริมเข้ามาสอนการประดิษฐ์พวงหรีดให้กับเด็กๆ ชั้น ป.4-6 และเราก็ดึงวิทยากรชุมชนเข้ามาจัดการเรียนการสอน วิทยากรชุมชนเข้ามาสอนด้วยความเป็นจิตอาสา เขาเต็มใจมา แม้จะไม่มีค่าจ้าง ค่าแรงอะไร เขาก็มา

นอกจากการผลิตพวงหรีดหนังสือแล้ว เด็กๆยังมีความคิดที่แปลกใหม่ จากการได้วัสดุเหลือใช้ นำมาทำเป็นของตกแต่งให้เป็นเครื่องประดับ อย่าง กิ๊ฟติดผม โบผูกผม ได้อีกด้วย” มะลิ กล่าว

มะลิ ยังเล่าต่อว่า เริ่มต้นการเรียนการสอนหลักสูตรชุมชนท้องถิ่นในการประดิษฐ์พวงหรีดหนังสือคือสอนตั้งแต่การคัดเลือก แยกกลีบ ออกแบบ รวมถึงขั้นตอนในการประดิษฐ์ เด็กบางคนเขาจะมีไอเดียที่แปลกใหม่ทำให้การผลิตพวงหรีดหนังสือจะมีรูปแบบแปลก ใหม่ อยู่เสมอ

“ไม่ใช่แค่หลักสูตรท้องถิ่นอย่างเดียวเท่านั้น เรายังเชื่อมโยงหลักสูตรเข้ากับมิติต่างๆทั้งเรื่องอาชีพ เพราะสุดท้ายสิ่งที่สอนเด็กไปอาจจะเป็นความรู้หรือนำไปสู่อาชีพของตัวเด็กเองก็เป็นได้ ในส่วนนี้เรายังมีค่าตอบแทนให้เด็กอีกโดยคิดให้เป็นพวงๆละ 5 บาท อาจจะมีค่าน้อยแต่เราให้เพราะเขาเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมผลักดันให้มีพวงหรีดหนังสือขึ้นมา

นอกจากนั้นเรายังสอนเด็กให้มีความเป็นจิตอาสารู้จักเสียสละเวลา แทนที่จะเอาเวลาไปเล่นเกม หรือเล่นกับเพื่อน แต่กลับเอาเวลามาใช้เกิดประโยชน์ได้จากจุดนี้ ไม่เพียงแต่เด็กชั้น ป.4-6 เท่านั้น น้องๆชั้น ป.1-3 เมื่อเขาเห็นพี่ๆเขาทำ บางคนก็เข้ามาช่วยตัดกระดาษ ทำนู่นนี่บ้าง เห็นได้ชัดเจนว่าเด็กเขาให้ความสนใจในส่วนนี้” มะลิ เล่าถึงการมีส่วนร่วมของเด็กๆ

นอกจากนั้น มะลิ ยังบอกถึงรายได้จากการขายพวงหรีดหนังสือ อีกว่า “รายได้ส่วนหนึ่งเราแบ่งให้เด็กที่เข้ามาช่วยงานในส่วนนี้ และแบ่งไว้เพื่อซื้ออุปกรณ์ที่จะนำมาผลิตพวงหรีดหนังสือ และอีกส่วนจะแบ่งไว้เพื่อการพัฒนาโรงเรียน เพราะในโรงเรียนเราไม่ได้ของบมาจากส่วนราชการไหน แต่เรานำเงินรายได้จากการขายพวงหรีดมาพัฒนาสิ่งดีๆและเป็นประโยชน์ให้กับให้กับเด็กๆ”

มะลิ บอกต่อว่า การที่กลุ่มพวงหรีดหนังสือจะประสบความสำเร็จได้ไม่ใช่เพียงแต่ครู อาจารย์ หรือนักเรียนที่ร่วมกันผลิตหรือผลักดันให้เกิดกลุ่มพวงหรีดหนังสือขึ้นมา แต่การร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้กลุ่มยืนหยัดได้ทุกวันนี้

“เรามีความภาคภูมิใจนะที่สามารถดึงหลายหน่วยงานทั้งชุมชน ครู และนักเรียนเข้ามาร่วมกิจกรรมตรงนี้ได้ เราสามารถสร้างจิตสำนึกให้เด็กรักถิ่นฐานบ้านเกิด รักในหมู่บ้าน หรือรวมถึงรักกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในหมู่บ้าน เด็กจะเข้ามาสืบทอดความรู้และการบูรณาการเหล่านี้สืบไป” มะลิ เล่าอย่างภาคภูมิใจ

กลุ่มพวงหรีดหนังสือไม่ใช่แค่เพียงกลุ่มเพื่อการประดิษฐ์และส่งออกหรือกลุ่มที่ส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักสูตรท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นกลุ่มที่ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แล้วนำเศษวัสดุเหลือใช้มาแปรรูปให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งยังมีรายได้จัดเก็บไว้เพื่อการบูรณะซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของโรงเรียนอีกด้วย

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

โดย : เนาวรัตน์ ชุมยวง

 

Shares:
QR Code :
QR Code