พลเมืองไทย สู้ภัยวิกฤติ สร้างโมเดลหยุดไวรัสร้าย

ที่มา : ไทยโพสต์


พลเมืองไทย สู้ภัยวิกฤติ สร้างโมเดลหยุดไวรัสร้าย thaihealth


แฟ้มภาพ


ในสถานการณ์ที่มีการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019  นอกจากมาตรการรัฐในการป้องกันและควบคุมการแพร่เชื้อโควิดที่ยกระดับเข้มข้นเรื่อยๆ พลังพลเมืองมีบทบาทสำคัญในการรับมือและสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19


เหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก 6) เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพที่มีความสนใจ มีส่วนร่วมสร้างความรู้ความเข้าในเรื่องการลดผลกระทบและป้องกันความเสี่ยงจากภัยไวรัสร้ายเสนอโครงการย่อยภายใต้โครงการ "พลเมืองไทย สู้ภัยวิกฤติ  : Citizen Resilience Project" จำนวนกว่า 40 โครงการ มูลค่าโครงการละไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อดำเนินโครงการในช่วงวิกฤติโควิดตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม 2563 เป้าหมายลดผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนทั่วไป, กลุ่มคนที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่สาธารณะที่มีความเสี่ยงจากเชื้อโควิด อย่างทีมแพทย์พยาบาลที่ได้ชื่อว่าเป็นนักรบชุดขาว ไปจนถึงกลุ่มคนไร้บ้าน คนพิการ และผู้ป่วยติดเตียง


นางเข็มเพชร เลนะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาส (สำนัก 6) เผยถึงเป้าหมายสำคัญของโครงการ "พลเมืองไทย สู้ภัยวิกฤติ" ว่า ตั้งใจให้พลเมืองมีส่วนร่วมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่เพียงแค่รับผิดชอบดูแลตนเอง โดยมีแนวคิดหลัก 3 ประการ คือ พลเมืองสามารถลดผลกระทบจากวิกฤติได้, พลเมืองมีความสามารถดำเนินชีวิตในช่วงวิกฤติ และพลเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าเดิมได้รวดเร็วที่สุดและมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีประสิทธิภาพกว่าเดิมหลังพ้นวิกฤติโควิด-19 ซึ่งกำหนดให้ดำเนินโครงการในเวลาสามเดือนนี้ ตั้งเป้าเป็นโครงการที่มีความคิดสร้างสรรค์ ช่วยลดผลกระทบการแพร่ระบาดเชื้อโควิด และไม่เป็นโครงการวิจัย โดยมีประเด็นยุทธศาสตร์หลัก


5 ประเด็น ประกอบด้วยความรู้เกี่ยวกับโควิด-19  คือ การสร้าง


1. เอกภาพของข้อมูลข่าวสารที่เป็น


2. ประโยชน์แก่การดำเนินชีวิตใน


3. ช่วงการระบาดของไวรัส ทั้ง


4. ข้อมูลลักษณะของไวรัส การ


5. เตรียมพร้อมดูแลตนเอง การ


ลดผลกระทบและป้องกันความเสี่ยงเมื่อมีผู้ติดเชื้อ หรือการฟื้นฟูตนเองหลังจากการติดเชื้อ การผ่านการสื่อสารที่เข้าใจง่าย ถูกต้อง และแม่นยำ เพราะขณะนี้พบปัญหาของข่าวปลอมหรือข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจำนวนมาก สร้างความตระหนกให้กับประชาชน ทำให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น


นางเข็มเพชรกล่าวต่อว่า ประเด็นหลักต่อมาคือ การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) การให้ความรู้ในวงกว้างเกี่ยวกับการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) โครงการจะต้องเสนอข้อควรปฏิบัติทั้งเวลาที่อยู่ในบ้านและพื้นที่สาธารณะ เช่น ร้านค้า ตลาดนัด หรือแม้แต่ในหมู่บ้าน ชุมชน ขณะนี้มีกระแสรังเกียจ ตีตราผู้ป่วยโควิด จึงต้องใช้ยุทธศาสตร์ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องระยะห่างทางสังคม ซึ่งเป็นมาตรการหลักหยุดเชื้อตามหลักคิดสำคัญ "โรคติดต่อ จะไม่ติดต่อ ถ้าเราไม่ติดต่อกัน" รวมถึงการแนะนำความแตกต่างของการกักกันตัวเอง และการแยกตนเอง ข้อควรปฏิบัติของการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) ที่ไม่เป็นภัยต่อสุขภาวะ เป็นต้น จะมีแนวทางแนะนำข้อควรปฏิบัติที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ เพราะจากวิกฤติโรคโควิด-19 เกิดวิถีการดำเนินชีวิตใหม่ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ก่อเกิดพฤติกรรมที่ปลอดโรค


"ในภาวะวิกฤติโควิด ปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาชนมีความเครียดมากขึ้น อีกประเด็นที่อยากชวนประชาชนร่วมคิด คือ โมเดลการบรรเทาปัญหาทางสุขภาพจิต การลดแรงกระแทกจากความเครียดหรือการดำรงชีวิตโดยการกักตัวเอง และลดความรุนแรงที่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เลือกที่จะออกไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล รวมถึงการรักษาสภาพจิตใจจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ เช่น กลุ่มผู้ติดเชื้อ ญาติสนิท ผู้ดูแล กลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ กลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบต่ออาชีพ


ยุทธศาสตร์ถัดมาที่อยากชวนสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในการลดผลกระทบให้กับกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงติดเชื้อ เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถทำงานจากบ้านได้ ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ คนขับรถรับส่งอาหาร บุคลากรภาครัฐและวิสาหกิจที่ยังต้องทำงาน รวมถึงกลุ่มที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในปัจจุบัน เช่น คนไร้บ้านทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด คนพิการไร้ญาติ ตาบอด หูหนวก ที่เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารป้องกันเสี่ยงติดเชื้อ" นางเข็มเพชรกล่าว


ผอ.สำนักสร้างสรรค์โอกาสยังพูดถึงยุทธศาสตร์วิถีสุขภาวะปกติแบบใหม่ว่า โครงการที่เสนอจะเป็นการสร้างโอกาสจากภาวะวิกฤติ หาทางเลือกในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเข้าสู่วิถีสุขภาวะที่ดีกว่าหรือการสร้างนวัตกรรมด้านวิถีสุขภาวะ เช่น ลดการพบปะลดโรคติดต่อ การรักษาสุขอนามัย การล้างมือ การใช้หน้ากากอนามัย การนำเอารูปแบบการทำงานจากที่บ้านเพื่อลดความเครียดจากการเดินทาง และเพิ่มเวลาเพื่อการสร้างสุขภาวะที่ดี แต่คงประสิทธิภาพการทำงานดังเดิม เป็นต้น ทั้ง 5 ประเด็นที่เสนอโครงการเบื้องต้นต้องมีรายละเอียดพอสมควร สามารถนำไปปฏิบัติจริงได้ในเวลารวดเร็ว มีการวางแผนที่เป็นไปได้ อาจมีแผนทดสอบการใช้งาน สสส.เชิญผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาโครงการ ยึดวัตถุประสงค์ชัดเจนตรงกับเป้าหมายโครงการ และสามารถขยายผลได้


"40 โครงการนี้จะเป็นช่องทางช่วยกระตุกให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคมเล็กๆ หรือกระทั่งทั้งประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เชื่อว่าจะเกิดโมเดลนำร่องที่ส่งต่อสู่ประชาชน ชุมชน ที่สนใจสามารถขยายวงต่อไปได้ เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่จากพลเมือง เพราะ สสส.คัดสรรการสร้างนวัตกรรมแบบใหม่และความคิดสร้างสรรค์ลดผลกระทบโควิด เราเปิดรับโครงการระยะสั้นๆ ได้รับความสนใจมากจากคนหรือกลุ่มคนที่ใจอาสาอยากสู้ภัยโควิดล้นหลาม ทำให้ต้องสร้างแพลตฟอร์มใหม่ในรูปแบบออนไลน์เป็นพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันโดยไม่ต้องใช้ทุนสนับสนุน เพื่อให้พลเมืองได้มีส่วนร่วมมากที่สุดในภาวะวิกฤตินี้" นางเข็มเพชรกล่าวในท้ายที่สุด.

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ