พลิกสวนไม้ผล เลิกใช้เคมี เลิกเป็นหนี้
ที่มา: เว็บไซต์ข่าวสด
“กว่าจะก้าวข้ามเคมีได้ เราต้องฝ่าอุปสรรคกันมานานนับ 10 ปี วันนี้เราอยู่อย่างมีความสุข ได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับสังคม ได้มีโอกาสสร้างกุศลที่ยิ่งใหญ่ ด้วยการผลิตอาหารอินทรีย์ให้กับผู้บริโภค”
เสียงสะท้อนจากหัวใจของ “ประหยัด ปานเจริญ” เจ้าของสวนผลไม้กว่า 80 ไร่ ในพื้นที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ที่ครั้งหนึ่งเคยตกเป็นทาสการทำเกษตรแบบเคมี จนเป็นหนี้สินอีนุงตุงนัง ก่อนตัดสินใจหักดิบเคมีมาทำเกษตรอินทรีย์ ใช้เวลาลองผิดลองถูกนับครั้งไม่ถ้วน แต่ด้วย “หัวใจ” ที่มุ่งมั่น และเปี่ยมด้วยพลังศรัทธา ในที่สุดเธอพาครอบครัว “ปานเจริญ” หลุดพ้นจากวงจรเคมี หวนคืนสู่วิถีอินทรีย์ได้สำเร็จ และอยู่กันอย่างมีความสุข
ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน การมาถึงของยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมี นอกจากจะเป็นการซ้ำเติมให้เกษตรกรไทยเป็นหนี้เป็นสิน และเจ็บป่วยมากขึ้นแล้ว ยังทำให้เกษตรกรที่รู้ไม่เท่าทันส่วนใหญ่ ต้องสูญเสียที่ทำกินอีกด้วย เช่นเดียวกับ ป้าประหยัด หญิงร่างเล็ก ในวัย 52 ปี ผู้ที่เปี่ยมไปด้วยพลังศรัทธาในเกษตรวิถีอินทรีย์ หัวหน้ากลุ่มเกษตรอินทรีย์บางช้าง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม หนึ่งในสมาชิกของโครงการสามพรานโมเดล ซึ่งขับเคลื่อนโดยมูลนิธิสังคมสุขใจ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ป้าประหยัด เล่าจุดเริ่มต้นในวันที่เลือกเดินบนทางสายอาหารเคมีให้ฟังว่า หลังแต่งงาน ก็ตัดสินใจทำอาชีพเกษตรเคมีแบบเต็มตัว ด้วยคิดว่า ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง จะช่วยทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น และได้ราคาสูงขึ้น แต่เมื่อหันหน้าเข้าสู่เกษตรเคมี ทั้ง บริษัทยา บริษัทปุ๋ย ก็เข้ามาชวนเชื่อ อวดอ้างสรรพคุณข้อดีจากผลิตภัณฑ์กันครึกโครม หลายบริษัทเสนอเงื่อนไขพิเศษ ทั้งลดแหลกแจกแถม ทองคำเอย เครื่องใช้ไฟฟ้าเอย ทีวี วิทยุ รวมถึงรถมอเตอร์ไซค์ ที่ต่างหยิบยื่นให้ในฐานะลูกค้า แต่สิ่งตอบแทนเหล่านั้น แทนที่จะทำให้ครอบครัวเรากินอยู่อย่างสุขสบายมากขึ้น กลับยิ่งสร้างภาระทำให้เป็นหนี้เป็นสินเพิ่มขึ้นไปอีก
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิต ป้าประหยัด เริ่มต้นขึ้นเมื่อมีโอกาสได้ทบทวน เปรียบเทียบวิถีเกษตร ที่เธอกำลังทำ กับการทำเกษตรแบบพึ่งพาธรรมชาติ ครั้งสมัยปู่ ย่า ทำนา ทำสวน ประกอบกับการแพ้สารเคมีของสามี และหนี้ธนาคาร 700,000 บาท ที่กู้มาซื้อยา ซื้อปุ๋ย ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะลด
เมื่อไตร่ตรองจนพบว่า ทุกข์ที่ตัวเธอและครอบครัวกำลังประสบ สาเหตุมาจากผลพวงการทำเกษตรเคมี ที่นับวันรายจ่ายเพิ่มทวีขึ้น เธอจึงหารือคู่ชีวิตเพื่อหาทางออกให้หลุดพ้นห้วงแห่งทุกข์นี้ แม้ผู้เป็นสามีจะไม่เห็นด้วย แต่ป้าประหยัดก็ตัดสินใจหักดิบ หยุดทำเกษตรเคมีทันที ทั้งที่ไม่รู้อนาคต