พลิกวิกฤติสอนเด็กรู้ทันภัยพิบัติ

 

ดร.รุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์  นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประเมินมูลค่าความเสียหาย สถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยครั้งนี้  ไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท และยังส่งผลกระทบในด้านการศึกษา ซึ่งมีสถานศึกษาได้รับผลกระทบ ณ วันที่ 1 พ.ย. 2554 ไม่ต่ำกว่า 2,396 แห่ง

อย่างไรก็ตามท่ามกลางวิกฤติก็ได้เห็นการเรียนรู้ และคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสู้กับภัยพิบัติที่เกิดขึ้น เช่น บ้านลอยน้ำ ส้วมกระดาษ ถุงจัดหนัก และวิธีการป้องกันทรัพย์สินมีค่า จึงถือเป็นโอกาสในการจัดการเรียนรู้ท่ามกลางเหตุวิกฤติ ดังนั้น สสค.ขอเชิญโรงเรียน หรือหน่วยงานที่จัดการศึกษาทางเลือก ในพื้นที่ประสบอุทกภัยร่วมพัฒนาการเรียนการสอน เด็กไทยเรียนรู้จากภัยพิบัติ” โดยเปิดให้ทุนสนับสนุนในโครงการพัฒนาการศึกษาทางเลือก ครั้งที่ 1/2554 เฉพาะพื้นที่จังหวัดที่ประสบอุทกภัย ซึ่งจะสนับสนุนใน 3 ประเด็นสำคัญคือ การเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติการพัฒนาทักษะชีวิตเพื่อรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติ และการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพเครือข่ายและคนทำงาน โดยเปิดให้เสนอโครงการได้ระหว่างวันที่ 14 พ.ย.-13 ธ.ค.นี้ สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มเสนอโครงการได้ที่ www.qlf.or.th

ด้าน ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้บริหารโรงเรียนสัตยาไส หนึ่งในโรงเรียนทางเลือก กล่าวถึงการเรียนรู้ของเด็กไทยในวิกฤติน้ำท่วมว่า  เด็กไทยควรเรียนรู้ทักษะของการอยู่รอดปลอดภัย เช่น เด็กทุกคนต้องว่ายน้ำเป็นเพื่อช่วยเหลือตัวเองให้ได้ การสอนเด็กให้รู้จักสร้างเรือจากขวดน้ำเก็บไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน  กรณีบ้านที่พังอาจต้องสอนเด็กว่า เราสร้างบ้านใหม่บนเสาและอยู่บนพื้นที่สูง และการปลูกผักบนเรือนแพเพื่อการใช้ชีวิตให้อยู่รอด เป็นต้น  ซึ่งความรู้เหล่านี้สามารถสอนได้โดยครูที่มีความเก่งและเข้าใจ  และการสอนนั้นต้องคาดหวังว่าจะไปถึงครอบครัวของเด็กด้วย ที่สำคัญคือ เด็กยุคใหม่ต้องเข้าใจถึงปรากฏการณ์ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น  ซึ่งจะอยู่กับเราไปอีกนานจากภาวะโลกร้อนที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น  4 องศาทุกปี

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code