พลิกมุมมอง ปล่อยวาง สร้างสุข
ที่มา : เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ โดย สมแขก
ภาพประกอบจาก เสกสรร โรจนเมธากุล
หากคุณรู้สึกมากพอว่า อารมณ์ของคุณส่งผลกระเพื่อมต่อคนอื่น คุณจะหาทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่าย เช่นเธอคนนี้!
ด้วยภาระหน้าที่ความรับผิดชอบด้านหนึ่งของ แอน-ภรณี ภู่ประเสริฐ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องผู้สูงอายุ และตัวเธอเองก็ในฐานะที่มีผู้สูงอายุเป็นสมาชิกในบ้านหนึ่งหลังซึ่งประกอบด้วยผู้สูงอายุ และเด็ก ดังนั้นเธอจึงเป็นคนหนึ่งที่เตรียมตัวสำหรับการเป็นหนึ่งในสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่
“แอนเป็นวัยแรงงานคนหนึ่งที่มีภาระในการดูแลสมาชิกในบ้าน ต้องดูแลคุณพ่อคุณแม่ของตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ของสามี มีลูกเล็กๆ ด้วย เพราะฉะนั้นเรามีหน้าที่และเป็นเสาหลักในการดูแลทุกคน ดังนั้นจึงต้องดูแลตัวเองให้มีสุขภาพแข็งแรง พยายามออกกำลังกายและควบคุมอาหาร หาโอกาสออกกำลังกาย ให้ความสำคัญกับวินัย เพราะต้องระลึกเสมอว่าเราต้องแข็งแรง ป่วยไม่ได้ พยายามปรับไลฟ์สไตล์ให้กลายเป็นการดูแลตัวเองทุกๆ ด้าน”
ในอีกบทบาทหนึ่งของผู้บริหาร การงานที่เกี่ยวข้องกับผู้คนมากมาย ถามว่าเธอมีการจัดการความเครียดและดูแลจิตใจอย่างไรจึงทำให้คนอื่นๆ ได้เห็นรอยยิ้มของเธออยู่เสมอ ภรณี บอกว่า “ในบทบาทของผู้บริหาร ในฐานะลูก หรือในฐานะคุณแม่ ไม่ว่าทำอะไรอยู่ก็ต้องทำจิตใจของเราให้นิ่ง พยายามควบคุมอารมณ์ และทำให้ตัวเองมีสติ”
“วิธีของแอนคือทำสมาธิเพื่อให้ตัวเองนิ่งพอจะเข้าใจและรับฟังให้มากที่สุด ก็คิดในแง่ดี พยายามพลิกมุมมองให้เป็นเรื่องบวกจากเรื่องร้ายๆ เท่าที่ทำได้ แล้วปล่อยวางเรื่องไม่สบายใจให้เร็วที่สุด แอนคิดว่าธรรมะช่วยได้เยอะในหลายๆ ข้อ หากมีโอกาสก็จะไปปฏิบัติธรรม ซึ่งการปฏิบัติธรรมก็มีรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งแนวนั่งสมาธิ วัดป่า หรือไปหมู่บ้านพลัม มีทางเลือกสู่การเข้าใจและระลึกรู้ ณ ปัจจุบัน ก็ช่วยได้ ทดลองหาทางที่เข้ากับจริตเรามากที่สุด ถ้าทางนี้ไม่เหมาะกับเราเราก็เปลี่ยนทาง ถ้าเราทำสมาธิไม่ได้ อาจจะเหมาะกับการร้องเพลง การสงบอยู่กับตัวเองก็ช่วยเรื่องจิตใจได้
“แอนว่าความรู้สึกของเราส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างเราอย่างมาก เราแสดงอารมณ์ออกไปเป็นแรงกระเพื่อมต่อคนอื่น เราเองไม่อยากสร้างทุกข์ให้กับคนอื่นต่อไป ก็ควบคุมให้จบและอยู่ที่ตัวเราเอง ซึ่งใจยากกว่าการควบคุมเรื่องร่างกายหรืออาหารที่บอกมาตั้งแต่ต้น อยู่ในความพยายามที่จะพัฒนาตัวเองในเรื่องด้านจิตใจให้มากขึ้น
และเวลาไปปฏิบัติธรรมก็พาลูกไปด้วย ในแบบที่คิดว่าเขาน่าจะทำได้ ที่ยกตัวอย่างหมู่บ้านพลัม จ.นครราชสีมา เพราะเราเพิ่งไปมา ซึ่งมีคอร์สสำหรับเด็กด้วยในการฝึกให้เขานิ่ง เป็นแนวทางที่เด็กสามารถทำได้ นั่งสมาธิของเด็ก ครอบครัวเราแต่ละคนก็จะมีโอกาสได้อยู่กับตัวเองด้วย เป็นแบบที่เราสงบไปด้วยกัน เราไม่สามารถตัดทุกอย่างออกจากชีวิตแล้วปลีกวิเวกไปอยู่วัดป่าคนเดียว แบบนั้นเราทำไม่ได้ ซึ่งเคยทำแต่เพราะเรามีครอบครัวแล้วก็ทำให้เรามีความกังวล ก็พยายามหาทางเลือกที่ไปกันได้กับคนในบ้านเรา” ภรณี กล่าว