พลิกฟื้นความสุขของเกษตรกรด้วย "เศรษฐกิจพอเพียง"
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
‘บ้านควนโต๊ะเหลง’ พลิกฟื้นความสุขของเกษตรกร ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
แม้บรรยากาศความเศร้าโศกหลังจากที่สำนักพระราชวังประกาศข่าวการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดีจักรี นฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 13 ต.ค.2559 ไม่อาจคลายลงไปได้ ด้วยความอาลัยและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ได้ทรงพระราชกรณียกิจ พระราชทานแนวทางพระราชดำริไว้มากมายคณานับประการ โดยเฉพาะเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเป็นสิ่งที่พสกนิกรพึงน้อมนำมาปฏิบัติสืบไป
ก่อนที่พระดำริในเรื่องนี้เป็นที่ตระหนักของประชาชน ระบบเกษตรกรรมพืชเชิงเดี่ยว หรือระบบเกษตรกรรมที่เป็นการปลูกพืชชนิดเดียวในบริเวณกว้าง ปลูกพืชที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันในด้านการเจริญเติบโตทางพันธุศาสตร์ การปลูกต้องอาศัยปัจจัยภายนอกแทบทุกขั้นตอน เช่น ต้องนำเข้าและใช้วัตถุดิบจากภายนอก เกษตรกรไม่สามารถกำหนดราคาเองได้
ด้วยเหตุนี้ ต้นทุนของการปลูกพืชในระบบนี้ส่วนใหญ่จึงมักอยู่ที่วัตถุดิบที่เกษตรกรไม่สามารถผลิตได้ด้วยตนเองขณะเดียวกันราคาของผลผลิตก็ขึ้นอยู่กับกลไกทางตลาดพ่อค้าวัตถุดิบจะเป็นผู้กำหนดกลไกเรียกราคาจากเกษตรกรได้อย่างเบ็ดเสร็จ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือ เกษตรกรซึ่งส่วนใหญ่ต้องกู้เงินมาลงทุนปลูกต้องเป็นหนี้ในทุกฤดูการผลิตยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้ แบกภาระจากการถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา ต้นทุนจากปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืช
ความล้มเหลวจากระบบเกษตรที่กล่าวมา ปรากฏให้เห็นยุคแล้วยุคเล่า ภาพเกษตรกรต้องออกแสวงหาพื้นที่ทำกินใหม่ๆ เพราะผืนดินเก่าเสื่อมสภาพจากการปลูกพืชชนิดเดียวกัน ซ้ำๆพืชจะดูดอาหารที่ต้องการออกจากดินจนหมด เมื่อสิ้นหนทาง หนี้ท่วมที่นาที่สวนถูกธนาคารยึดจึงเข้ามาหากินในเมืองหลวง หวังส่งเงินกลับไปใช้หนี้
ก่อนภาพที่เล่ามาจะกลายเป็นความล้มเหลวที่ผนึกอยู่กับภาคเกษตร ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ก็เข้ามาพยุงชีวิตของเกษตรกรจำนวนหนึ่ง
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่ และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น สร้างพื้นฐานชีวิตมาจากวิถีดั้งเดิมของสังคมไทยและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลามองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน มีความพอประมาณ อันหมายถึงความพอดีที่ไม่น้อยเกินไป และไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่นการผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณประกอบสัมมาชีพโดยตั้งอยู่บนความมีเหตุผลหมายถึงการตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ จนเกิดภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
ตัวอย่างจากการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้จนบังเกิดผล สามารถพบเห็นได้จากหลายพื้นที่ทั่วประเทศเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นใน หมู่ที่ 4 บ้านควนโต๊ะเหลง ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล
เกษตรกรของที่นี่ประสบกับปัญหาด้านเศรษฐกิจรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย หลังจากเกิดวิกฤตราคายางและพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้คือ ความเครียดและสัมพันธภาพในครอบครัวที่เริ่มห่างเหินกัน บางครอบครัวดิ้นรนหาทางออกด้วยการออกไปทำงานนอกบ้าน
บ้านควนโต๊ะเหลง จึงเข้าร่วมโครงการเศรษฐกิจพอเพียง โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เพื่อน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนด้วยแนวทางเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นระบบเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มตั้งแต่ตั้งทีมสภาผู้นำชุมชน ระดมสมองจากคนในชุมชน วางโครงสร้างแนวทางในการจัดการปัญหาที่คนในหมู่บ้านเผชิญอยู่ จัดเวทีถอดบทเรียน จัดทำแผนชุมชน กิจกรรมปรับวิถีชีวิต ปรับพฤติกรรมสุขภาพ ทำบัญชีครัวเรือนจนได้ระบบการจัดการข้อมูลชุมชน ฐานข้อมูลรายรับ รายจ่าย หนี้สินของชุมชน
ดนรอหมาน ตาเดอิน กำนันบ้านควนโต๊ะเหลง เล่าว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงช่วยให้อยู่รอดได้ ด้วยการปลูกผักกินเอง ไม่ใช้สารเคมี ซึ่งได้เริ่มทำในบ้านของตัวเองและชวนคนในหมู่บ้านร่วมกัน เดิมชาวบ้านต้องจ่ายตลาดอาทิตย์ละพันกว่าบาท ซื้อผัก ซื้อปลา ซื้อทุกอย่าง มาวันนี้เหมือนมีตู้เย็นอยู่ข้างบ้าน ปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงแพะ และขี้แพะก็เป็นปุ๋ยชีวภาพ พร้อมกับทำนาคนละ 1-2 ไร่ เพื่อปลูกไว้กินเอง เมื่อเดินตามคำสอนของในหลวงจึงตรงทุกเรื่อง ชาวบ้านไม่เดือดร้อนแม้ว่าข้าวของจะแพงก็ไม่กระทบ
ในที่สุดบ้านควนโต๊ะเหลงได้พิมพ์เขียวในการจัดการทรัพยากรของชุมชน จนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงของคนและกลุ่มคนในชุมชน ให้มีส่วนร่วมในการจัดการระบบสุขภาพในชุมชน สร้างค่านิยมในการบริโภคผักปลอดสารพิษ ไว้กินเองในครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์การเปลี่ยนแปลงของกลไกในชุมชนมีคณะทำงานและกระบวนการทำงานในรูปแบบใหม่ๆได้นวัตกรรมไบซิเคิลทัวร์ เปิดช่องทางให้เยาวชนอีกรุ่นหนึ่งเข้าร่วมเป็นเครือข่ายสร้างกระบวนการเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนแบบพี่สอนน้อง
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. เล่าถึงการสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไปให้กับชุมชนที่สนใจในโครงการเศรษฐกิจพอเพียงว่า
"จากการเปิดให้การสนับสนุนแก่ชุมชนที่สนใจมากกว่า 6 ปี พบว่า ชุมชนที่ทำสำเร็จในการนำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน และลดปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะลดการใช้สารเคมี พร้อมกับมีแกนนำชุมชนที่เข้มแจ็งและเกิดการรวมตัวความร่วมมือจากคนในชุมชน ซึ่งเป็นฐานที่สำคัญในการทำงานเรื่องอื่นๆต่อไป โดยสสส.ตั้งเป้าหมายให้เกิดชุมชนเข้มแข็งในลักษณะนี้จำนวน 500 แห่ง ภายใน 3 ปี และเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนน่าอยู่ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง"
คนที่นี่ไม่ปล่อยให้การเกษตรเชิงเดี่ยวเข้ามากำหนดชะตาชีวิตเหมือนในอดีต และพิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งว่า แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้นสามารถนำมาใช้ได้จริง สมดังพระราชดำริที่พระองค์ให้ไว้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2534 ว่า
"…เราไม่เป็นประเทศร่ำรวย เรามีพอสมควร พออยู่ได้แต่ไม่เป็นประเทศที่ก้าวหน้าอย่างมาก เราไม่อยากจะเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมาก เพราะถ้าเราเป็นประเทศก้าวหน้าอย่างมากก็จะมีแต่ถอยกลับ ประเทศเหล่านั้นที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า จะมีแต่ถอยหลังและถอยหลังอย่างน่ากลัว แต่ถ้าเรามีการบริหารแบบเรียกว่าแบบคนจน แบบที่ไม่ติดกับตำรามากเกินไปทำอย่างมีสามัคคีนี่แหละคือเมตตากัน จะอยู่ได้ตลอดไป…"