พลิกฝ่ามือเปลี่ยนประเทศด้วย ‘การอ่าน’

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจาก สสส.


พลิกฝ่ามือเปลี่ยนประเทศด้วย 'การอ่าน' thaihealth


ทำไมแค่เรื่องการอ่านของเด็กปฐมวัย จึงโยงใยเป็นเรื่องอ่านเพื่อชาติ


มีโอกาสจับเข่าคุยกับ สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2557 สองผู้หญิงที่ยืนยันว่า การอ่านไม่ใช่แค่เพื่อความสนุกเพลิดเพลิน แต่เป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ซึ่งจะเป็นทุนสำคัญของ การพัฒนาประเทศชาติ


"จริงๆ แล้ว นัยยะของเราไม่ได้ เน้นส่งเสริมให้อ่านหนังสือ แต่นัยยะ ของเราต้องการบอกว่า หนังสือและการอ่าน จะเป็นทุนในกระบวนการพัฒนาทุนมนุษย์" เปิดประเด็นด้วย สุดใจ แม่งาน ผู้พยายามผลักดันให้เกิดงานมหกรรมการอ่าน แห่งชาติครั้งที่ 2 : "มหัศจรรย์การอ่าน เพื่อเด็กปฐมวัยในภูมิภาค" ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบฯ (CMECC) จังหวัดเชียงใหม่  เมื่อ 29 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา


ซึ่งงานนี้ สสส. โดยแผนงาน สร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านและภาคี เครือข่ายส่งเสริมการอ่านกว่า 20 องค์กรจากทั่วภูมิภาค ร่วมกับคณะผู้จัดงานเทศกาลลิขสิทธิ์และเนื้อหาสำหรับสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (International Children's Content Rights Fair : ICCRF) และมหกรรม Big Bad Wolf ร่วมกันจัดขึ้น ด้วยหวังการส่งเสริมด้านภาษาในเด็กปฐมวัย ด้วยการอ่านหนังสือ เพื่อต่อยอดศักยภาพการเรียนรู้ทักษะชีวิตด้านอื่นต่อไป


ที่มาที่ไป?


สุดใจเปิดใจถึงสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้องลุกขึ้นมา เพราะมองว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย!


พลิกฝ่ามือเปลี่ยนประเทศด้วย 'การอ่าน' thaihealth


"ที่ผ่านมา จากการพยายามผลักดันให้เกิดวาระการอ่านแห่งชาติ ซึ่งกำลังจะจบวาระปีนี้ แต่กลับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ส่วนโครงการกรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลกก็หดหายไปอย่างรวดเร็ว ล่าสุด สสส. พยายามผลักดันเรื่องการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน เราดีใจมากที่สามารถผลักดันนโยบายนี้ได้ แต่สุดท้ายได้ข้อสรุปว่ามัน ไม่เกิดขึ้น การที่เราทำงานในเชิงอีเวนท์ ครั้งนี้ไม่ใช่กิจกรรมเฉยๆ แต่เป็นการให้องค์ความรู้ เป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้อง ที่ว่ารัฐบาลควรส่งเสริมนโยบายด้านส่งเสริมการอ่าน"


"เชียงใหม่" นอกจากจะเป็นจังหวัดที่ประกาศการจัดการตนเองแล้ว ที่นี่ยังมีภาคีเข้มแข็งในด้านการสร้างวัฒนธรรมการอ่านระดับเมือง


"มีหลายโครงการที่เราทำที่นี่ เรามีเครือข่ายอย่างน้อย 20 องค์กร และเราเคยอบรมครูแกนนำไปแล้วกว่าพันคน หนึ่งในภาคีเครือข่ายของเรา เช่น ศูนย์เด็กเล็กศรีนครพิงค์ เป็นหนึ่งในทีมทำยุทธศาสตร์ปฐมวัย ซึ่งเคยมีการระดมทุนก่อนหน้า เพื่อให้เด็กเกิดใหม่ทุกบ้านมีหนังสืออ่าน อีกอย่างเชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่ เราเชื่อว่าถ้าเคลื่อนอะไรสำเร็จกระแสจะไปเร็วมาก"


โดยหนึ่งในกิจกรรม ได้มีการจัดทำหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า "ของหาย" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ทางคณะทำงานต้องการส่งเสียงสะท้อนไปยังภาครัฐ ว่าตลอด 14 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ทำงานด้านการอ่านอย่างต่อเนื่อง


ดังนั้นเป้าหมายของการลุกขึ้นมาจัดมหกรรมในครั้งนี้ สุดใจเผยว่าเพราะต้องการที่จะขับเคลื่อนใน 2-3 เรื่อง เพื่อปรับกระบวนทัศน์คนไทยว่าทำไมเราต้องอ่านหนังสือ


"จริงๆ เราเคยจัดงานมหกรรมการอ่านแห่งชาติมาก่อนแล้ว ระหว่างที่ทำเรามีการวิจัยไปด้วย แม้ฟีดแบ็คจะดี แต่ก็มีเสียงบอกว่าทำไมไม่มาจัดภูมิภาคบ้าง ดังนั้น การจัดงานมหกรรมการอ่านในระดับภูมิภาค เราจึงหวังว่ามันจะก่อความตื่นตัวให้กับคนไทยในพื้นที่อื่นๆ" สุดใจกล่าว


ในอีกมุมดีๆ ที่เกิดขึ้นในงานนี้ คือทางกระทรวงสาธารณสุขได้คัดสรรหนังสือ 100 เล่มหนังสือดี 100 ปีสาธารณสุขไทยมาด้วย ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีในการการันตีว่าการอ่าน ช่วยเสริมสร้างสุขภาพและพัฒนาการมนุษย์ ตอบโจทย์ 4H คือ Head Heart Hand และ Health


"อีกไฮไลต์คือเรายังมีเครือข่ายจากภาคใต้ ที่มานำเสนอ "วรรณกรรมในฝักกริช" หนังสือเด็กที่เป็นผลผลิตจากงานวิจัยที่เป็นต้นแบบของพหุวัฒนธรรม ซึ่งนำมาใช้สำหรับการเลี้ยงดูและส่งเสริมพัฒนาการ ในระดับครอบครัวของพี่น้องชาวใต้"


พลิกฝ่ามือเปลี่ยนประเทศด้วย 'การอ่าน' thaihealth


นอกจากนี้ยังมีการผลักดันให้หนังสือชุด "อ่านดอยสุเทพ" เป็นต้นแบบสำหรับการขับเคลื่อนโครงการ "อ่านทั้งเมืองเรื่องเดียวกัน" ที่ สสส.กำลังพยายามเดินหน้า ซึ่งเธอบอกว่าทางเชียงใหม่เองก็ขานรับเรื่องนี้อย่างเต็มใจ และพยายามตั้งเป้าให้เชียงใหม่ก้าวสู่การเป็นเมืองที่มีหนังสือเป็นปัจจัยสำคัญที่แวดล้อมเด็กอย่างน้อยบ้านละ 3 เล่ม ในครอบครัวที่มีเด็กแรกเกิดถึงสามขวบ


"ดังนั้นในอนาคตอ่านดอยสุเทพ จะไม่ได้มีแค่นิทานเด็ก แต่มีบทความสำหรับผู้สูงอายุ สามารถอ่านออนไลน์ สแกน คิวอาร์โค้ด มีสำหรับเด็กวัยรุ่นด้วย อีกเรื่องที่เรากำลังจะมุ่งวิจัยว่าในแต่ละชนเผ่าหรือชาติพันธุ์มีหนังสือยังมีเรื่องเล่าดีๆ เยอะเลย ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ทำอย่างไรที่จะนำมาเป็นหนังสือนิทานให้กับเด็กๆ ได้ นี่เป็นเป้าหมายต่อไปที่ สสส.และภาคี อยากทำเรื่องนี้" สุดใจกล่าว


ในอีกส่วนยังมีหนังสือที่ส่งเสริมการอ่านด้วยนวัตกรรมใหม่ซึ่งเป็นผลพวงจากการทำงานวิจัยที่ใช้เวลาถึงกว่าสองปี


"เรื่องอ่าน อาน อ๊าน ที่เรานำเสนอคือ การตอบคำถามว่า ทำไมกระทรวงศึกษาธิการถึงไม่สามารถทำให้การอ่านเดินหน้าไปไหนได้เพราะการอ่านไม่ใช่ความสุข ทุกวันนี้หนังสือเด็กอนุบาล ป.1 ที่เราเห็นมีแต่ตัวหนังสือ ไม่ใช่หนังสือภาพ แต่เรายังศึกษาของต่างประเทศว่าทำไมตลอด 30 ปี เขานิยม Oxford Reading Tree กัน"


พลิกฝ่ามือเปลี่ยนประเทศด้วย 'การอ่าน' thaihealth


เมื่อถามว่าทำไมคนไทยต้องสร้างวัฒนธรรมการอ่าน?


สุดใจยกข้อมูลเสริมว่า ในแง่พัฒนาการเด็ก นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพัฒนาการเด็กเคยกล่าวไว้ชัดว่า หนังสือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในกระบวนการทำงานเรื่องนี้ได้ดีที่สุด เพราะสร้างพัฒนาการด้านภาษาที่ยังเป็นรากฐานการพัฒนาไปสู่พัฒนาการด้านอื่นๆ


"แต่สิ่งสำคัญที่สุด หนังสือยังเป็น Attachment สำคัญระหว่างแม่กับลูก เป็นการวางรากฐานความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ เชื่อมให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่หรือครอบครัว เพราะเขาจะ เริ่มเห็นว่าตัวตนของแม่มีจริง นำไปสู่การ พัฒนา Self Esteem ของตัวเองในระยะยาว ส่วนเนื้อหานั้นมาทีหลัง" ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านอธิบาย


แล้วจำเป็นแค่ไหน ที่หนังสือเด็กปฐมวัยจะต้องเป็น "วรรณกรรม"?


คำถามนี้เราได้คำตอบคมๆ จาก ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2557 ที่มาร่วมงานในครั้งนี้


"เพราะการอ่านหนังสือ ไม่ใช่แค่การอ่านฉลากยาข้างขวด" ชมัยภรยังชี้แจงต่อว่า


พลิกฝ่ามือเปลี่ยนประเทศด้วย 'การอ่าน' thaihealth


"สิ่งที่คุณหมอประเสริฐพยายามย้ำคือถ้าหากคุณไม่อ่านวรรณกรรมก่อนอายุ 12 ปี สมองส่วนที่ทำหน้าที่เป็นสมองสำหรับ การจินตนาการ การคิดวางแผนอนาคต จะหายไป เพราะสมองถือว่าไม่ได้ใช้สมองส่วนนี้ ผลก็คือเด็กจะโตมาแบบไม่มีจินตนาการเรื่องอนาคต แต่เด็กที่อ่านวรรณกรรมจะเห็นตรงนี้ก่อน ทำให้สมองส่วนนี้มีการพัฒนาไปเรื่อยๆ และส่งเสริมให้เขาอยากอ่านต่อไปเรื่อยๆ"


"สังเกตว่าเด็กๆ เขาเริ่มจากอ่าน ภาพก่อน เก็บรายละเอียด ซึมซับสุนทรียะ ตรงนั้น ก่อนที่จะไปแตะเนื้อเรื่อง หรือก่อนที่เนื้อเรื่องจะไปแตะโดนใจเขา เพราะวรรณกรรมเป็นตัวขัดเกลาชีวิตมนุษย์  ด้วยมีความลึกซึ้งกว่า" สุดใจกล่าวเสริม


ส่วนนักเขียนมือทองอย่าง ชมัยภร ช่วยวิเคราะห์ต่อว่า "เด็กจะชอบเรื่องที่เขาจินตนาการต่อได้ มันไม่ใช่แค่การอ่านให้ความรู้ธรรมดา แต่มันมีเรื่องราว หรือเนื้อหาที่เร้าใจชวนติดตาม สามารถเข้าไปกระทบจิตใจได้ เป็นตัวเรื่องที่ถ่ายทอด มาจากความเข้าใจชีวิต ความเป็นมนุษย์ พอเด็กได้อ่านวรรณกรรมที่มีตัวเรื่อง เด็กจะจดจำเรื่องราว แล้วเขาจะสามารถ ไปปรับใช้ในชีวิต


พลิกฝ่ามือเปลี่ยนประเทศด้วย 'การอ่าน' thaihealth


ยกตัวอย่างถ้าเราไปสอนเขาว่า ก-า-กา เฉยๆ แต่เขาไม่เคยรู้จักกา มาก่อนเลย เขาจะไม่มีภาพนี้ในความคิด แต่พอมีภาพมีเรื่องราวของกา มีความเคลื่อนไหวของกาเกิดขึ้น เด็กจะสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวและเปรียบเทียบกับชีวิตตัวเองได้ เราจึงย้ำมาตลอดว่า ต้องวรรณกรรม" ชมัยภรกล่าว


อ่านหนังสือ หรือแทบเล็ต?


อีกประเด็นที่อาจมีหลายคนยังตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับด้วยกระบวนการทำงานของสมองกับการอ่าน ว่าหากเราอ่านผ่านหนังสือ กับอ่านผ่านแทบเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ มีผลแตกต่างกันหรือไม่  เรื่องนี้สุดใจช่วยอธิบายว่า


"เรื่องถ้าเราไปหาข้อมูลจากคุณหมอประเสริฐที่พูดถึงกระบวนการทำงานสมองของการอ่านหนังสือกับพวกสื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้นมีผลต่างกัน เพราะเวลาที่เรามองตัวหนังสือมันจะเก็บคำได้ประมาณแค่ 11 คำเท่านั้นเอง หนังสือช่วยให้คนเรามีความอดทนที่จะอ่านอะไรยาวๆ ช้าๆ ถึงจะไปตอบโจทย์สมองส่วนหน้าเรื่องจินตนาการ แต่แทบเล็ตหรือคอมพิวเตอร์ มันวูบไหวไปเร็วมาก มีผลทำให้เด็กไม่มีสมาธิในการอ่าน หรือสมาธิสั้นมาก ถ้าเริ่มจากหนังสือ สั่งสมไปเรื่อยๆ ภายใน 6 ปีแรก ถ้าเราทำให้เด็กหลงรัก การอ่านในช่วงปฐมวัย เชื่อได้ว่าเด็กจะรักการอ่านไปตลอดชีวิต"


พลิกฝ่ามือเปลี่ยนประเทศด้วย 'การอ่าน' thaihealth


"ซึ่งการที่เราดึงกระทรวงสาธารณสุขมาเพราะเขาคือคนแรกที่จะถึงตัวเด็กตั้งแต่ก่อนคลอด กระทรวงต้องเตรียมหนังสือให้แม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ตั้งครรภ์  ลูกได้ยินเสียงเพราะเซลสมองทำงานแล้ว ส่วนสี่เดือนหกเดือน แรกเกิดสามขวบ ทำได้เลย"


สุดใจเล่าต่อว่า ประสบการณ์ทำงานกับภาคีในพื้นที่ ทำให้รู้ว่าวิธีการอ่านหนังสือกับลูกที่ดีที่สุด รอบแรกควรอ่านรวดเดียวเพื่อให้เด็กรื่นรมย์เพลิดเพลินไปกับหนังสือก่อน รอบสองหรือสามคุณค่อยเริ่มชี้ตัวอักษรให้กับเด็ก สอนให้เด็กสังเกตหน้าปกว่าเป็น ยังไง เรื่องเกิดจากไหน ให้เขาวิเคราะห์ ได้ว่านี่เป็นเรื่องที่สร้างขึ้น เขาจะค่อยๆ เข้าใจ และการชี้ตัวคำ ทำให้เด็กรู้เสียง รู้จักตัวหนังสือ


"เราพบว่าแปดเดือนเท่านั้น  เด็กสามสี่ขวบสามารถถอดรหัสได้ และ อ่านหนังสือได้" สุดใจกล่าวทิ้งท้าย

Shares:
QR Code :
QR Code