พลิกกระแสตื่นภัยโรคร้าย ให้กลายเป็นพลัง
ชุมชนบ้านหัวลำภู จ.นครศรีธรรมราช ร่วมใจสร้างชุมชนสุขภาพดี ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภค สร้างกลุ่มแกนนำพัฒนา
ชุมชนบ้านหัวลำภู ตั้งอยู่ที่หมู่4 ตำบลหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช มานานกว่า 300 ปี โดยเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่น ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก สภาพพื้นที่ประกอบด้วยบริเวณที่อยู่บนเขตอิทธิพลน้ำเค็ม และลึกเข้าไปในแผ่นดิน สามารถทำนาด้วยน้ำจืดได้ หลังจากการทำนากุ้งประสบปัญหาโรคระบาดและราคาตกต่ำในช่วงประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ชุมชนได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจอย่างหนัก ขณะเดียวกันก็มีปัญหาด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยมีสาเหตุสำคัญจากการไม่ตระหนักต่อการดูแลสุขภาพ เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย และความเครียด
จากการสำรวจปัญหาชุมชนเพื่อจัดทำแผนพัฒนาชุมชนในปี 2550 ของบ้านหัวลำภู ตำบลหัวไทร อำเภอหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช พบว่า สุขภาพของคนในชุมชนอ่อนแอมาก และพบผู้ป่วยโรคมะเร็ง 1 ราย ต่อจากนั้นในปีถัดมาพบผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้นอีก 5 ราย
เมื่อคืนข้อมูลให้ชุมชนได้ร่วมเรียนรู้ปัญหาดังกล่าว ทำให้คนในชุมชนเกิดความตื่นตระหนกและหวาดกลัวว่าตัวเองและคนในครอบครัวจะเป็นอีกผู้หนึ่งที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ในปี 2553 ชุมชนแห่งนี้จึงเริ่มดำเนิน โครงการ”หัวลำภูสู้ชีวิต” ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดโครงการชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ โดยมี คุณภูษณิศา แก้วเนิน หรือ คุณเขียด สารวัตรกำนัน ตำบลหัวไทร และเลขานุการประชาคมบ้านหัวลำภู เป็นแกนนำหลัก
โครงการนี้หยิบยกประเด็นการจัดการกับปัญหาสุขภาพมาเป็นเป้าหมายหลัก ที่สำคัญคือ การป้องกันโรคมะเร็ง ซึ่งชาวบ้านเห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญ ด้วยการส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภค ส่งเสริมการบริโภคผักปลอดสาพิษ ปลูกสมุนไพรไว้ใกล้ตัว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พร้อมทั้งตรวจสุขภาพ คัดกรองผู้ที่เสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง ฯลฯ ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่น ร่วมสร้างพันธ์ภาพที่ดีต่อกันของคนในชุมชน ทั้งด้านการแสดงและหัตถกรรม รวมทั้ง ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีในชุมชน เพื่อรักษาระบบนิเวศ พัฒนาอาชีพของชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
จนถึงทุกวันนี้ บ้านหัวลำภูยังคงเดินหน้าสร้างชุมชนของตนให้น่าอยู่ตาม “วิถีคนหัวลำพู” โดยยึดมั่นใน “โจทย์” ตั้งต้น และเส้นทางการพัฒนาชุมชนจากพื้นฐานความเป็นจริงไม่ “เร่งโต” แต่ค่อยๆ ลงหลักปักฐานและขยายผลออกไปตามกำลังที่ทำได้อย่างเป็นขั้นตอน
จากจุดเริ่มต้นที่ “ตอบโจทย์” ด้านสุขภาพอย่างตรงไปตรงมา ด้วยการทบทวนและปรับปรุงวิถีการกินอยู่ การใช้ชีวิต และสภาพแวดล้อมจากกลุ่มครอบครัวที่แสดงความใส่ใจเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” 30 ครอบครัวในปีแรก พัฒนาไปสู่สถานะ “กลุ่มแกนนำพัฒนา” ใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) เกษตรยั่งยืน 2) ฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่น 3)สวัสดิการชุมชน ในปีที่สอง จนมั่นใจว่ากลุ่มแกนนำมีความพร้อมแล้ว ในปีที่สาม จึงดำเนินการขยายผลทั้งเชิงพื้นที่และเชิงประเด็น โดยขยายกลุ่มสมาชิกไปสู่อีก 20 ครัวเรือน และขยายประเด็นจาก 3 เรื่องเดิมไปสู่อีก 2 เรื่องได้แก่ 4) การศึกษา 5) เศรษฐกิจชุมชน โดยครอบครัวแกนนำที่ค่อยๆ พัฒนาศักยภาพให้เข้มแข็งมากขึ้นเป็นลำดับ ได้ประมวลประสบการณ์และความรู้ที่สั่งสมมาในแต่ละเรื่องให้สามารถถ่ายทอดให้แก่ผู้สนใจ ทั้งในชุมชนและจากนอกชุมชน บนแนวคิด “มหาวิทยาลัยบ้านหัวลำภู” ที่อาศัยบ้านของสมาชิกกลุ่มแกนนำในแต่ละด้านเป็นแหล่งเรียนรู้
ความมุ่งมั่นต่อการ “สร้างชุมชนให้น่าอยู่” อย่างเอาจริงเอาจังและต่อเนื่อง ได้สร้างความสนใจและเชื่อมั่นให้แก่หมู่บ้านใกล้เคียง จนกระทั่งปี 2556 ชุมชนในตำบลเดียวกันถึง 6 หมู่บ้าน ได้ริเริ่มโครงการสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่เคียงข้างบ้านหัวลำภู จนถือว่าเป็นตำบลที่เข้าร่วมโครงการนี้มากที่สุดในประเทศไทย
ที่มา: หนังสือชุมชนน่าอยู่ ประตูสู่ความสุข
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต