พลังโซเชียล SAVE ชีวิตคนคิดสั้น
เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th
ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th
“โลกนี้โหดร้ายเกินไป ไม่อยากอยู่แล้ว” “อยู่ไปก็ไร้ค่า ตายไปคงดี” “ขอโทษทุกคนที่ทำแบบนี้ รักแม่นะ” “ขอโทษที่ทำให้ผิดหวัง เหนื่อยพอแล้ว ลาก่อน”
หากคนใกล้ตัวคุณโพสต์โซเชียลมีเดียแบบนี้ คุณจะทำอย่างไร เมื่อเห็นสัญญาณเตือนเสี่ยงฆ่าตัวตายในโลกออนไลน์
การโพสต์ตอบให้กำลังใจ ปลอบใจ หรือให้ข้อคิดเตือนสติ อาจจะช่วยได้ส่วนหนึ่ง แต่อาจจะไม่เพียงพอที่จะสกัดยับยั้งความพยายามฆ่าตัวตาย เพราะอย่าลืมว่าผู้ที่ประสบปัญหา กำลังตกอยู่ในห้วงของความทุกข์ ชีวิตมืดมนและหมดหวัง
จะดีกว่าหรือไม่ ถ้ามีหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ คอยให้ความช่วยเหลือได้ในทันที นับเป็นโอกาสดีเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และกองบังคับการปราบปราม ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือในการประสานเชื่อมโยงข้อมูล พร้อมเปิดตัวทีมปฏิบัติการพิเศษ ชื่อว่า “HOPE Task Force” เพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย
โดยมีจุดเด่นคือ การได้เพจเฟซบุ๊กยอดนิยม เช่น หมอแล็บแพนด้า, Drama-addict และแหม่มโพธิ์ดำ มาคอยประสานข้อมูลและเเจ้งเบาะเเส กรณีมีเคสเสี่ยงมายังชุดปฏิบัติการพิเศษนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้เข้าช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กลับมาเป็นปกติ
“ชาติวุฒิ วังวล” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. เผยว่า ทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย หรือ HOPE Task Force ตรงกับจุดเน้นหลักของ สสส. ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพจิต อีกทั้งการผลักดันและสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมรูปแบบใหม่ๆ เพื่อสร้างสุขภาพจิตของคนไทยให้ดีขึ้น จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะนำมาช่วยเหลือผู้ที่เสี่ยงฆ่าตัวตาย
ด้าน นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ ให้ข้อมูลว่า ในแต่ละปีมีคนไทยที่พยายามฆ่าตัวตายเฉลี่ย 5.3 หมื่นคน ซึ่งทีม HOPE Task Force สามารถช่วยชีวิตคนที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตายได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยเฉลี่ยแต่ละเคสใช้เวลาสูงสุดในการช่วยเหลือ จนจบภารกิจไม่เกิน 3 ชั่วโมง และเร็วที่สุดคือไม่กี่นาทีหลังรับแจ้ง
นพ.ณัฐกร อธิบายต่อว่า ทีม HOPE Task Force ประกอบไปด้วย กองบังคับการปราบปราม, สถานีตำรวจในพื้นที่, กรมสุขภาพจิต, โรงพยาบาล ร่วมกับเพจเฟซบุ๊กยอดนิยมชื่อดัง 3 เพจ ได้แก่ หมอแล็บแพนด้า, Drama-addict และแหม่มโพธิ์ดำ
สำหรับกระบวนการทำงานของทีม HOPE Task Force เริ่มตั้งแต่
1. ประชาชนส่งข้อมูลบุคคลที่มีสัญญาณเสี่ยงฆ่าตัวตาย ที่ปรากฏอยู่บนโลกโซเชียลให้กับ 3 เพจเฟซบุ๊ก เพื่อรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม
2. ร่วมกันวางแผนเข้าช่วยเหลือ หลังจากกองปราบปรามและกรมสุขภาพจิต ได้รับข้อมูลจาก 3 เพจเฟซบุ๊กแล้ว จะประสานกับตำรวจในท้องที่และโรงพยาบาลในพื้นที่ เพื่อรองรับบุคคลที่มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย และให้การดูแลจนหมดภาวะฉุกเฉิน
3. จัดทีมติดตามดูแลรักษาและบำบัดเยียวยา อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตายซ้ำในอนาคต
ขณะที่ “ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน” หรือหมอแล็บแพนด้า บอกว่า พลังของโลกโซเชียล สามารถช่วยรวบรวมข้อมูลมหาศาลได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นก็เกิดจากความรักและความห่วงใย ที่พวกเรามีให้กันในสังคม
“ผมดีใจมากที่ประชาชนทางบ้าน หรือแฟนเพจพวกเรา กำลังช่วยกันสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากเกิดขึ้นในประเทศไทย หากพบเห็นคนที่โพสต์ส่งสัญญาณฆ่าตัวตายในโลกออนไลน์ ส่งมาให้พวกเราทั้ง 3 เพจได้เลย คุณยังมีพวกเรา HOPE Task Force อยู่เคียงข้างเสมอ” หมอแล็บแพนด้า กล่าว
ทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ ขอเพียงตั้งสติค่อยๆ คิดแก้ปัญหาเหล่านั้น สสส. ขอร่วมเป็นกำลังใจให้กับทุกคน สามารถก้าวข้ามทุกปัญหาไปได้ด้วยดี