พลังเยาวชน “ภูมิสังคมภาคตะวันตก” รับมือ สังคมสูงวัย

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก 


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต


พลังเยาวชน


ข้อมูลจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เมื่อปี 2559 ระบุว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในปี พ.ศ.2563 โดยคาดว่าจะมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 13 ล้านคน เวลานี้จึงจำเป็นที่สังคมไทยจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มคนเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น


คำถามสำคัญคือเยาวชนคนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบัน ตื่นตัวต่อการดูแลและพร้อมรับมือกับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุกันอย่างไรบ้าง


อีกหนึ่งกิจกรรมดีๆ ของกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ ภายใต้ "โครงการพลังเด็ก และเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ ภูมิสังคมภาคตะวันตก" ที่พวกเขาได้เรียนรู้เรื่องราวและทำประโยชน์เพื่อชุมชนตลอดระยะ เวลากว่าหนึ่งปี และนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาบอกเล่าในรูปแบบนิทรรศการที่มีชีวิต  ภายในงานมหกรรมพลังเด็กและเยาวชน ภาคตะวันตก "ก้าวกล้า การศึกษา เพื่อสร้างพลเมือง ตามรอยเท้าพ่อ" ณ พื้นที่โครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ (มูลนิธิ ชัยพัฒนา) อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทร สงคราม


โครงการดังกล่าวดำเนินการโดยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จากการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพแห่งชาติ (สสส.) และมูลนิธิสยาม กัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)


ในปีที่ 2 ยังคงสานต่อกระบวนการ เสริมสร้างศักยภาพเด็กและเยาวชน ผ่านกิจกรรมเรียนรู้เรื่องราวของชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ 4จังหวัดได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรีเพชรบุรีและสมุทรสงคราม ตลอดจนการพัฒนากลไกการขับเคลื่อนงานเด็ก และเยาวชนของภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อนาไปสู่การสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพและตระหนักต่อการสร้างความยั่งยืนในชุมชนของตนเอง


พลังเยาวชน


คันฉัตร ตันเสถียร ผู้ว่าราชการ จังหวัดสมุทรสงคราม ในฐานะประธานในพิธี กล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการ ว่า  การพัฒนาเด็กและเยาวชนถือว่า เป็นภารกิจที่สำคัญที่หลายฝ่ายจะต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนให้เกิดรูปธรรม ผ่านการสนับสนุนการทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนร่วม เพื่อนำไปสู่การสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมือง ทั้งยังเป็นการกระตุ้นเตือนให้เด็กและเยาวชน เห็นถึงความสำคัญในการช่วยเหลือสังคม การฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมประเพณี รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นการพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต และการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก


ชิษณุวัฒน์ มณีศรีขา ผู้บริหาร โครงการศูนย์ประสานงานวิจัย เพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า การพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ มาจากฐานคิดที่ว่าเด็กไม่ใช่ต้นเหตุของปัญหาสังคม เพียงแต่ผู้ใหญ่จะต้องใช้ความรู้เป็นพลังเปลี่ยนแปลงในทางบวก เพื่อทำให้พวกเขาดึงศักยภาพของตนเองออกมาพัฒนาสังคม


"ตลอดระยะเวลาสองปีเราเริ่มเห็นพัฒนาการของเด็กๆ จากการที่ผู้ใหญ่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ลงมือโครงการเพื่อชุมชน ท้องถิ่นของตนเอง จากวันแรกที่พวกเขาไม่เคยสนใจเรื่องใกล้ตัว ไม่เคยคิด แก้ปัญหาและร่วมมือทำงานกับผู้อื่น"


โดยปีนี้โครงการได้เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนเข้าร่วมกว่า 100 ชีวิต ประกอบด้วย 24 โครงการ และสามารถแบ่งแยกสถานการณ์ปัญหาออกเป็น 5 ประเด็น ได้แก่ 1.ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 2.การจัดการทรัพยากรน้ำ 3.ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญา 4.สืบสานคุณค่ามะพร้าวในชุมชนแม่กลอง และ 5.พลังอาสาสมัครกับ การพัฒนาชุมชน


ชิษณุวัฒน์ กล่าวว่า การจัดแบ่งกลุ่มประเด็นปัญหาในลักษณะนี้ทำให้เด็กเห็นความเชื่อมโยงของสถานการณ์ในพื้นที่ได้ชัดเจนมากขึ้น และสามารถเชื่อมต่อการทำงานกับเพื่อนในโครงการอื่นๆจนเกิดเป็นเครือข่าย มีทักษะในการดำรงชีวิตในสังคมที่ดีขึ้น


ส่วนการขับเคลื่อนโครงการก้าวสู่ปีที่ 3 นี้ โครงการฯ มีความตั้งใจที่จะขยายผลเรื่องการพัฒนาศักยภาพเยาวชนที่ผ่านกลไกและกระบวนการเรียนรู้เรื่องราวท้องถิ่นเหล่านี้ให้กับองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้โดยตรง เพื่อไปสู่การสร้าง Active citizen หรือพลเมืองตื่นรู้ในรุ่นต่อไป


พลังเยาวชน


น้องบู๊-ณัฐวุฒิ ศรีนวล ตัวแทนเยาวชนทีมอาวุโส OK กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ทำโครงการของทีมจุลินทรีย์ RBCAT วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี ในปีแรก พวกเขาได้ตกผลึกความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของชุมชนและสถานการณ์ของ ผู้สูงอายุในชุมชนบ้านหนองโบสถ์ ตำบลเขาชะงุ้ม จ.ราชบุรี ที่ถูกปล่อยให้ถูกเพียงลำพัง จึงเกิดคำถามขึ้นในใจว่า "ลูกหลานผู้สูงอายุเหล่านี้อยู่ที่ไหนและเขาอยู่กันอย่างไร"


"เมื่อคิดจะทำโครงการต่อในปีที่สองจึงรวมทีมใหม่ในชื่อทีมอาวุโส OK ทาโครงการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนบ้านหนองโบสถ์ โดยมีเป้าหมายคืออยากจะนำทักษะการทำงานร่วมกับชุมชนมาปรับใช้ในการทำกิจกรรมเพื่อให้ผู้สูงอายุในพื้นที่มีความสุขและมีสุขภาพดี จากการลงพื้นที่เข้าไปพูดคุย ทำกิจกรรมการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งทุกท่านก็เหมือนญาติผู้ใหญ่ ที่เราให้ความเคารพ พอเห็นผู้สูงอายุ มีความสุข เราก็มีความสุข การทำกิจกรรมไม่เพียงแต่ไปลงมือทำงานให้เสร็จ แต่พวกเรากำลังลงไปสร้างความสัมพันธ์และสร้างการเรียนรู้ร่วมกันในชุมชน"


น้องบู๊เล่าว่าเขาไม่เพียงแต่เป็นผู้ให้เท่านั้น… แต่ผลที่ได้รับกลับคืนมาคือต้นแบบด้านการดูแลสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเพื่อการดูแลสุขภาพ โดยพบว่าสาเหตุที่ผู้สูงอายุที่บ้านหนองโบสถ์มีสุขภาพแข็งแรงเพราะนิยมปลูกผักพื้นบ้านไว้รับประทานเอง ทำให้ได้บริโภคผักปลอดสารและได้เคลื่อนไหวออกกำลังกายไปพร้อมกันด้วย


"การรับมือกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุไม่ใช่เรื่องไกลตัวของทุกคนอีกต่อไป การเรียนรู้ต้นแบบการใช้ชีวิต การเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ จากตัวอย่างดีๆ ของกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนก็ทำให้สามารถรู้จัดการวางแผนชีวิตและนำความรู้ไปปรับใช้กับตัวเองและกลุ่มผู้สูงอายุท่านอื่นๆ และเพื่อให้ผู้สูงอายุในประเทศไทยมีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจเหมือนผู้สูงอายุในชุมชนบ้านหนองโบสถ์" ณัฐวุฒิ กล่าว


พลังเยาวชน


พลังการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มเด็กและเยาวชนภาคตะวันตกได้สร้างความ ตื่นตัวและการเตรียมความพร้อมรับมือกับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในชุมชน


"จากตัวอย่างดีๆ ของกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนก็ทำให้สามารถรู้จัดการวางแผนชีวิตและนำความรู้ไปปรับใช้กับตัวเอง และกลุ่มผู้สูงอายุท่านอื่น"

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ