พลังสตรีถิ่นอีสานยับยั้งน้ำเมา
ขยายพื้นที่ปลอดเหล้า-รุนแรง
ผลการศึกษาใหม่ที่ตีแผ่ธุรกิจแอลกอฮอล์ในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีษะเกษ ร้อยเอ็ด และอำนาจเจริญ ของเครือข่ายสตรีถิ่นอีสาน ระบุว่า ธุรกิจน้ำเมากำลังมีการปรับตัวอย่างมากต่อการวางกลยุทธ์ที่จะส่งเสริมการขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลยุทธ์ที่จะแทรกซึมไปยังงานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นระดับตำบล อำเภอ หรือจังหวัด โดยเข้าไปสนับสนุนทุกรูปแบบ ตั้งแต่เทศกาลสัปดาห์สินค้าโอท็อป เทศกาลสัปดาห์อาหารปลอดภัย เทศกาลดนตรีและการแข่งขันกีฬา รวมถึงกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน จนกระทั่งสนับสนุนทุนและกิจกรรมทางการศึกษา
หลังจากมี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ส่งผลให้ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา ธุรกิจเหล้า-เบียร์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีการปรับกลยุทธ์ที่อาจส่งผลต่อการทำงานของเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน และหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบในงานควบคุมน้ำเมามากขึ้น
“ธุรกิจน้ำเมาพยายามแทรกแซงงานวัฒนธรรมชุมชน ทั้งระดับภาค จังหวัด เทศบาล อบต. และเข้าไปถึงในครอบครัวและชุมชนมากขึ้น มีบริการส่งเสริมการขายเจาะลึกถึงบ้าน อย่างซื้อเบียร์ในงานแต่งหรืองานบุญแล้วบริการส่งถึงบ้าน ปรับวิธีการขายแบบใหม่ๆ ที่รัฐตรวจสอบได้ยากลำบากขึ้น และชาวบ้านก็ตามไม่ทัน หรือมุ่งขายกับนักดื่มหน้าใหม่ที่เป็นเด็กผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นดื่มฟรี ตลอดจนเน้นรูปแบบกิจกรรมบันเทิง ทั้งคอนเสิร์ต แข่งขันร้องเพลง เชียร์ลีดเดอร์ หรือการโฆษณาน้ำเมาเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติให้เด็กสาวหันมานิยมการดื่มมากขึ้น นี่ยังไม่รวมที่ธุรกิจน้ำเมาใช้เรือนร่างผู้หญิงอย่างสาวเชียร์เบียร์ ซึ่งตอนนี้แม้แต่ในร้านข้าวต้ม เทศกาลซุ้มอาหารต่างๆ ก็จะต้องมีสาวเชียร์เบียร์ด้วย” สุภาพร ทองสุข โครงการพัฒนาเป็นอนุกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อหนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริง อย่างงานกาชาดควรเป็นพื้นที่ปลอดสุราและเป็นงานที่ปลอดภัยต่อสตรีและเด็ก ชั่วโมงนี้เครือข่ายสตรีถิ่นอีสานยังคงติดตามผลจากข้อเรียกร้องเหล่านี้อย่างใกล้ชิด และให้น้ำหนักความสนใจไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ไม่เฉพาะในพื้นที่ 5 จังหวัดที่มีเครือข่ายอยู่
“เราประสานเครือข่ายกลุ่มพลังสตรีในพื้นที่ร้อยเอ็ด ศรีษะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และอำนาจเจริญ ให้ติดตามคำสั่งและนโยบายของมหาดไทยในการกำชับการปฏิบัติตามกฎหมายน้ำเมา เรื่องงานกาชาดปลอดสุรา แล้วก็สร้างความร่วมมือจากชาวบ้านให้พวกเขาร่วมแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดจากน้ำเมา เราให้กลุ่มเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมด้วย อยากให้เด็กได้ร่วมทำงานที่สร้างสรรค์สังคม เพราะตอนนี้นักดื่มหน้าใหม่ผุดเต็มเมือง” สุภาพรกล่าว
ด้านสาหร่าย เกี้ยวไธสง หนึ่งในคณะทำงานสตรีถิ่นอีสาน พื้นที่บุรีรัมย์ เปิดเผยว่า เราร่วมกันรณรงค์เทศกาลงานกาชาดจังหวัดบุรีรัมย์ให้ปลอดสุราและความรุนแรงต่อสตรี เด็กและเยาวชน เพราะงานระดับจังหวัดสองงานที่ผ่านมา ทั้งเทศกาลรับลมหนาวและงานบูชาพระพุทธสิหิงค์ งานเทศกาลอาหารปลอดภัย ซึ่งถือเป็นงานช้างของจังหวัดรับการสนับสนุนของบริษัทเบียร์ เมื่อมีความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในเรื่องงานกาชาด ที่แสดงเจตจำนงให้เป็นพื้นที่ปลอดน้ำเมา ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ได้รับทราบถึงความเคลื่อนไหวนี้ จึงเลื่อนงานกาชาดออกไปเป็นช่วงเดือนเมษายนนี้
คาดว่าจะจัดงานขึ้นก่อนเทศกาลสงกรานต์ เครือข่ายสตรีถิ่นอีสานฯ จึงจัดกิจกรรมยื่นจดหมายเปิดผนึกเรื่องเฝ้าระวังกลยุทธ์ธุรกิจแอลกอฮอล์ และเรียกร้องให้จัดงานโดยไม่รับสปอนเซอร์จากบริษัทเหล้า-เบียร์ ท้ายที่สุดผู้ว่าฯ ยินดีปฏิบัติตามกฎหมาย พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่จัดงานกาชาดปลอดเหล้า แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของเครือข่ายที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับกลุ่มธุรกิจน้ำเมาในพื้นที่ ช่วยสกัดนักดื่มหน้าใหม่ในบุรีรัมย์และเป็นแบบอย่างให้จังหวัดอื่นๆ ตระหนักถึงปัญหาธุรกิจน้ำเมา โดยเน้นให้จังหวัดมีบทบาทในการเฝ้าระวังใช้กฎหมายน้ำเมาอย่างจริงจัง ซึ่งจะช่วยลดปัญหานักดื่มหน้าใหม่และความรุนแรงในสังคม.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
Update:26-03-58
อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์