พลังพลเมืองเกรดเอ แบ่งปันพื้นที่เรียนรู้

พลังพลเมืองเกรดเอ แบ่งปันพื้นที่เรียนรู้ thaihealth


อาจเป็นเพราะ "พลเมือง" ไม่รู้ "หน้าที่" วิชา "หน้าที่พลเมือง" จึงกลับมาอีกครั้ง แต่การกลับมาครั้งหลังสุด  เป็นการกลับมาในสภาวะที่บริบททางสังคมไม่เหมือนเดิม  เพราะเด็กเรียนรู้โลกใหม่ของพวกเขาได้จากหลายช่องทาง


ขณะที่การเรียนรู้แบบ "ท่องจำ"ถูกปฏิเสธจากพลเมืองรุ่นใหม่…พวกเขาโหยหาแนวทางอื่นๆ โดยเฉพาะโหยหา "พื้นที่" ที่พวกเขาจะได้แสดงความสามารถและศักยภาพของตนเอง ดังนั้น ภายใต้บริบทใหม่… "การสร้างพลเมือง" รูปแบบจึงต้องไม่เหมือนเดิม


แค่แบ่งพื้นที่ให้เด็ก


บนพื้นที่เล็กๆ ณ ลานวัฒนธรรมนาคะวะรังค์ โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์  อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 19-20 กันยายน ที่ผ่านมา ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.สมุทรสงคราม ภายใต้โครงการ "พลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก" ที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มีการรวมตัวกันของเด็กๆ  กว่า 100 ชีวิต จากพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี สมุทรสงคราม กาญจนบุรี และเพชรบุรี…พวกเขามารวมตัวกันเพื่อแสดงพลังความสามารถของคนรุ่นใหม่หลังผ่านการเรียนรู้และมีส่วนร่วมทำงานกับชุมชนบ้านเกิด ซึ่งก่อนหน้าที่พวกเขาจะมารวมตัวกัน…พวกเขาถูกฝึก ถูกเติมเต็ม หรือแม้กระทั่งถูกปลุกจากอาการหลับใหล บางคนดำเนินชีวิตอย่างไร้ทิศทาง บางคนท่องอยู่ในโลกโซเชียลจนไม่สามารถสบตาผู้คนได้ในโลกของความเป็นจริง


แต่ในวันนั้น…เด็กๆ บางคนกล้าที่จะไปยืนพูดบนเวที…ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น "แค่จับไมค์ก็เหงื่อแตก" บางกลุ่มเคยเป็นเด็กเกเร เมื่อได้รับโอกาส พวกเขาก็หมั่นฝึกฝนทักษะด้านดนตรีจนสามารถเล่นเพลงได้หลายแนว และสามารถเรียกเสียงปรบมือจากคนทั้งห้องประชุม


วิกรม นันทวิโรจน์สิริ เยาวชนจากมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี  และจากโครงการการจัดการน้ำทิ้งในมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า  ตัวเองถูกพัฒนาให้มองอะไรรอบด้านมากขึ้น…รู้จักแก้ปัญหา  และรู้ว่าสำนึกพลเมืองไม่ได้เริ่มจากใครนอกจากที่ตัวเอง


สำหรับ "โบ๊ท" รณชัย พรมบุตร นักศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกกาญจนบุรี จากโครงการพัฒนาพลังพลเมืองเกรดเอ แบ่งปันพื้นที่เรียนรู้ thaihealthคุณภาพอาหารและโรงเรือนแพะโดยการมีส่วนร่วมของเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะใน ต.หนองหญ้า จ.กาญจนบุรี บอกว่า การเข้าร่วมในโครงการนี้ ทำให้มั่นใจว่าจะเอาตัวรอดในอาชีพเกษตรซึ่งเป็นฐานอาชีพของพ่อแม่ได้


"ถึงจบไปจะไม่มีงานทำ เราก็มีความรู้กลับไปทำไร่ ทำสวน หรือเลี้ยงสัตว์ที่บ้านเกิดได้  เพราะเราเคยลำบากมาก่อน พวกเรียนสายสามัญอาจจะเป๊ะ  แต่ภาคปฏิบัติผมมั่นใจว่าผมทำได้มากกว่า เพราะอึด….ถึก และ ทน" โบ๊ท  กล่าวอย่างมั่นใจพี่เลี้ยงต้อง "หนุน" แต่อย่า "นำ"


ปัญญา โตกทอง พี่เลี้ยงชุมชน กล่าวว่า โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมตะวันตก เปิดการปลูกจิตสำนึกรักบ้านเกิดให้แก่เด็กและเยาวชน ด้วยการเรียนรู้จากสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน นอกจากจะทำให้เด็กและเยาวชนรัก หวงแหน  และเห็นคุณค่าของทรัพยากรและภูมิปัญญาที่มีอยู่เดิมแล้ว  ยังทำให้เห็นความแตกต่างที่หลากหลายในระบบที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต


"พอเขาโตขึ้น รู้จักสังคม  รู้จักโลกมากขึ้น เขาจะเข้าใจความแตกต่าง ต้นไม้ในแต่ละท้องถิ่นมีไม่เหมือนกัน  ดูแลอย่างไร อาชีพในแต่ละชุมชนแตกต่างกันจะพัฒนาอย่างไร การพัฒนาแบบหนึ่งอาจจะใช้กับอีกที่หนึ่งไม่ได้ ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละที่  บทเรียนนี้จะสอนให้เขาเรียนรู้เรื่องการปรับตัว คิดได้  และคิดในมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น"


ขณะที่ ครูตูน กมลเนตร เกตุแก้ว โรงเรียนเทพมงคลรังสี พี่เลี้ยงชุมชนโครงการ ท.ษ.ยุคใหม่ใส่ใจการแยกขยะ กล่าวว่า บทบาทของครูตอนแรกที่มา คิดว่าเขาจะต้องทำตามที่เราคอนโทรล แต่พอมาทำจริงๆ เข้าใจเลยว่าโครงการต้องการให้เป็นโครงการพลังเด็ก คือ เรื่องของเด็กไม่ใช่เรื่องของครู ครูเป็นที่ปรึกษาเมื่อเขามีปัญหาเท่านั้น ตอนแรกก็หงุดหงิดว่า ทำไมไม่ถามครู ไม่คุยกับครู ทำไมให้มานั่งเฉยๆ แต่จริงๆ แล้ว ณ วันนี้ต้องบอกเลยว่าสิ่งที่โครงการทำดีมากๆ เพราะเด็กได้คิด ได้ลงมือทำ ได้แก้ปัญหาเอง คุณครูมีหน้าที่เพียงที่ปรึกษา เป็นพี่เลี้ยงคอยดูอยู่ห่างๆ ถ้าเขาไม่ไหวหรือต้องการคำแนะนำเขาจะมาหาเราเองแล้วเราก็ให้เขาคิดก่อน ถ้าคิดไม่ออก เราค่อยแนะ แต่ถ้าบอกเลยคงไม่ใช่ พอมาอบรมที่นี่ต้องการให้เขาคิดเองทำเอง เป็นเรื่องของเด็กจริงๆ


"สิ่งที่เห็นคือความรับผิดชอบที่เขามีมากขึ้น จากเดิมบางคนมี บางคนไม่มีเลย แต่พอมาร่วมกิจกรรมสิ่งแรกที่เห็นคือ มีความรับผิดชอบมากขึ้น  รับผิดชอบทั้งในด้านการเรียน จากเดิมที่งานเคยส่งบ้าง ไม่ส่งบ้างตอนนี้ก็ส่งครบ  รับผิดชอบต่อตนเอง รับผิดชอบต่อสังคม"


โครงการนี้ให้บทบาทเด็กเต็มๆ คุณครูเป็นเพียงส่วนเติมเต็มเล็กๆ น้อยๆ  เท่านั้น…สังเกตว่าทางโครงการจะไม่ถามอะไรครูมาก เหมือนให้ครูไปนั่งดู นั่งฟังอย่างเดียว เราก็รู้เลยว่าบทบาทของเรามันไม่เหมือนเดิม ก็ดูอยู่ห่างๆ  บางทีก็เข้าไปดูใกล้ๆ แต่ไม่พูดอะไรเลย เราสังเกตด้วยตัวเราเองว่ามันเป็นเรื่องของเด็ก ต้องบังคับตัวเองว่า เราต้องไม่เป็นผู้นำ เพราะว่าโครงการนี้เป็นโครงการของเด็ก เด็กคิดเด็กทำเด็กแก้ปัญหา เด็กทำสิ่งต่างๆ ดังนั้น ครูต้องไม่เป็นผู้นำ  แต่บทบาทพลังพลเมืองเกรดเอ แบ่งปันพื้นที่เรียนรู้ thaihealthของครูต้องเป็นผู้ที่ให้คำแนะนำ เมื่อเขามีปัญหา ครูแค่คอยสังเกต แต่ลดบทบาทลง เพื่อให้เขามีความเป็นผู้นำมากขึ้น สำหรับครูมันเป็นความยากที่ทำอย่างไร  จะพูดอย่างไรให้นักเรียนมีความสำนึกเป็นพลเมืองมากขึ้น มีความรับผิดชอบ กล้าแสดงออก  หรือไอเดียความคิดต่างๆ มากขึ้น โดยที่ไม่ใช่จากปากคุณครู


ต้องเชื่อมั่นในตัวเด็ก


ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (สกว.) จ.สมุทรสงคราม ในฐานะผู้บริหารโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก และเป็น "ผู้ใหญ่ใจดี" ที่มองว่า ในตัวเด็กมียักษ์ซ่อนอยู่…แต่ยักษ์เหล่านั้นกำลังหลับใหล เพียงแต่ยังไม่มีใครกล้าปลุกขึ้นมาเท่านั้น


"เพราะเราเชื่อว่า เด็กทุกคนพัฒนาได้ แต่กระบวนการพัฒนาที่ผ่านมายังไม่ถูกจริตของเด็กๆ เพราะเราเอาเด็กไปเรียนรู้เรื่องราวไกลตัวของพวกเขามากเกินไป การเรียนรู้จึงไม่สนุก ดังนั้นโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก จึงเป็น "เครื่องมือ" ที่ดึงให้เด็กได้มาเรียนรู้ท้องถิ่น ให้เด็กรุ่นใหม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลง และรู้ว่าเขาจะอยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร"


และเมื่อเด็ก "เข้าใจ" การเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้น ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ เด็กก็จะเข้าใจและสามารถยับยั้งการเปลี่ยนแปลงได้ หรือรู้จักดึงฐานทรัพยากร ภูมิปัญญา วัฒนธรรมเดิมกลับมารับใช้ในการเปลี่ยนแปลงได้…"เพราะฉะนั้นเด็กต้องรู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้ความรับผิดชอบที่ตัวเองควรจะมีต่อสังคม ไม่ใช่สังคมเป็นอย่างไรไม่รู้ ตัวเองเอาตัวรอดอย่างเดียว เพราะถ้าสังคมสิ่งแวดล้อมไปไม่รอด เขาก็จะอยู่ไม่ได้เช่นกัน"


1 ปี เท่ากับ 12 ปี


ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา จากคณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุชัดบนเวทีเสวนาว่า "1 ปีของการทำงานของเด็กกลุ่มนี้ เท่ากับ 12 ปีของการเรียนในระบบการศึกษา"


"เท่าที่เดินพูดคุยกับเด็กๆ เห็นชัดว่าเด็กๆ มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เราเสียเวลากับการเรียนการสอนในระบบถึง  12 ปี แต่ไม่สามารถสร้างให้เด็กได้ใช้ชีวิตอย่างมีจุดหมาย คิดเป็น และมีความอ่อนน้อมถ่อมตน แบบเด็กกลุ่มนี้ได้เลย นี่คือความลงตัวที่ชุมชนขัดเกลา นี่คือโมเดลที่ทำให้เด็กเป็นแกนกลางได้จริง อันนี้เป็นก้าวสำคัญเรื่องการศึกษา  ตอนนี้โมเดลของกระทรวงศึกษาธิการได้มีนโยบายลดเวลาเรียนให้น้อยลง ให้โรงเรียนเลิกบ่ายสองโมง ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างการเรียนรู้ให้แก่เยาวชนในลักษณะนี้ได้"


ตลอดระยะเวลาสองวันของมหกรรมแห่งการเรียน


"ปลุกพลังเยาวชนชูวิถีคนตะวันตก" ความยินดีมิได้รู้ เกิดขึ้นเฉพาะกับเด็กๆ และผู้ให้การสนับสนุน…แต่พลังแห่งความยินดียังถูกส่งต่อไปยังผู้คน ที่ผ่านไปมา


นี่คือตัวอย่างของจังหวัด และภูมิภาคตะวันตก ที่ได้ริเริ่มสร้างพลเมืองคุณภาพของจังหวัดตนเอง  โดยการร่วมกันของพลเมืองผู้ใหญ่จากภาคส่วนต่างๆ ทั้งท้องถิ่น ภาครัฐ ประชาสังคม ประชาชน โดยมีพี่เลี้ยง (Coach) เป็นกลไกสำคัญในการเปิดพื้นที่และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ใช้ศักยภาพของตนเองในการร่วมแก้ปัญหาจากโจทย์จริงของชุมชน  เกิดทักษะ และสำนึกพลเมือง โดยมีครู ผู้ปกครอง หรือผู้นำชุมชน ร่วมกันสนับสนุน.


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก โดย มูลนิธิสยามกัมมาจล


ภาพประกอบจากเว็บไซต์คมชัดลึก

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ