‘พลังผ้าขาวม้า’ ฟื้นฟูผู้สูงอายุ

ที่มา : มติชน


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


'พลังผ้าขาวม้า' ฟื้นฟูผู้สูงอายุ thaihealth


'พลังผ้าขาวม้า' ฟื้นฟูผู้สูงอายุ ผลงาน มรภ.บุรีรัมย์ บนเวที 'พัฒนาชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่'


สถาบันวิชาการเพื่อความร่วมมือ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ 5 แห่ง และ อปท. คู่ความร่วมมือ จัดกิจกรรมเพื่อนำเสนองานวิจัยเชิงพื้นที่โดยสถาบันวิชาการคู่ความร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่น ภายใต้ชุดโครงการวิจัยและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ โดยเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และ อปท.คู่ความร่วมมือ มี นายธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานบริหารแผน สสส. นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วม ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี


ดำเนินการขับเคลื่อนงานเชิงพื้นที่ (Area Based) เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ภายใต้แนวคิด "มหาวิทยาลัยคู่ความร่วมมือของชุมชนท้องถิ่น" ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นตาม พระบรมราโชวาท ระยะ 20 ปี โดยน้อมนำพระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) "ต้องวิเคราะห์และรับทราบปัญหาและความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นด้วย เมื่อตกลงกันแล้วให้นำยุทธศาสตร์ใหม่มาพัฒนาใช้และให้ปรับให้เหมาะสมตามสภาพและประเพณีท้องถิ่น" โดยกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานไว้ 4 ด้าน คือด้านการพัฒนาท้องถิ่น ด้านการผลิตและพัฒนาครู ด้านการยกระดับคุณภาพการศึกษา และด้านการพัฒนาระบบบริหารจัดการและเชื่อมโยงแนวคิดงานพันธกิจสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยกับสังคม (Engagement University) มุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อท้องถิ่น สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม สนับสนุนกระบวนการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาและยกระดับ และสนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือตามบริบทของแต่ละมหาวิทยาลัย


การดำเนินงานทำให้แต่ละมหาวิทยาลัยมีโอกาสพัฒนาระบบบริหารงานวิจัยและพัฒนาวิชาการเพื่อชุมชนท้องถิ่น โดยออกแบบการดำเนินงานผ่านกลไกเชิงระบบของสองหน่วยงาน คือสถาบันวิจัยและพัฒนา (สวพ.) ที่เป็นกลไกหลักของมหาวิทยาลัย กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เป็นกลไกหลักในพื้นที่ โดยใช้งานวิจัยเป็นฐานภายใต้พันธกิจ นโยบาย ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญของหน่วยงาน ดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น โดยมีเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ 5 แห่ง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นคู่ความร่วมมือ 210 แห่ง


'พลังผ้าขาวม้า' ฟื้นฟูผู้สูงอายุ thaihealth


สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย เวทีสร้างความรู้ ความเข้าใจ สถาบันความร่วมมือ ชุมชนท้องถิ่น สสส. การนำเสนองานวิจัยเชิงพื้นที่ แบ่งเป็น 5 ประเด็น คือประเด็นเศรษฐกิจชุมชน อาหารปลอดภัย การดูแลสุขภาพ การจัดการขยะ และการพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งประเด็นเศรษฐกิจชุมชนนั้น หัวข้อการเสริมสร้างสุขภาพทางกาย โดยกิจกรรมการออกกำลังกายด้วยผ้าขาวม้าในผู้สูงอายุ จากการดำเนินการศึกษาในเขตพื้นที่ ต.บ้านยาง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ นับว่าตอบโจทย์ในเชิงพื้นที่ เพราะนอกจากผู้สูงอายุจะร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังสามารถนำผ้าขาวม้ามาต่อยอดทางเศรษฐกิจในชุมชนได้อีก


อ.คคนางค์ ช่อชู ผู้นำเสนอผลงานจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เปิดเผยว่า งานวิจัยนี้โจทย์ใหญ่ของเราคือวิถีวัฒนธรรมอีสาน ผ้าขาวม้าคือความเป็นตัวตนคนอีสาน เพราะทุกครอบครัวต้องมี และมีความสำคัญตั้งแต่เกิดจนตาย เราจึงหยิบโจทย์นี้มาใช้เพราะอยู่ใกล้ตัว มันพาดอยู่บนบ่าของชาวบ้านอยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ชอบใช้ จึงจับเอามาออกกำลังกายในท่วงท่าที่เราฝึกให้ สามารถทำได้ที่บ้าน และในปัจจุบันสังคมผู้สูงอายุหลายคนชอบเต้น ชอบร้องรำ ถ้าต้องเต้นโดยใช้อุปกรณ์คือผ้าขาวม้าจะทำให้เขาไม่เคอะเขิน นี่คือที่มาที่ไป ส่วนวิถีของหมู่บ้านที่เราลงพื้นที่ คือ บ้านดอนต้อม ต.บ้านยาง อ.พุทไธสง เป็นหมู่บ้านทอผ้า เป็นชุมชนผลิตผ้าที่สำคัญของบุรีรัมย์ ผ้าขาวม้าจึงเป็นเรื่องใกล้ตัว ไม่ต้องลงทุนอะไร แต่ในเชิงวิชาการเราต้องศึกษาว่ามีประโยชน์อย่างไร ทำให้กล้ามเนื้อยืดหยุ่นจริงมั้ย ต้องใช้เวลาทดลอง ซึ่งผลการวิจัยพิสูจน์แล้วว่า การออกกำลังกายด้วยผ้าขาวม้าในผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุมีสมรรถภาพทางกายดีขึ้น โดยเฉพาะความดันโลหิต ความอ่อนตัว ความแข็งแรง และความอดทนของกล้ามเนื้อขาดีขึ้น ดังนั้นจึงควรนำรูปแบบการออกกำลังกายด้วยผ้าขาวม้ามาใช้ในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ


"ส่วนการต่อยอดในพื้นที่ คือจะให้ผู้สูงอายุนำการออกกำลังกายด้วยผ้าขาวม้านี้มาเป็นส่วนช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่ ด้วยการจัดการแสดงด้วยผ้าขาวม้ามาร่วมต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วย และจะเป็นการทำให้การค้าขายผ้าขาวม้าดีขึ้น นำรายได้เข้าสู่ชุมชน และตามที่ได้คุยกับทาง อบต.บ้านยางนั้น ก็จะเข้ามาสานต่อและนำไปใช้ในกิจกรรมของโรงเรียนผู้สูงอายุได้" อ.คคนางค์กล่าว


ด้านนายสมพร ใช้บางยาง กล่าวว่า เป้าหมายของเราคือการร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นให้เป็นชุมชนที่น่าอยู่ เข้มแข็ง อย่างการทำวิจัยร่วมกันในครั้งนี้ เราต้องการนำเอาการศึกษาหนุนชุมชนให้เข้มแข็งเพื่อเป็นรากฐานของประเทศ ทำให้พี่น้องมีความสุข


ซึ่งในอนาคตข้างหน้าอยากเห็นมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นผู้นำร่องให้ชุมชนและท้องถิ่นได้ร่วมมือกัน เชื่อมโยงกัน และอยู่ร่วมกัน สิ่งที่อยากจะฝากเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายคือ การดำเนินงานต่อไป แม้จะเสร็จสิ้นการทำวิจัยแล้ว ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏคือมหาวิทยาลัยของท้องถิ่น จะมีวิสัยทัศน์ในการทำเพื่อชุมชน และยังรวมทั้งมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ต้องมีจิตสำนึกเพื่อชุมชนเช่นเดียวกัน เชื่อว่าจากผลสรุปต่างๆ จะนำไปประมวลผลเพื่อปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ในวันข้างหน้า

Shares:
QR Code :
QR Code