พลังผู้สูงวัย กับพลังผัก
ป้าพิศและป้าน้อง สมาชิกโครงการสวนผักอ่าวอุดมพิทักษ์ใจ จิตอาสาที่ช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวช ด้วยกิจกรรมการปลูกผัก
เมื่อพูดถึงผู้สูงอายุ หลายคนอาจนึกถึงภาระ ความจู่จี้ขี้บ่น ความขี้หลงขี้ลืม หรือบางคนก็อาจนึกถึงความซึมเศร้าหดหู่ เมื่อไปค้นดูรายงานการศึกษาก็พบว่า ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปเลยทีเดียวที่มีอาการของภาวะซึมเศร้า แต่ทุกครั้งที่มีโอกาสได้เจอกับป้าชวนพิศ ประสม หรือป้าพิศ และป้าขวัญแก้ว คงเรือง หรือป้าน้อง จิตอาสาโรงพยาบาลอ่าวอุดม หรือที่เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลแหลมฉบังตอนนี้ ก็อดรู้สึกประทับใจไม่ได้ทั้งในพลังที่อยู่ในตัวของคุณป้าทั้งสอง ทั้งความเสียสละ และความรู้ภูมิปัญญาต่างๆที่คุณป้ามี
ได้มีโอกาสเจอป้าพิศและป้าน้องครั้งแรก ที่หน้าห้องคลินิกผู้ป่วยจิตเวช ตอนนั้นคุณป้ายืนอยู่หน้าห้องพร้อมกับโต๊ะที่มีกระเช้าใส่แก้วปลูกผักเล็กๆหลายต้น มีหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพและการปลูกผักวางอยู่บนโต๊ะหลายเล่ม คอยพูดคุยสนทนากับทั้งผู้ป่วย และญาติผู้ป่วยที่นั่งรอพบหมออยู่หน้าห้อง ใครสนใจปลูกอะไร มีข้อสงสัยตรงไหน ป้าพิศกับป้าน้องช่วยกันตอบอย่างเต็มอกเต็มใจ
ตอนนั้นป้าพิศและป้าน้องเป็นสมาชิกโครงการสวนผักอ่าวอุดมพิทักษ์ใจ โดยทำโครงการร่วมกับหมอจิ๊บ หรือญาดา จำนงค์ทอง ด้วยความหวังอยากให้ผู้ป่วยจิตเวชได้มีกิจกรรมปลูกผักทำ อยากใช้สวนผักช่วยบำบัดผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งทั้งต้นกล้า เมล็ดพันธุ์ และความรู้จากป้าทั้งสอง ก็มีโอกาสได้ไปเติบโต งอกงาม ให้พลังชีวิต และช่วยเยียวยาผู้ป่วยทั้งจิตเวช และผู้ป่วยติดยาเสพติดจำนวนไม่น้อย เรียกว่าแทบทุกครั้งที่หมอจิ๊บจัดกระบวนการสวนผักบำบัดให้ผู้ป่วย คุณป้าทั้ง 2 คนนี้ก็จะเป็นกำลังสำคัญทั้งให้ความรู้ แบ่งปันประสบการณ์ หรือบางครั้งก็ทำอาหารแสนอร่อยที่ปรุงจากผักในสวนให้ได้กินกัน
ป้าพิศบอกว่า ตอนนี้ไม่เพียงผู้ป่วยจิตเวชเท่านั้น มีคนไข้มะเร็งคนไหนเครียดๆ กลัวกับการรักษา คุณหมอก็มักจะส่งมาที่ป้าพิศ ป้าพิศบอกว่าเราก็คุยกับเขา บอกว่าอย่าไปกลัว ก็แค่ “มา-เล็ง” ยังไม่ได้ “มา-ยิง” แล้วก็บอกให้เอาต้นปูเล่ไปปลูก ให้เขาลืมที่เขาป่วย“เราบอกเขาว่าให้ไปปลูกปูเล่นะ ถ้าคอยดูแล ถ้าปูเล่ตาย เราก็ตาย ปรากฏว่าตอนนี้คนไข้คนนี้กลับมาเล่าให้ฟังว่า ต้นปูเล่งามมาก เค้าไม่ตายแล้ว”
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า บางครั้งแค่การปลูกผักเพียง 1 ต้นก็เปลี่ยนชีวิตคนได้ ที่สำคัญ ป้าพิศไม่ได้ใช้เรื่องการปลูกผักมาช่วยบำบัดชีวิตคนป่วยเท่านั้น แต่กับลูกชายในบ้านตัวเอง ป้าพิศก็ใช้วิธีนี้เหมือนกัน
ป้าพิศเล่าให้ฟังว่าลูกชายเคยเครียดมากขนาดจะกระโดดน้ำตาย ด้วยความที่มีปัญหาครอบครัว “ตอนนั้นเขาโทรมาบอกว่าจะกระโดดน้ำตายแล้วนะ เราก็บอกว่ากระโดดเลย แต่เอาให้ตายนะ อย่าให้เป็นภาระ ปรากฏว่าเขาไม่กระโดด กลับมาหาที่บ้าน เราก็เลยชวนให้เขาลองปลูกผัก ให้เขาเริ่มทำเล็กๆจากพื้นที่ใกล้บ้าน เพราะเขาไม่เคยทำมาเลย จนตอนนี้ชีวิตดีขึ้น เริ่มไปทำสวนผักในที่ที่มีอยู่ แล้วก็เก็บผักที่เหลือจากกินมาขายที่ตลาดสีเขียวของโรงพยาบาล”
ส่วนตัวป้าพิศเอง ตอนช่วงที่รู้สึกเครียดๆ ป้าพิศก็จะออกไปทำสวน อยู่กับต้นไม้ พูดกับต้นไม้ “เวลาทำงานในสวน ก็ลืมๆเรื่องที่ตัวเองเครียดๆไปโดยไม่รู้ตัว พอเดินเข้าบ้านก็รู้สึกปลอดโปร่ง” ป้าพิศกล่าว
ส่วนป้าน้อง คู่หูคนสำคัญของป้าพิศ นอกจากจะเป็นจิตอาสาเป็นกำลังสำคัญที่อยู่เคียงข้างป้าพิศแล้ว ป้าน้องก็ใช้เรื่องการปลูกผักทำสวนไปเลี้ยงลูกหลานในครอบครัวด้วย ป้าน้องเล่าให้ฟังว่าปกติหลานๆมักจะอยู่แต่ในห้อง เล่นเกมส์ ไม่สนใจใคร เราเลยชวนให้มาช่วยกันปลูกผัก โรยเมล็ด รดน้ำ เขาก็เริ่มสนใจ ออกมาทำกิจกรรม อยู่กับคนอื่นมากขึ้น
“ตอนให้เขาใช้ไม้เสียบลูกชิ้นแยกต้นกล้า พอเขาเขี่ยติดขึ้นมา 2 ต้น เขาก็จะทิ้งไปต้นนึง เราก็บอกว่าไม่ได้นะ เราต้องทะนุถนอมเขา ไม่ให้เขาเจ็บ ตอนใช้ไม้ก็ให้ใช้เบาๆ เราให้เขาลองจิ้มไม้กับตัวเองดู แล้วบอกว่าต้นไม้ก็รู้สึกแบบนี้เหมือนกัน จนตอนนี้ไม่ยอมใช้ไม้เลย ใช้มือตัวเองค่อยๆแงะออกมา แล้วก็มาคอยดูแลรดน้ำอย่างดี เอาไม้บรรทัดมาวัดทุกวัน ดูการเติบโตของผัก” ป้าน้องเล่าด้วยรอยยิ้ม
แถมป้าน้องยังบอกอีกว่า ทั้งลูกทั้งหลาน เคยอยู่กรุงเทพมาก่อน กินผักกันไม่ค่อยเป็น หลานนี่ก็แทบไม่กินเลย พอมาช่วยปลูกผัก มีผักสดๆที่ตัดจากข้างบ้านกิน ตอนนี้กินผักกันทุกคน
“เวลากินป้าน้องก็จะให้หลานลองดมก่อน ให้ทายว่ามีอะไรบ้าง แล้วเวลากินผักก็จะบอกเขาว่าอย่าเคี้ยวแรงนะ ให้ค่อยๆเคี้ยว ไม่งั้นผักจะเจ็บ แล้วเขาจะไม่ให้รสชาติเรา”
ยังไม่นับเรื่องราวของลุงเขียวบ้านใกล้เรือนเคียง ที่ป้าพิศเเละป้าน้องเเบ่งปันเมล็ดพันธุ์ ชักชวนให้ปลูกผัก จนจากที่ร่างกายไม่เเข็งเเรง เดินไม่ค่อยได้ ตอนนี้กลายเป็นคนเเข็งเเรง เดินเหินได้คล่อง เเถมยังมีผักที่เหลือจากกินที่บ้าน ฝากไปขายที่ตลาดสีเขียวโรงพยาบาลด้วย
นี่เป็นเรื่องราว ประสบการณ์บางส่วนที่ได้มีโอกาสพบปะพูดคุย และเรียนรู้จากคุณป้าผู้สูงวัยทั้งสอง เป็นเรื่องราวของพลังผักที่เกี่ยวข้องกับพลังชีวิตที่เกิดขึ้น และได้รับการถ่ายทอด ส่งต่อจากคนทั้งสองนี้ไปยังผู้อื่นด้วยความเต็มใจ เป็นพลังจากผู้สูงอายุที่ไม่โรยรา และช่วยทำให้หลายชีวิตเปลี่ยนแปลงอย่างน่าประทับใจ เลยอดไม่ได้ที่จะไม่เก็บมาเล่าสู่กันฟัง เผื่อจะเป็นพลังและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นที่ได้อ่านนำไปประยุกต์ใช้และส่งพลังดีๆที่ได้จากผักสู่ผู้อื่นต่อไป
ที่มา: เว็บไซต์สวนผักคนเมือง
ภาพประกอบจากเว็บไซต์สวนผักคนเมือง