‘พลังต้นทุนชีวิต’เพื่อเยาวชนแห่งอนาคต
ไม่มีใครปฏิเสธความสำคัญของการศึกษา แต่ในยุคที่การศึกษาในบ้านเราเริ่มหลงทิศทางไปกับการให้คุณค่าใน ตัวเด็ก จากคะแนน จากสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง และจาก ความสามารถในการต่อสู้เพื่อให้มี “ที่นั่ง” ในสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ ทำให้หลายๆ ฝ่ายหลงลืมไปว่า อันที่จริงแล้ว การพัฒนาเด็ก และเยาวชนสู่อนาคต มิใช่การพัฒนาเพียงแค่ด้านการศึกษาหาความรู้ แต่การส่งเสริม “พลังต้นทุนชีวิต” ของเด็กให้สมบูรณ์แบบ คือ อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ควรส่งเสริม ไปควบคู่กับการสร้างมาตรฐานการศึกษาที่ดี
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการหน่วยสนับสนุนงานวิชาการด้านเด็ก และเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกร่วมกันจัดงาน “เวทีเปลี่ยนการศึกษา เพื่อเด็กและเยาวชน” เพื่อเปิดมุมมอง และนำเสนอแนวทางการศึกษาที่มุ่งการสร้างการเพิ่มต้นทุนชีวิต และคุณภาพให้กับเด็ก และเยาวชน
แบบแผนการดำเนินงานดังกล่าว มุ่งหวังในการเสริมสร้างคุณธรรม และจริยธรรม ซึ่งจะเป็นเกราะคุ้มกับเด็กๆ ให้เติบโตอย่างแข็งแรง และมีคุณภาพต่อไปในอนาคต ซึ่งปัจจัยสำคัญที่สุดในการหล่อหลอมเกราะแห่งคุณธรรม คือการสร้างความรัก และความอบอุ่นภายในครอบครัว
จากสถิติเยาวชนในสถานพินิจที่ทำความผิด และก่อคดีอาชญากรรมต่างๆ บ่อยครั้งที่เรามักพบว่า เด็กๆ เหล่านี้เติบโตมาจากครอบครัวที่มีความแตกแยก ยิ่งไปกว่านั้น เด็กๆ บางกลุ่ม จัดได้ว่าเป็นเด็กที่ครอบครัวมีฐานะค่อนข้างดี และตัวเด็กเองนั้นก็มีระดับสติปัญญายอดเยี่ยม แต่ขาดภูมิคุ้มกันทางจิตใจ เนื่องจากขาดการดูแลเอาใจใส่ และขาดความรักจากคนในครอบครัว
ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นอกจากครอบครัวจะเข้ามามีส่วนในการสร้างพลังต้นทุนชีวิตแล้ว ชุมชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษา และจัดกิจกรรม เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความพร้อมที่จะเผชิญกับสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างเข้มแข็ง
อาจารย์ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก กล่าวว่า คณะกรรมการผู้จัดกิจกรรมได้นำรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กในยุคนี้ที่หลากหลายมาถอดแบบเป็นบทเรียนแห่งความสำเร็จร่วมกัน โดยมีทั้งกลุ่มเด็กในระบบ และกลุ่มเด็ก การศึกษาทางเลือก
โดยเริ่มจากการร่วมกันทำฐานข้อมูลต้นทุนชีวิตของเด็กกลุ่มการศึกษาในระบบ กลุ่มเด็กที่มีความสามารถพิเศษทางวิชาการ และกลุ่มการศึกษาทางเลือก ซึ่งต้นทุนชีวิต เป็นปัจจัยสร้างที่ รวมเอาทั้งทักษะชีวิต และจิตสำนึกทั้งในตัวตนของเด็ก และเยาวชน รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กและเยาวชนที่มีอิทธิพลต่อ การดำเนินชีวิต ได้แก่ ครอบครัว กระบวนการสร้างปัญญา ชุมชนและเพื่อน
นายแพทย์ สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว กล่าวว่า “ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้กับเด็ก และเยาวชนของเรา ผ่านกระบวนการเสริมสร้างต้นทุนชีวิต เด็กทุกคนมีศักยภาพ การสร้างเกราะป้องกัน หรือสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงให้กับเด็กและเยาวชน ไม่ได้มองแค่เพียงพฤติกรรมภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังมองถึงพฤติกรรมภายในสร้างจิตสำนึกที่ดี ให้เกิดขึ้นกับสังคมอีกด้วย” และนี่ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต และยกระดับจิตใจให้กับเยาวชนไทยที่กำลังจะเติบโตขึ้นไปเป็นพลัง และเป็นอนาคตของชาติในวันข้างหน้า
โดยความเชื่อที่ว่าการที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสติปัญญาอย่างเดียว ต้นทุนชีวิตด้านอื่นๆ นั้นก็เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่ต้องเดินเคียงคู่กับต้นทุนด้านสติปัญญาด้วยเช่นกัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบโดย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล