‘พลังชุมชน’ สร้างพลังงานทางเลือก

ที่มา : เว็บไซต์สุขภาวะชุมชน


ภาพประกอบจากเว็บไซต์สุขภาวะชุมชน


‘พลังชุมชน’ สร้างพลังงานทางเลือก  thaihealth


ตั้งแต่ลืมตาตื่นจนกระทั่งเข้านอน เราทุกคนล้วนต้องใช้พลังงาน ใช้ไฟฟ้าเพราะต้องการแสงสว่าง ชาร์จแบตเตอรี่ให้สมาร์ทโฟน  รถยนต์จะขับเคลื่อนได้ก็ต้องใช้น้ำมัน ฯลฯ


แหล่งพลังงานมีสองประเภท คือใช้แล้วหมดไป และพลังงานทางเลือก เช่น ลม แสงอาทิตย์ ปัจจุบันแหล่งพลังงานหลักที่ใช้กันทั่วโลกคือน้ำมัน ซึ่งคาดการณ์กันว่าจะมีปริมาณสำรองใช้ได้อีกระยะหนึ่ง


ดังที่ รศ.ดร.บุญยัง ปลั่งกลาง ศูนย์วิจัยระบบพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวในในการเสวนาเรื่อง “พลังงานชุมชน สร้างอนาคตพลังงานไทยอย่างยั่งยืน” ภายในงาน “สานพลังชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ครั้งที่ 2 ประจำปี 2561 ซึ่งจัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) เละครือข่าย ร่วม เมื่อเร็วๆ นี้


การบริโภคพลังงานของโลกเพิ่มขึ้นทุกปี โดยทุก 30 ปีเพิ่มเป็นเท่าตัว หากค้นพบพลังงานเพิ่มได้ 10 เท่า  แต่ยังบริโภคเหมือนเดิม เราจะมีใช้ได้อีก 100 ปี


ปี 2559 ประเทศไทยใช้ไฟฟ้าสูงสุดวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 คิดเป็น 3 หมื่นเมกะวัตต์ ขณะที่ผลิตได้ 4 หมื่นเมกะวัตต์ จะเห็นว่ามีส่วนต่างไม่มากนัก


จึงไม่น่าแปลกใจที่หน่วยงานภาครัฐ มีโครงการที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ๆ ขึ้น ทว่า ภาคประชาสังคมไม่เห็นด้วย เพราะมีความเห็นว่าเราสามารถหาพลังงานทางเลือกอื่นๆ มาทดแทนได้บางส่วน


ดังเช่น  โรงพยาบาลจะนะ ที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ และแปลงแสงแดดมาใช้ทดแทนไฟฟ้าบางส่วนในช่วงกลางวัน


รพ.จะนะ แปลงแสงอาทิตย์เป็นไฟฟ้า


นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า โรงพยาบาลจะนะเพิ่งติดตั้งแผงโซลาร์ 68 แผ่น (ผลิตไฟฟ้าได้ 20 กิโลวัตต์) 3-4 เดือนก่อน มีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งครั้งแรกประมาณ 8 แสนบาท (ไม่รวมค่าแรง) และคาดว่าจะคุ้มทุนภายใน 6 ปี


หลังการติดตั้งทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการใช้ไฟฟ้าลง 3.5 หมื่นบาท เดือนที่สองประหยัดได้ 5.4 หมื่นบาท โดยมาจากสามมาตรการหลายส่วนคือ ติดแผงโซลาร์เซลล์ เปลี่ยนแอร์บางตัว เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟประหยัดพลังงาน และสลับการใช้เครื่องมือแพทย์ ไม่ให้ทำงานพร้อมกัน


หลักการคือแผงโซลาร์บนหลังคารับแสงแดด แล้วเข้าเครื่องแปลงไฟ (อินเวอร์เตอร์) ผสมไฟจากแผงโซลาร์กับไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค วันไหนเมฆมาก ไฟจากการไฟฟ้าเข้าเครื่องอินเวอร์เตอร์มาก วันไหนแสงแดดมาก เราผลิตพลังงานได้เยอะ ไฟจากการไฟฟ้าเข้ามาน้อย


“โรงพยาบาลใช้ไฟฟ้าสูงสุดช่วงสิบโมงกับบ่ายโมง ตอนเที่ยงใช้น้อยเพราะปิดแอร์ ผู้อำนวยการบังคับให้ปิด ทำให้เห็นว่ากลางวันเราใช้ไฟเยอะ สิ่งที่ควรทำถ้าติดโซลาร์รูฟกลางวัน จะตัดปริมาณการใช้ไฟลงมา เพราะใช้แสงอาทิตย์ช่วย …เวลามีแสงแดดน้อย ตัวแปลงไฟจะใช้ไฟหลวงเยอะ ไม่ต้องห่วงไฟตก ดับ  โรงพยาบาลไฟฟ้าดับไม่ได้ เพราะห้องฉุกเฉิน ห้องคลอดมีเจ้าหน้าที่ทำงาน 24 ชั่วโมง เพราะฉะนั้น ระบบมั่นคง


“ลูกน้องบอกเมื่อก่อนหมอให้ประหยัดไฟปิดแอร์ เดี๋ยวนี้ไม่ต้อง เขาประหยัดเองโดยอัตโนมัติ  เพราะผลิตเอง สิ่งที่อยากบอกทุกท่านคือ อยากให้ลองๆ แสงอาทิตย์มีความมหัศจรรย์มากจริงๆ ก่อนหน้านี้เราคิดแต่ประหยัดไฟ กดดันกันเองในโรงพยาบาล ไม่เปิดแอร์ พิสูจน์ว่าไม่ได้ผล โลกมันร้อน ทำงานกันไม่ไหว พอเราเปลี่ยนวิธีคิด เมื่อประหยัดไม่ไหวก็หาวิธีสร้างพลังงาน ติดแผงโซลาร์ดีกว่า” นพ.สุภัทร กล่าว


‘พลังชุมชน’ สร้างพลังงานทางเลือก  thaihealth


จากเศษไม้ไผ่เหลือทิ้ง เป็นถ่านอัดแท่ง


ขณะที่องค์การบริหารส่วนตำบลตงเปา (อบต.ตงเปา) อ.งาว จ.ลำปาง มีปัญหาที่ต่างออกไป


โดยสภาพชุมชน อยู่ติดกับป่าไผ่มีพื้นที่ 5,000 ไร่ เป็นป่าชุมชนต้นแบบ ชาวบ้านดูแลกันเอง และตัดมาใช้สอย


ในพื้นที่มีโรงงานแปรรูปจากไม้ไผ่ 10 แห่ง ทำเป็นตะเกียบ ไม่จิ้มฟัน ไม้ปิ้งปลาดุก แปรรูปได้ 150 ลำ/โรง/วัน หรือ 1,800 กก./โรง/วัน โดย และเหลือเศษทิ้งจำนวนมาก ที่ผ่านมาชาวบ้านกำจัดเศษไม้เหลือทิ้งด้วยการเผา ทำให้เกิดฝุ่นควัน มีกาซอันตราย เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ และไนโตรเจนไดออกไซด์ และวกกลับมาที่คนในชุมชนเองคือ มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ อบต.จึงร่วมกับชุมชนหาแนวทางแก้ไข มีมติเห็นว่าควรมีการจัดการพลังงานแทนการเผาทิ้ง ได้ข้อสรุปว่าทำเป็น ถ่านอัดแท่ง


ปิยะสันต์ ปัญจขันธ์ วิศวกรโยธา อบต.ตงเปา กล่าวว่า ในพื้นที่มีโรงงาน 10 แห่ง โดยช่วงที่แปรรูปสูงสุดโรงงานใช้ไม้ไผ่แห่งละ 150 ลำ (ลำหนึ่งๆ ยาว 12 เมตร)  โดยไม้ไผ่ที่นำมาแปรรูปมีส่วนที่ใช้ประโยชน์เพียง 12 เปอร์เซ็นต์ อีก 88 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นข้อและเศษไม้เหลือทิ้ง และว่า เมื่อก่อนชาวบ้านแอบเผาทิ้งตอนกลางคืน เกิดปัญหาหมอกควัน สุดท้ายส่งผลกระทบต่อเขาเอง สูดดมเข้าไป ชาวบ้านมีปัญหาระบบทางเดินหายใจตั้งแต่ปี 2554 ก่อนหน้านี้ทางอบต.มีโครงการทำระบบไฟฟ้าชีวมวล โดยทำประชาคมหมู่บ้าน 13 แห่งแล้ว ชาวบ้านเห็นด้วย แต่ต่อมารัฐบาลเปลี่ยนโยบาย ทาง อบต.จึงต้องหาแนวทางใหม่


โดยปรึกษากับมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยพะเยา และสำนักงานพลังงานจังหวัดลำปาง เกิดเป็นโครงการถ่านอัดแท่งจากไม้ไผ่ เพื่อแก้ปัญหาเศษไม้ไผ่เหลือทิ้ง ทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย


สมาชิกที่เข้าร่วมกลุ่มทำถ่านอัดแท่งจากไม้ไผ่ สามารถยืมอุปกรณ์ไปใช้ โดยมีเงื่อนไขว่าทุก  1 เดือนต้องส่งผงถ่านให้กลุ่ม 100 กก. และกลุ่มรับซื้อในราคา กก. 3 บาท


จากโครงการดังกล่าวทำให้การเผาเศษไม้ไผ่ในชุมชนลดลง เพราะตอนนี้เศษไม้ไผ่ไม่ใช่เศษขยะอีกต่อไป หากแต่เป็นวัตถุดิบสำหรับนำมาผลิตถ่าน รายที่ไม่ทำถ่านก็ขายเป็นเศษไม้ มีผู้รับซื้อ กก.ละ 50 สตางค์


ปัจจุบันมีการเผาถ่านจากเศษไม้ไผ่เหลือใช้ประมาณ 15 ตัน/วัน ผลิตเป็นถ่านได้ 700  กก./วัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด แต่โดยศักยภาพของอุปกรณ์ที่มี ทำให้กลุ่มผลิตได้ปริมาณข้างต้น  และจำหน่ายในลักษณะพรี-ออเดอร์


“เราผลิตได้เท่านี้ จ้างสมาชิกทำให้ค่าแรงวันละ 300 บาท เตาเผาเต็มประสิทธิภาพ ส่วนเศษไม้ไผ่ที่เหลือ เราบอกชาวบ้านว่าไม่ต้องเผา และติดต่อให้คนมาซื้อ”


ชาวบ้านที่ต้องการเป็นสมาชิกกลุ่ม ต้องซื้อหุ้นๆ ละ 100 บาท โดยจะได้สิทธิ์ดังนี้ 1.สามารถยืมถังซึ่งเป็นอุปกรณ์ขั้นต้นในการผลิตถ่านไปใช้  2.กลุ่มรับซื้อถ่านราคา 3 บาท/กก. 3.กลุ่มรับซื้อเศษไม้ราคา 50 สตางค์/กก. 4.ปลายปีมีเงินปันผลหุ้นให้ 5.หากกลุ่มมีเงินหมุนเวียนมากพอ จะจัดสวัสดิการให้สมาชิก


“การทำเช่นนี้ทำให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมและหวงแหน ไม่เผาเศษไม้ สามารถนำของเหลือทิ้งมาเป็นพลังงานได้ ถ่านอัดแท่งขายส่ง กก.ละ 12 บาท ทางกลุ่มขายปลีก กก.ละ 15-20 บาท ประสิทธิภาพของถ่านอัดแท่งดีกว่าถ่านทั่วไป สมมติถ่านถั่วไปใช้เผาได้ 1 ชั่วโมง ตัวนี้ใช้ได้ 3 ชั่วโมง แต่ราคาจะสูงกว่านิดหน่อย สิ่งที่ อบต.ทำเพื่อจะบอกว่า ยังมีพลังงานจากแหล่งอื่น ซึ่งไม่ใช่แก๊ส หรือไฟฟ้า” ปิยะสันต์ กล่าว


“ถ่านอัดแท่งจากไม้ไผ่” ของ อบต.ตงเปา จึงมิเพียงแค่ลดโลกร้อนจากการเผาเศษไม้ทิ้ง แต่ยังแก้ปัญหาระบบทางเดินหายใจ ชาวบ้านมีสุขภาพดีขึ้น ทั้งยังสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code