พลังชุมชนราชบุรี-เหมืองใหม่สมุทรสงคราม… ลดสกัดหวัดใหญ่2009
ส่งมาตรการ3เร่ง2แก้ไข
จากประสบการณ์ของจ.ราชบุรีที่เคยติดอันดับมีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่2009 เสียชีวิตมากที่สุดในประเทศไทยทำให้เกิดพื้นฐานการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังจนสามารถป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 อย่างได้ผล โดยมีรายงานสถานการณ์ของโรคตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม-21 กันยายน 2552 ว่ามีผู้ป่วยที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังจำนวน 911 ราย แต่มีผู้เสียชีวิตเพียง 9 ราย
ซึ่งในจำนวนผู้ป่วยแยกเป็นเพศหญิงร้อยละ 53.4 เพศชายร้อยละ 46 กลุ่มที่พบมากที่สุดคือ นักเรียน ร้อยละ 36.5 รองลงมาคือ นักศึกษา พนักงานโรงงานและบุคลากรทางการแพทย์ และในช่วงระหว่างวันที่ 6-19 กันยายน 2552 ยังไม่พบรายงานผู้ป่วยยืนยัน จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยยืนยันของจ.ราชบุรีมีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัดทั้งนี้เป็นเพราะทางจังหวัดได้ใช้มาตรการ 2 ลด 3 เร่งเป็นยุทธศาสตร์รับ-รุกไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งมาตรการ 2 ลด
ประกอบด้วย1. ลดการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด และ2.ลดการติดเชื้อและการป่วยให้ได้มากที่สุด ส่วนมาตรการ 3 เร่ง ได้แก่ 1. เร่งให้อาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.)ออกเยี่ยมให้คำแนะนำประชาชน 2. เร่งเผยแพร่ความรู้สื่อสารแก่ประชาชน3.เร่งการบริหารจัดการจากส่วนกลางสู่ส่วนภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีมาตรการด้านลดการป่วยและเสียชีวิตโดยจัดการคัดกรองผู้ป่วยในสถานประกอบการมีการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งขอความร่วมมือจากหน่วยงานและผู้ประกอบการให้เลื่อนการจัดงานในที่สาธารณะเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค
จากงานการประชุมความร่วมมือเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ของจ.ราชบุรีที่ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดขึ้นในรูปแบบเวทีประชาคมเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมประชุมได้แสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนความรู้ โดยนายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานในพิธี โดยมี นพ.มงคล ณ สงขลาประธานอนุกรรมการสนับสนุนการป้องกัน ควบคุม และแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1 2009 สสส. กล่าวถึง ความร่วมมือของทุกภาคส่วนและการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องของชุมชนถือเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยให้การแก้ปัญหาประสบผลสำเร็จ
จากตัวอย่างของจ.ราชบุรีที่เคยมีประสบการณ์ความสูญเสียมาก่อนย่อมเป็นบทเรียนที่สำคัญ จะเห็นได้ว่าการให้ความสำคัญกับภาคท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหา ประกอบกับการมีความพร้อมในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาอย่างเคร่งครัดสามารถช่วยลดจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตลงได้ ถึงแม้ว่าจะมีการระบาดของโรคในครั้งต่อไปก็จะสามารถรับมือและควบคุมสถานการณ์ได้
ในส่วนของการดูงานการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ในการดำเนินงานควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ ต.เหมืองใหม่จ.สมุทรสงคราม นางณภัทร จาตุรัส เลขานุการศูนย์ประสานงานองค์การชุมชนต.เหมืองใหม่ กล่าวว่า จากประสบการณ์ของจ.ราชบุรีที่เคยประสบกับวิกฤตของการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ประกอบกับพื้นที่ของจ. สมุทรสงครามนั้นอยู่ใกล้เคียงกัน จึงจำเป็นต้องเร่งหาแนวทางใน
การป้องกันโรคในชุมชน โดยเฉพาะในชุมชน ต.เหมืองใหม่ ได้มีการวางยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคด้วยการสร้างองค์ความรู้ให้กับคนในชุมชนเช่น ใช้หลัก 5 Key Message ประกอบด้วย เป็นหวัดไม่ออกจากบ้านไม่แพร่เชื้อสู่ผู้อื่น ไม่อยู่ในที่ชุมชนแออัด ไม่ออกสู่ที่สาธารณะ และล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ หรือการรณรงค์ให้ชาวชุมชนปลูกสมุนไพรต้านหวัดไว้บริโภคได้แก่ ฟ้าทะลายโจร และมะรุม ซึ่งจากการดำเนินการดังกล่าวตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันทำให้ในเขตพื้นที่ต.เหมืองใหม่ ไม่พบผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ทั้งที่มีกลุ่มเสี่ยงเป็นผู้สูงอายุอยู่ถึงร้อยละ 22
นอกจากนี้ยังมีการสร้างเครือข่ายทายาทผู้นำเพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่องค์ความรู้ให้กับคนในชุมชน รวมทั้งมีมาตรการในการคัดกรองและเฝ้าระวังร่วมกันระหว่างวัด โรงเรียน และชุมชน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพลังชุมชนในการเอาชนะปัญหาของโรคอุบัติใหม่ได้อย่างสัมฤทธิ์ผล
ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย
Update: 13-10-09
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร