พลังชุมชนท้องถิ่นปฏิรูปสังคม

"ชุมชนท้องถิ่น คือ ฐานของประเทศไทย ถ้าฐานแข็งแรง ประเทศไทยจะมั่นคง เป็นการอภิวัฒน์ และเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ ดีขึ้น ด้วยพลังของชุมชนเอง"



ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวไว้ในการปาฐกถาพิเศษ เวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ครั้งที่ 4 ประจำปี 2557


ในปีนี้ เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ อันประกอบด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การชุมชน ภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชนสาธารณประโยชน์ (NGOs) และหน่วยงานภาครัฐ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยมีสถาบันวิชาการ และสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นกลไกขับเคลื่อนได้จัดงานเวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ครั้งที่ 5 ประจำปี 2558 "พลังชุมชนท้องถิ่นปฏิรูปสังคม" ระหว่างวันที่ 1-5 มีนาคม 2558 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร ขึ้นอีกวาระหนึ่ง


น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. แม่งานในการจัดเวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ ประเทศไทยฯ กล่าวว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมาเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ ได้พัฒนางานด้านสร้างสุขภาวะชุมชนจนเกิดเป็นนวัตกรรมด้านสุขภาวะมากมาย เช่น การจัดการภัยพิบัติ เกษตรปลอดสารเคมี การดูแลผู้สูงอายุ สวัสดิการชุมชน การแก้ปัญหาเด็กเยาวชนฯลฯ ในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 2,000 แห่ง ซึ่งนับว่าการทำงานค่อนข้างลงตัว เป็นปีที่ตอบโจทย์งานเชิงนโยบายเกี่ยวกับปัญหาสังคม


ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน กล่าวต่อว่า ประเด็นพูดคุยในเวทีฟื้นพลังชุมชนฯ มี 3 เรื่องสำคัญ คือ 1.ปัญหาคอร์รัปชั่น ซึ่งต้องยอมรับว่า เป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทยมานาน โดยมีศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "เมืองคุณธรรม เมืองของแผ่นดิน" พร้อมมีนักวิชาการ ชาวบ้าน ชาวชุมชนต่างๆ มาร่วมหาแนวทางการรณรงค์และขับเคลื่อนการแก้ปัญหาคอรัปชั่นสู่เมืองคุณธรรม และประกาศเจตจำนงร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีเวทีสมัชชาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป ครั้งที่ 5 ซึ่งจะชวนคุยกันเรื่องการเมือง การเลือกตั้ง การกระจาย อำนาจ และการมีส่วนร่วมของประชาชน


2.การนำพลังชุมชนท้องถิ่นเพื่อแก้ปัญหาสังคมที่กำลังอยู่ ในวิกฤต 7 ประเด็น คือ 1.การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น 2.การเกษตรและอาหาร เน้นการผลิตอาหารได้ในครัวเรือน 3.พลังงานชุมชน สิ่งแวดล้อม 4.การจัดการขยะ 5.การจัดการภัยพิบัติ 6.ชุมชนลดอุบติเหตุ 7. การควบคุมแอลกอฮอล์และยาสูบในชุมชน


3.นวัตกรรมด้านสุขภาวะ ซึ่งถือเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจของสสส.เป็นอย่างมาก แบ่งเป็น 3 งานหลักๆ คือ 1.การปฏิรูปการเรียนรู้ 2.มีศูนย์เรียนรู้ตำบลต้นแบบ ทำงานในรูปเครือข่าย มีต้นแบบระดับเชี่ยวชาญที่เรียกว่า "มหาวิชชาลัย" จำนวน 2 แห่ง คือ มหาวิชชาลัยดอนแก้วสร้างสุข และมหาวิชชาลัยอุโมงค์สร้างพลเมือง และ 3.ชวนท้องถิ่นคิดเรื่องผู้สูงอายุ ทั้งการปรับเปลี่ยนทัศนคติว่าผู้สูงอายุต้องเลิกทำงาน การตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ ตลอดจนถึงการนำนโยบายการดูแลผู้สูงอายุมาสู่การปฏิบัติจริงในระดับครอบครัวและชุมชน


น.ส.ดวงพร กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการเสวนาการบริหารจัดการบริการสาธารณะของชุมชนท้องถิ่นใน 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น เวียดนาม และฟิลิปปินส์ รวมถึงไฮไลต์ที่สำคัญอีกงานหนึ่ง คือ การเปิดตัว…ชุมชนแบ่งปัน อาสาทำดี เครือข่ายร่วมสร้างชุมชน ท้องถิ่นน่าอยู่ พลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ซึ่งพลังความดีจะเป็นตัวการสำคัญในการเชื่อมโยงกับการแก้ปัญหาเชิงระบบ


"ถ้าถามว่าคาดหวังอะไรกับการจัดงาน ครั้งนี้ งานนี้ส่วนหนึ่งถือเป็นการให้กำลังใจคนที่ ทำดี และหวังเพียงว่าให้เรื่องทุกเรื่องที่พูดคุย แลกเปลี่ยนถกเถียงกันตลอดทั้ง 5 วัน สามารถ เป็นคำตอบ หรือเป็นทางออกให้ชุมชน สังคม ประเทศ โดยลงมือทำจากพื้นที่/ชุมชน ขณะที่ ทุกภาคส่วนควรให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่" น.ส.ดวงพรทิ้งท้าย


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด 

Shares:
QR Code :
QR Code