“พลังชุมชนงดเหล้า ก้าวสู่ออกพรรษา”


แฟ้มภาพ


'โครงการรณรงค์งดเหล้าครบพรรษา' ช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมา ทำให้เกิดพลังขับเคลื่อนของคนในชุมชนที่ไม่ใช่แค่งดเหล้าเข้าพรรษาเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่การงดเหล้าต่อเนื่องออกพรรษา จนทำให้คนในชุมชนเลิกเหล้าได้ตลอดชีวิต


จึงเป็นที่มาของงานสัมมนา "งดเหล้าครบพรรษาสู่ออกพรรษา…ชุมชนคนสู้เหล้า" ที่สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์วิจัยปัญหาสุรา และแผนงานการพัฒนาระบบการดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา (ผรส.) จัดขึ้น เพื่อให้ชุมชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการ งดเหล้า และประสบการณ์งดเหล้าของคนต้นแบบในชุมชนที่ประสบความสำเร็จ และเปลี่ยนเป็นคนใหม่จากการเลิกเหล้า


นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก กล่าวถึงการทำงานว่า ตลอดระยะ 12 ปีที่ผ่านมา สสส. และ สคล. ได้สนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มของชุมชนให้เป็นเครือข่ายองค์กรงดเหล้าขึ้น เพื่อทำงานรณรงค์งดเหล้า เริ่มจากการรณรงค์ให้สิ่งแวดล้อมปลอดเหล้า เพราะการดื่มเหล้า ไม่ควรเป็นที่สาธารณะ จึงมีการจัดตั้งโครงการงานเลี้ยงปลอดเหล้า งานประเพณีปลอดเหล้า อย่างเช่น งานบุญปลอดเหล้า  สงกรานต์ปลอดเหล้า ทอดกฐินปลอดเหล้า ปีใหม่ปลอดเหล้า เพราะการดื่มเหล้าในที่สาธารณะทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยง และไม่ปลอดภัยได้


ต่อมาคือ การทำให้เลิก เป็นโครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ซึ่งต้องการชวนให้คนเกิดแรงบันดาลใจในการเลิกเหล้า โดยตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา จากการสำรวจ ในช่วงปีแรกๆ มีคนดื่มเหล้าเข้าร่วมโครงการ ร้อยละ 40 และในปีหลังมา มีคนดื่มเหล้าเข้าร่วมโครงการถึง ร้อยละ 80 แต่ยังมีผู้ร่วมโครงการงดเหล้าไม่ครบพรรษา จึงเปลี่ยนโครงการเป็น 'งดเหล้าครบพรรษา' เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการและงดเหล้าได้ต่อเนื่องครบพรรษา ร้อยละ 30 -40


"การรวมตัวของ 14 ชุมชน ที่เข้าร่วมโครงการ โดยเป็นชุมชนแหล่งเรียนรู้ 10 แห่ง และชุมชนวิจัย 4 แห่ง พบว่า พื้นที่มีการทำงานอย่างจริงจัง มีกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ได้จริง โดยในอนาคตจะสนับสนุนให้เครือข่ายงดเหล้าขยายพื้นที่การทำงานต่อเนื่อง โดยใช้กระบวนการทำงานและกิจกรรมชุมชนเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ รวมถึงการสนับสนุนกระบวนการทำงานของชุมชน ให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับรู้และจัดทำเป็นนโยบายที่สามารถทำได้จริง เพื่อดำเนินงานในพื้นที่และเกิดการขยายผลเร็ว" นพ.บัณฑิต กล่าว


ด้าน รศ.พญ.สาวิตรี อัษฎางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุราและสารเสพติดเผยผลสำรวจประชากรที่สามารถงดเหล้าได้ในปี 2558 ที่ถือเป็นความสำเร็จของการทำงานระดับประเทศ โดยทั่วประเทศมี ชุมชนกว่า 385 ชุมชน จัดกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา ส่วนความสำเร็จระดับชุมชน เกือบร้อยละ 70 เกิดจากการมีกิจกรรมรณรงค์ในชุมชน และมีนักดื่มร่วมลงนาม งดดื่มเหล้าช่วงเข้าพรรษามากกว่าหมู่บ้านที่ไม่มีกิจกรรมเกิดขึ้น การงดเหล้าเข้าพรรษาทำให้ประชากรกว่า ร้อยละ 63 มีสุขภาพกายดีขึ้น และกว่าร้อยละ 36 สุขภาพจิตดีขึ้น ผู้งด ลด ละเหล้า ยังประหยัดค่าใช้จ่ายประมาณ 1432.2 บาทต่อคน และข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี พบว่า จำนวนอุบัติเหตุทางถนนลดลงเฉลี่ย 150-240 ครั้งต่อเดือน การบาดเจ็บลดลง 210-300 รายต่อเดือน และเสียชีวิตลดลง 36-60 รายต่อเดือน


ด้านคนต้นแบบงดเหล้าเข้าพรรษาอย่าง สมมาด สีทา จากหมู่บ้านชอนสมบูรณ์ หมู่บ้านต้นแบบตามโครงการหมู่บ้านศีล 5 อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี บอกเล่าถึงกิจกรรมรณรงค์งดเหล้าครบพรรษาสู่ออกพรรษา ว่า เมื่อออกพรรษาแล้ว ตนก็ไม่อยากให้กิจกรรมรณรงค์ต่างๆ หยุดไปด้วย อยากให้คนในชุมชนงดเหล้าได้ตลอด จึงปรึกษากับทีมวิจัยชุมชนว่า อยากจะสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน จึงไปฝึกอาชีพการทำโครงลวดรูปสัตว์ สำหรับดัดต้นไม้ และรวมทุน กับเพื่อน ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง จนเป็น กลุ่มอาชีพและสามารถเปิดสอนเป็นอาชีพให้กับคนในชุมชนตนเองและใกล้เคียง จนเกิดเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนขึ้น


"ความตั้งใจแรกของเราคืออยากให้คน ในชุมชนงดเหล้าได้ตลอดไป ให้ศูนย์เรียนรู้ชุมชน เป็นพื้นที่พบปะพูดคุย เสวนา แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ซึ่งแตกต่างจากเมื่อก่อนที่มักจะพบปะกัน และชวนกันไปดื่มเหล้า นอกจากนี้ การสร้างอาชีพ ยังทำให้คนในชุมชนได้ฝึกประสบการณ์ ศักยภาพของตนเอง และสร้างรายได้ให้กับครอบครัว" สมมาด คนต้นแบบงดเหล้าเข้าพรรษา ทิ้งท้าย


หากคนในชุมชนร่วมมือร่วมใจกัน ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย ที่จะทำให้นักดื่มในชุมชน งด ลด ละ เหล้าเข้าพรรษาและตลอดไป


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

Shares:
QR Code :
QR Code