“พลังครอบครัว เครื่องมือสำคัญเปลี่ยนละครน้ำเน่าเป็นน้ำดี”

“เด็กหญิงอายุ  3  ขวบใช้สองมือบีบคอตัวเองจนลำคอเขียวคล้ำพร้อมทั้งกรีดร้องโวยวายกระทืบเท้าเป็นระยะๆ การกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงออกเพื่อขัดขืนผู้เป็นแม่ที่เตือนให้ไปอาบน้ำหลังจากการรับประทานอาหารเสร็จ สิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือเธอเลียนแบบพฤติกรรมดังกล่าวมาจากตัวละครตัวหนึ่งที่ได้ชมผ่านทางสถานีโทรทัศน์” !!!!!

เกณิกา พงษ์วิรัช ตัวแทนจากเครือข่ายผู้ปกครองโรงเรียนประเทืองทิพย์วิทยา บอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นกับครอบครัวของเธอสดๆ ร้อนๆ ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ “ละคร สร้างการเรียนรู้ให้ครอบครัวได้อย่างไร” ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และภาคีเครือข่ายกว่า 10 องค์กร ที่สำคัญยังได้รับความร่วมมือจากสถานีโทรทัศน์หลากหลายช่อง เข้าร่วมวงเสวนาครั้งนี้ด้วย

เกณิกา เล่าเพิ่มเติมว่า ด้วยภาระหน้าที่ที่จะต้องสะสางงานประจำที่สั่งสมคั่งค้างมาตลอดวันทำให้เธอต้องปล่อยลูกสาววัย 3ขวบไว้หน้าจอทีวี โดยเปิดละครให้ลูกสาวดูทุกครั้ง  ซึ่งเธอไม่เคยคาดคิดเลยว่าการเปิดทีวีให้ลูกดูละครของเธอนั้นจะกลายเป็นโทษมหันต์ที่ทำให้พฤติกรรมของลูกเธอเปลี่ยนไปอย่างน่าตกใจ

ไม่เพียงเฉพาะครอบครัวของเกณิกาเท่านั้น หากแต่ในการระดมสมองครั้งนี้ยังได้มีตัวแทนผู้ปกครองและหน่วยงานทางด้านสังคมอีกหลากหลายองค์กรแสดงทรรรศนะเกี่ยวกับละครไทยในการสร้างการเรียนรู้ให้กับครอบครัวไว้อย่างน่าสนใจ  โดยละครที่ถูกหยิบยกและพูดถึงมากที่สุดคงจะหนีไม่พ้น “ดอกส้มสีทอง” ของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3ที่เพิ่งจะลาจอไปหมาดๆ

แม้คำวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมจะมองละครเรื่องนี้ออกเป็นสองส่วนคือส่วนที่สร้างการเรียนรู้ให้สังคมถึงการ รู้สึกรับผิดชอบชั่วดีในการครองชีวิตคู่ หากแต่หลายชีวิตที่อยู่ในครอบครัวและได้รับชมละครเรื่องนี้ก็กลับได้รับผลกระทบอย่างหลากหลายแบบที่คาดไม่ถึง หลานยายของหลายครอบครัวถึงกับบอกยายของตัวเองว่า “โตขึ้นหนูจะเป็นเรยา เพราะว่าเขาสวย” นี่คือสิ่งที่เด็กอายุน้อย ๆ ได้รับจากละครที่เขาไม่สามารถใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองผิดถูกจากตัวละครได้

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขได้แสดงทรรศนะถึงปรากฏการณ์การดูละครที่เกิดขึ้นในสังคมไทยว่า “การหารือของเราในวันนี้เราไมได้มุ่งโจมตีละครเรื่องใดเรื่องหนึ่งหากแต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับละครเรื่องดอกส้มสีทองนั้นเราสามารถหยิบมาใช้ต่อยอดให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับครอบครัวในเรื่องต่อๆไปได้ ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นกังวลสำหรับละครของบ้านเรานั้นคือเรื่องของการจัดเรตติ้ง

ผมได้ให้ลูกสาวนั่งดูละครเรื่องดอกส้มสีทอง ซึ่งลูกสาวของผมอายุ 18 ปี ก็มีวิจารณญาณในการกลั่นกรองแง่คิดที่ได้จากละครที่เขาดูได้ในระดับหนึ่ง เขาก็มาเล่าให้ผมฟังว่า ละครเรื่องนี้สนุกน่าติดตาม แต่สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือฉากที่ว่าด้วยเรื่องเซ็กส์และฉากตบตีที่มีเยอะเกินไป ผมก็ลองไปดูละครเรื่องนี้ย้อนหลังทางอินเตอร์เน็ตก็พบว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ ผมได้เดินทางไปดูงานในหลายประเทศซึ่งหลายประเทศที่ผมไปดูงานนั้นไม่มีประเทศไหนที่จะฉายละครที่มีเรตติ้งน. 13ในช่วงสองทุ่มครึ่งซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่เด็กๆ ยังสามารถดูได้มีที่ประเทศไทยที่เดียวที่ทำแบบนี้”ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุขกล่าว

นพ.ยงยุทธ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สิ่งที่สำคัญมากกว่าเนื้อหาละครคือช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะนำละครซึ่งมีเนื้อหารุนแรงทั้งทางด้านเพศ ภาษาและวัฒนธรรมออกฉาย เพราะถึงแม้ประเทศไทยจะมีการจัดระบบเรตติ้งแล้วแต่ความเข้าใจความหมายของเรตติ้งของผู้ปกครองและการนำมาปฏิบัติกับหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องยังมีเพียงน้อยนิด ซึ่งในความเป็นจริงตามหลักการจัดเรตติ้งของสากลจะเป็นดังนี้   รายการหรือละครที่ได้เรตติ้ง น 13คือรายการหรือละครที่เหมาะกับผู้ชมอายุ 13ปีขึ้นไป ก็ควรไปอยู่หลัง 3ทุ่ม ส่วน น 18รายการโทรทัศน์หรือละครที่เหมาะสมกับผู้ชมอายุ 18ปีขึ้นไป ก็ควรไปอยู่หลัง 4ทุ่ม และรายการ ฉ เป็นรายการสำหรับผู้ใหญ่โดยเฉพาะ ไม่เหมาะสำหรับเด็กและเยาวชน ก็ควรไปอยู่หลังเที่ยงคืน ซึ่งหากวางระบบแบบนี้ได้ละครจะมีเนื้อหาที่รุนแรงขนาดไหนก็จะไม่มีปัญหาเพราะได้รับการจัดสรรให้ออกอากาศได้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม

ทั้งนี้ เหนือสิ่งอื่นใดในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ยังได้ให้ความสำคัญกับคำว่า “ครอบครัว” ที่จะมีส่วนช่วยสร้างและเสนอแนะให้เด็กๆ เข้าใจในความเป็นไปของมนุษย์ที่ถูกถ่ายทอดผ่านตัวละครแต่ละตัว โดยพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ควรนั่งดูอยู่กับเด็กด้วยเมื่อเด็กได้เปิดทีวีดูละครในแต่ละเรื่องและควรเสนอแนะ สั่งสอน และตักเตือนเด็กๆ ให้รู้ถึงความผิดชอบชั่วดีจากการแสดงออกของตัวละครแต่ละตัว

ฐานิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวกล่าวว่า “ ปัจจุบันนี้เราหลีกเลี่ยงที่จะดูละครไม่ได้แล้ว เพราะละครได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเราแล้ว ดังนั้นเราก็สามารถสร้างการเรียนรู้ให้กับครัวได้โดยใช้ละครเหล่านี้มาเป็นเครื่องมือต่อยอด โดยพ่อแม่หรือผู้ปกครองจะต้องนั่งดูละครกับลูกๆและบอกลูกๆ อย่างตรงไปตรงมาว่าพฤติกรรมแบบใดที่ตัวละครแสดงออกแล้วเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม

เช่นหากตัวละคร “กรี๊ด” พ่อแม่หรือผู้ปกครองก็ควรจะแนะนำลูกว่าการควบคุมอารณ์ของมนุษย์เป็นเรื่องที่สำคัญในชีวิตจริงเราจะต้องควบคุมอารมณ์ให้ได้มากกว่านี้ สิ่งทีเกิดขึ้นเป็นเพียงการแสดงเพื่อให้ละครน่าสนใจเท่านั้น หรือการการใช้ความรุนแรงในละครพ่อแม่หรือผู้ปกครองก็ต้องแนะนำลูกว่า การแก้ปัญหาในสังคมมันไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงขนาดนั้นก็ได้ มันมีวิธีในการแก้ปัญหาที่ดีกว่านี้”ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวระบุ

อย่างไรก็ตามการพูดคุยในครั้งนี้นั้นได้มีตัวแทนผู้ผลิตละครจากสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3เข้าร่วมหารือและรับฟังการสะท้อนปัญหาของภาคีเครือข่ายหลากหลายองค์กรด้วย โดยนายสมรักษ์ นายสมรักษ์ ณรงค์วิชัย ผู้จัดการฝ่ายผลิตรายการไทยทีวีสีช่อง 3ได้รับปากว่าจะนำข้อหารือของหลากหลายองค์กรทีเกิดขึ้นในวันนี้ไปปรับกับละครและรายการของช่องให้เหมาะสมกับสังคมไทย โดยเฉพาะละครในเรต ท.หรือหรือที่คนทั่วไปสามารถรับชมร่วมกันได้นั้นช่อง 3กำลังศึกษาและพัฒนาบทให้มีความน่าสนใจมากขึ้นอยู่

คำกล่าวที่ว่า “ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัวเอง” นั้นยังใช้ได้อยู่กับทุกยุคสมัย โดยเฉพาะในสมัยนี้สิ่งที่สำคัญมากกว่าดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัวนั้นคือผู้ปกครองควรใส่ใจการดูหนังดูละครแล้วย้อนดูครอบครัวพร้อมกันด้วย  เพราะพลังครอบครัวจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยขัดเกลาละครน้ำเน่าให้กลายมาเป็นละครน้ำดีได้

 

 

ที่มา: มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว

Shares:
QR Code :
QR Code