พระอัจฉริยภาพด้านศิลปกรรม
พระอัจฉริยภาพด้านศิลปกรรม
เทคนิคที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ในการเขียนภาพคือ เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ภาพเขียนเหมือนจริงที่ทรงเขียนส่วนใหญ่จะเป็นภาพพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และทูลกระหม่อมทุกพระองค์ นอกจากภาพดังกล่าวแล้ว พระองค์ท่านยังทรงเขียนภาพอื่นๆ อีก อาทิเช่น ภาพสมเด็จพระบรมราชชนก ภาพครอบครัว เป็นต้น
ศิลปกรรมสาขาประติมากรรมเป็นศิลปะสาขาหนึ่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความสนพระราชหฤทัยยิ่ง พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้าเทคนิควิธีการต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ทั้งการปั้น การหล่อ และการทำแม่พิมพ์ โดยมีนายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการบำนาญกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เป็นผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทในงานด้านประติมากรรม งานประติมากรรมฝีพระหัตถ์ที่เป็นประติมากรรมลอยตัว (Round Relief) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แก่
– รูปปั้นผู้หญิงเปลือยคุกเข่า ความสูง 9 นิ้ว ทรงปั้นด้วยดินน้ำมัน
– พระรูปปั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครึ่งพระองค์ ความสูง 12 นิ้ว ทรงปั้นด้วยดินน้ำมัน
นอกจากงานประติมากรรมดังที่กล่าวมาแล้วนี้พระองค์ท่านยังทรงสนพระราชหฤทัยในการสร้างพระพุทธรูป ซึ่งพระพุทธรูปองค์แรกที่ทรงให้สร้างคือ พระพุทธรูปปางประทานพร ภ.ป.ร. ซึ่งสร้างขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดยมีพระราชประสงค์ให้แก้ไขพุทธลักษณะจากการสร้างครั้งที่ 1 ของวัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี เนื่องจากพระองค์ไม่ทรงพอพระราชหฤทัยในพระพุทธลักษณะที่เป็นแบบเดิม โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ เป็นผู้ปั้น และมอบหมายให้นายไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีแนวพระราชดำริว่า พระพุทธรูปปางประทานพร ภ.ป.ร. ควรมีลักษณะสง่างาม เข้มแข็ง แต่ไม่แข็งกระด้าง และให้มีความรู้สึกที่ว่าเป็นที่พึ่งเหล่าพสกนิกร เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ จึงได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบพระพุทธรูป โดยส่วนฐานของพระพุทธรูปจะเป็นกลีบบัว ใต้กลีบบัวเป็นขาสิงห์ ที่ผ้าทิพย์ประดิษฐานอักษรพระปรมาภิไธยย่อว่า ภ.ป.ร. และที่ฐานรองพุทธบัลลังก์มีอักษรบาลีจารึกว่า “ ทยยชาติยา สามคคิย์ สติสญชนเนนโภชิสิย รกขนุติ ” และบรรทัดถัดมาเป็นอักษรไทยจารึกว่า “ คนไทยจะรักษาความเป็นไทย อยู่ได้ด้วยมีสติสำนึกในความสามัคคี ” ฐานด้านหลังจารึกว่า “ เสด็จพระราชดำเนินในพิธีหล่อ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2508 ”
พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งที่พระองค์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้สร้างคือ “ พระพุทธนวราชบพิตร ” เป็นพระพุทธรูปปฎิมาแบบพิเศษ ปางมารวิชัยโดยให้แกะแบบแม่พิมพ์ด้วยหินลับมีดแล้วหล่อเป็นปูนปลาสเตอร์ ต่อมาภายหลังได้ทำแม่พิมพ์ด้วยขี้ผึ้งและทรงบรรจุผงศักดิ์สิทธิ์จาก ปูชนียสถานต่างๆ ทั่วประเทศภายในพระพิมพ์ พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้บรรจุพระพิมพิ์ขนาด 2 x3 เซนติเมตร ไว้ที่ฐานบัวหงายด้านหน้าขององค์พระพุทธนวราชบพิตร พร้อมทั้งทรงพระราชทานแก่ข้าราชการ ข้าราชบริพารและบุคคลต่างๆ เพื่อไว้สักกะบูชาโดยให้ผู้รับพระราชทานนำไปปิดทองที่ด้านหลังองค์พระพิมพ์ และให้พระบรมราโชวาทโดยสรุปว่า “ ให้ทำดีเหมือนกับการปิดทองหลังองค์พระพิมพ์ ” โดยเรียกว่า “ พระสมเด็จจิตรลดา ” หรือ “ พระกำลังแผ่นดิน ”
ที่มา: เวปไซต์ไอเลิฟเดด
Update: 1-12-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร