พระราชดำริเรื่องการแก้ไขปัญหาจราจรของรัชกาลที่ 9
ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ
แฟ้มภาพ
จากการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามด้วยการย้ายถิ่นฐานจากต่างจังหวัดเข้าสู่เมืองหลวงหลักอย่างกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้การใช้ยานพาหนะในเขตเมืองเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อผู้คนและรถยนต์เพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ จนถนนหนทางไม่สามารถรองรับได้ ทำให้เกิดปัญหารถติดที่คนในกรุงเทพฯ ต้องพบเจอในชีวิตประจำวัน ปัญหาจราจรไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบทำให้การเดินทางและขนส่งสินค้าเกิดความล่าช้าเท่านั้น ปริมาณมหาศาลของรถยนต์ยังก่อให้เกิดมลภาวะที่ส่งผลต่อสุขภาพ กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ยากจะแก้ไข ส่งผลกระทบในมุมกว้างทั้งปัญหาด้านเศรษฐกิจและสุขภาพกายใจของประชาชนคนไทยมาช้านานแล้ว
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี ในปีพุทธศักราช 2514 คณะรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบบังคมทูลเรื่องพระราชพิธีรัชดาภิเษก และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างพระบรมราชานุสรณ์น้อมเกล้าฯ ถวาย แต่เนื่องจากพระองค์ทรงคำนึงถึงประโยชน์สุขของราษฎรเสมอมา จึงมีพระราชดำริที่จะใช้โอกาสนี้ดำเนินงานแก้ไขปัญหาการจราจร ทรงมีพระราชดำรัสกับรัฐมนตรีว่า "ขอเถิด อนุสาวรีย์อย่าเพิ่งสร้าง สร้างถนนดีกว่า สร้างถนนที่เรียกว่า วงแหวน เพราะมันเป็นความฝันมาตั้งนานแล้ว"
ดังนั้น โครงการถนนสายนี้จึงสร้างขึ้นตามกระแสพระราชดำริจากที่พระองค์เคยทอดพระเนตรระบบการจราจรของสหรัฐอเมริกา เมื่อสร้างแล้วเสร็จจึงพระราชทานชื่อถนนว่า รัชดาภิเษก ซึ่งก็คือถนนวงแหวนรอบในในปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นโครงการในพระราชดำริแรกเริ่มของการแก้ไขปัญหาจราจรของพระองค์
ต่อมาเมื่อมีโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการแก้ไขปัญหาจราจรเพิ่มขึ้น สามารถระบายการขนส่งได้คล่องตัวขึ้นกว่าเดิม ได้มีพระราชดำริเพิ่มเติมอีกว่า ควรจะเชื่อมถนนน้อยใหญ่เหล่านี้เป็นเครือข่ายต่อเนื่องให้เป็นระบบเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและลดปัญหาจราจรติดขัด จึงเกิดเป็น โครงข่ายจตุรทิศขึ้น เชื่อมถนนจากฝั่งตะวันตกถึงฝั่งตะวันออก และจากทิศเหนือถึงทิศใต้ โครงการเหล่านี้สามารถระบายความแออัดของรถยนต์บนท้องถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามพระราชประสงค์ที่ทรงวางไว้อีกหนึ่งปัญหาสืบเนื่องจากปัญหาจราจรที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงคำนึงถึงคือ ความต้องการเรื่องการพยาบาลเร่งด่วนบนถนนซึ่งยากจะเข้าถึงได้บนถนนที่มีรถยนต์แออัด จึงพระราชทานแนวทางและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ตำรวจจราจรจัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ในปีพุทธศักราช 2536 โดยใช้รถจักรยานยนต์ในการปฏิบัติหน้าที่ จนถึงทุกวันนี้ หน่วยเคลื่อนที่เร็วได้ช่วยทำคลอดและนำสตรีใกล้คลอดส่งถึงโรงพยาบาลไปแล้วกว่า 60 ราย ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินบนท้องถนนมากกว่า 100 ราย รวมถึงการซ่อมแซมยานพาหนะที่จอดเสียอยู่บนถนนอีกหลายต่อหลายครั้ง ถือได้ว่าเป็นโครงการในพระราชดำริที่ช่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาจราจรซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ได้เป็นอย่างดีปัจจุบัน สภาพการจราจรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังคงแออัด แต่หากกรุงเทพมหานครไม่มีถนนรัชดาภิเษก ไม่มีเครือข่ายจตุรทิศ บางที เมืองหลวงของเราอาจกลายเป็นอัมพาตไปนานแล้วก็ได้.บทความเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 จากหนังสือ Heart Work รวม 70 เรื่องราวการทรงงานของในหลวง รัชกาลที่ 9