‘พรหมพิราม’ ท้าดื่มน้ำสาบานเลิกบุหรี่ทั้งหมู่บ้าน

ที่มา : เว็บไซต์ MGR Online 


ภาพประกอบจากเว็บไซต์ MGR Online 


'พรหมพิราม' ท้าดื่มน้ำสาบานเลิกบุหรี่ทั้งหมู่บ้าน thaihealth


"พรหมพิราม" จัดกิจกรรมท้าดื่มน้ำสาบานเลิก "บุหรี่" ทั้งหมู่บ้าน เผยมีผู้เข้าร่วมเลิกบุหรี่แบบสมัครใจแล้วกว่า 122 คน ด้าน สสส.เผย 9 เทคนิคช่วยหมออนามัย อสม. ชวนคนเลิกบุหรี่ให้สำเร็จ


วันนี้ (24 ก.พ.) ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านวังมะด่าน อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก มีกิจกรรม "ท้าชวนดื่มน้ำสาบานเลิกบุหรี่แบบหักดิบทั้งหมู่บ้าน" ภาคใต้โครงการ "3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไป เทิดไท้องค์ราชัน" โดย นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า โครงการ 3 ล้าน 3 ปีฯ เป็นความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย มูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย สมาคมหมออนามัย สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย มาร่วมทำความดีถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการชักชวน เชิญชวน ท้าชวนให้เลิกสูบบุหรี่ พร้อมลงชื่อสมัครใจเลิกบุหรี่ โดยใช้กลไก เครือข่ายหมออนามัยและ อสม. ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศขับเคลื่อนการทำงาน ซึ่งโครงการนี้เริ่มตั้งแต่ มิ.ย. 2559 ปัจจุบันมีผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 2 แสนคน และสามารถเลิกบุหรี่ต่อเนื่อง 6 เดือน ได้ประมาณ 3 หมื่นกว่าคน


'พรหมพิราม' ท้าดื่มน้ำสาบานเลิกบุหรี่ทั้งหมู่บ้าน thaihealth


นพ.บัณฑิต กล่าวว่า การดำเนินงานชักชวนคนเลิกสูบบุหรี่ให้ประสบความสำเร็จ คณะทำงานวิชาการโครงการ 3 ล้านฯ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติ 9 ข้อ ให้แก่ เครือข่ายหมออนามัย และ อสม. เป็นแนวทางการทำงาน ดังนี้ 1.ค้นหา สำรวจและจำแนกเป้าหมายคนที่จะชวนให้เลิกสูบ โโยเลือกคนที่มีแนวโน้มเลิกได้ง่าย เช่น ผู้สูบที่มีเด็กเล็กในบ้าน เริ่มเจ็บป่วย มีญาติเจ็บป่วยจากการสูบ หรือผู้สูบที่มีอายุมากกว่า 50 ปี 2.หาแรงจูงใจเพื่อชวนให้ตัดสินใจเลิกสูบเด็ดขาด เช่น รักลูก ไม่อยากเจ็บป่วย เป็นต้น 3.ให้ข้อมูลด้านลบของการสูบบุหรี่ โดยตอกย้ำผลที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพและคำนวณให้เห็นตัวเลขที่ชัดเจนว่าค่าใช้จ่ายที่เสียไปจากบุหรี่มากเพียงใด 4.แนะนำให้ปฏิบัติเทคนิคการเลิกสูบที่ง่ายและได้ผล เช่น ไม่สูบบุหรี่ในบ้าน ไม่ซื้อไม่ขอบุหรี่ ทิ้งอุปกรณ์สำหรับการสูบบุหรี่ เป็นต้น


นพ.บัณฑิต กล่าวว่า 5.แนะนำอุปกรณ์ที่ช่วยให้เลิกสูบได้ง่ายขึ้น เช่น ดื่มน้ำ ดื่มชาหญ้าดอกขาว ใช้น้ำยาบ้วนปากหรือสมุนไพรช่วยเลิกบุหรี่ เคี้ยวผลไม้เปรี้ยวๆ เป็นต้น 6.ติดตามเยี่ยมเยียนให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้เลิกสูบได้อย่างต่อเนื่อง 7.ทำกิจกรรมสนับสนุนการเลิกสูบ เช่น เชิญคนที่เลิกสูบสำเร็จมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จัดกิจกรรมพบปะพูดคุยให้กำลังใจ เป็นต้น 8.แนะนำบริการช่วยเลิกบุหรี่แก่คนที่ติดบุหรี่หนักหรือคนที่กลับไปสูบซ้ำที่คลินิกฟ้าใส หรือสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 และ 9.จัดกิจกรรมชื่นชมเชิดชูคนที่เลิกบุหรี่สำเร็จ หรือคนที่ชวนคนเลิกบุหรี่สำเร็จ


'พรหมพิราม' ท้าดื่มน้ำสาบานเลิกบุหรี่ทั้งหมู่บ้าน thaihealth


นายมงคล เงินแจ้ง ผอ.รพ.สต.บ้านวังมะด่าน กล่าวว่า ตนเป็นคนแรกที่เข้าร่วมโครงการ 3 ล้าน 3 ปีฯ เพราะถูกกดดัน เหน็บแนมจากคนรอบข้าง ที่สำคัญคือตนทำงานส่งเสริมให้คนเลิกเหล้าบุหรี่ แต่ตนเองยังเลิกไม่ได้ ทำให้คนไม่เชื่อถือและไม่ร่วมมือ ในการประชุมเตรียมงานโครงการฯ จึงประกาศตนขอเลิกเป็นคนแรก และตัดสินใจหักดิบเลิกทันที เมื่อเลิกได้ทำให้เป็นที่น่าเชื่อถือในการชักชวนให้คนเลิกสูบ ทั้งนี้ อ.พรหมพิราม มีผู้สมัครใจเลิกบุหรี่ 122 คน กลยุทธ์สำคัญของการเลิกบุหรี่คือ การหักดิบ เพราะหากมีจิตใจที่เข้มแข็งก็จะสามารถเลิกบุหรี่ได้ประสบผลสำเร็จและเลิกได้เร็วกว่าการค่อยๆ เลิกโดยการลดปริมาณการสูบ สำหรับกรณีบางรายที่ไม่สามารถใช้วิธีหักดิบได้ จะมีคลินิกเลิกบุหรี่ช่วยให้คำปรึกษา


"กิจกรรมเด่นที่ใช้ขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จ เช่น การท้าชวนดื่มน้ำสาบานเลิกบุหรี่ทั้งหมู่บ้าน โดย 1 คนท้าชวน 1 คนที่สูบให้เลิกสูบ เมื่อคนนั้นเลิกสูบแล้ว ก็ให้ท้าชวนอีก 1 คนเลิกสูบ ต่อเนื่องไป การจัดรายการวิทยุออนไลน์ให้ความรู้/แลกเปลี่ยนกับผู้มีประสบการณ์การเลิกบุหรี่ การจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติ คนชวนคนเลิกสูบบุหรี่ คนเลิกสูบบุหรี่ต้นแบบในระดับจังหวัด และจัดระบบการป้องกัน การให้กำลังใจ และการป้องกันการกลับไปสูบซ้ำ และการจัดเก็บข้อมูลผู้เข้าร่วมกิจกรรมเลิกสูบบุหรี่และรายงานผลอย่างต่อเนื่องผ่านระบบ LRM (Line report management) ซึ่งจะมีการประเมินผลหากสามารถเลิกบุหรี่ได้เกิน 6 เดือน ถือว่าเลิกได้สำเร็จ" นายมงคล กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code