“สิ่งที่เราทำเราไม่ต้องเสี่ยงอะไร ไม่ต้องเสียแรง แต่ได้ความรู้สึกดี ได้ความสุขกลับคืนมาสู่ตัวเรา หรือที่เรียกว่า ปิติสุข” นี่คือคำพูดของครูแอ้ หรือ คุณพรวรินทร์ นุตราวงศ์ พยาบาลวิชาชีพ 7 วช. ฝ่ายการพยาบาล คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร เผยถึงความภาคภูมิใจในการอาสาดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อทำความหวัง ความต้องการของผู้ป่วยให้สำเร็จก่อนจะจากโลกนี้ไป คุณพรวรินทร์ ถือเป็นแบบอย่างของการใช้มิติด้านจิตใจ หรือ sha มารักษาและดูแลผู้ป่วย ซึ่งเป็นแนวการทำงานที่ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนตามโครงการ “การสร้างเสริมสุขภาพผ่านกระบวนการคุณภาพเพื่อการเปลี่ยนที่ยั่งยืน” ซึ่งมีโรงพยาบาล และสถานพยาบาล กว่า 120 แห่ง เข้าร่วมเพื่อขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยยั่งยืน
คุณพรวรินทร์ เข้ารับราชการที่วชิรพยาบาลในตำแหน่งพยาบาล 2 ตั้งแต่ปี 2522 นอกเหนือจากหน้าที่หลักแล้ว เธอได้ใช้เวลาหลังเลิกงานเพื่อดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยทำในสิ่งที่ผู้ป่วยมีความสุขและสมปรารถนาเป็นครั้งสุดท้ายก่อนหมดลมหายใจ มานานนับ 10 ปี
“ที่เราทำไม่ต้องมีทฤษฎีอะไรมารองรับ สิ่งไหนที่ค้างคาอยู่ในใจของผู้ป่วย บอกมา พี่จะทำให้เขาสมหวังและมีความสุข เพราะเขาไม่มีคนช่วยให้สมหวัง เราไปช่วยเขาทั้งที่เราเป็นคนอื่น เราก็เหมือนเป็นด้ายเส้นสุดท้ายที่เขาได้ยึดเกี่ยวขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เพราะบางครั้งการทำให้ผู้ป่วยได้มีความสุขก็เป็นเหมือนพลังที่สร้างความอัศจรรย์ให้เกิดขึ้นได้ อย่างกรณีของคุณลุงท่านหนึ่ง ที่พักรักษาตัวระยะสุดท้ายอยู่ที่โรงพยาบาล และคาดว่าจะเสียชีวิตในเร็ววัน ป่วยอยากกลับบ้านที่ จ.อำนาจเจริญ แต่ลูกอยากให้อยู่ รพ.ต่อ เราก็ไปพูดคุยกับลูกผู้ป่วยว่า ทำไมไม่ทำในสิ่งที่พ่อต้องการก่อนท่านจะจากไป ก็รู้ว่าลูกของผู้ป่วยยากจนไม่มีเงินเหมารถมารับพ่อกลับบ้าน และได้ปรึกษากับที่บ้านว่า หากพ่อตายไปก็ให้เผาแล้วค่อยนำเถ้ากระดูกกลับบ้าน เมื่อได้ฟังแล้วเราก็บอกกับลูกของผู้ป่วยว่า พาพ่อกลับบ้านนะ ค่ารถเท่าไหร่พี่จะจ่ายให้ หลังจากผู้ป่วยก็ได้กลับบ้านและลูกของผู้ป่วยโทรศัพท์มาเล่าให้ฟังว่า พ่อเดินขึ้นบันไดบ้านเองได้ และมีชีวิตอยู่ได้นานอีก 3-4 วัน แล้วก็จากไปอย่างสงบ ซึ่งเราฟังแล้วก็มีความสุขที่เค้าได้จากไปอย่างมีความสุข” คุณครูแอ้ กล่าว
ครูแอ้เล่าต่อว่า กรณีดังกล่าว ช่วยสะท้อนให้เห็นปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน ที่มองไม่เห็นความสำคัญของคนใกล้ตัว ไม่ต้องสนใจ ไม่ต้องใส่ใจ กลายเป็นความละเลย จนลืมทำสิ่งดีๆ ให้กัน ใช่ว่าการไม่ใส่ใจคนใกล้ตัว จะเป็นปัญหาแค่ฝ่ายเดียว แต่การที่ใส่ใจและรักคนใกล้ตัวมากเกินไปก็ส่งผลกระทบ และสร้างความเจ็บปวดให้กับคนที่ถูกรักเช่นกัน อย่างกรณีของครอบครัวหนึ่งมีลูกชายเพียงคนเดียว และพบว่าลูกชายป่วยเป็นมะเร็ง ไม่สามารถรักษาได้ แต่พ่อแม่ทำใจไม่ได้และไม่ยอมรับความจริงว่า ลูกกำลังป่วยหนัก ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกได้มีชีวิตอยู่ต่อ เพราะหวังว่าจะหายจากโรคมะเร็งได้ ผู้ป่วยก็พูดกับเราว่า พี่แอ้ครับ ตอนนี้ผมไม่ไหวแล้ว ผมปวดทรมานมาก แต่แม่ยังไม่ยอมหยุดเลย เราก็พูดกลับว่า อยากพูดอะไรกับแม่ไหม เขาก็บอกว่า แม่ไม่รับฟังผมหรอก แม่พยายามจะยื้อชีวิตผมทุกทาง แต่ผมไม่ไหวแล้ว จากนั้นเราก็ให้ผู้ป่วยฝึกพูดกับเรา ซึ่งใช้เวลาหลายวันมาก จนได้ประโยคที่คิดว่าประทับใจ เราก็มาคุยกับแม่ของผู้ป่วย แม่ผู้ป่วยก็รับรู้และเข้าใจ เราก็จัดห้องให้ผู้ป่วยและแม่ได้คุยกัน หลังจากนั้นไม่กี่วันลูกชายก็จากไปอย่างสงบ โดยที่แม่ก็ทำใจยอมรับได้
“เราต้องจัดการการตายของเขาให้ดีที่สุดให้สมกับศักดิ์ศรีของมนุษย์ ไม่ว่าจะยากดีมีจน ทุกคนก่อนตายต้องสวยงาม ต้องจากไปอย่างมีความสุข ไม่มีความเจ็บปวด ไม่มีสิ่งค้างคาใจ คนเราตอนเกิดกำหนดได้อยากให้เพศนั้นเพศนี้ คลอดวันนั้นคลอดวันนี้ แต่ก่อนตายกำหนดไม่ได้ ไม่มีคนเตรียมให้เขา เราต้องเตรียมให้เขาจากไปด้วยความสงบสุข” ครูแอ้ กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มอิ่มใจ
คุณพรวรินทร์ ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 6 คนดีของประเทศไทย และเป็น 1 ใน 80 คนไทย ที่ได้วิ่งคบเพลิงกีฬาโอลิมปิก “ปักกิ่งเกมส์ 2008“ ได้รับรางวัลข้าราชการดีเด่นของวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล ได้รับการคัดเลือกให้เป็นคนดีของกรุงเทพฯ ในงาน 80 คนดีนำทางแผ่นดิน และรางวัลเชิดชูเกียรติอีกมากมาย รางวัลต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งบ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่า สิ่งที่เธอทำนั้น ทรงคุณค่าในสังคมมากเพียงใด และนี่คือทั้งหมดของ คุณพรวรินทร์ นุตราวงศ์ หรือ “ครูแอ้” พยาบาลผู้มี sha (sustainable health promotion and hospital accreditation) ในหัวใจอย่างแท้จริง
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ