พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม
องค์กรด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว และเครือข่าย เสนอต่อร่างแก้ไข พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. …
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2551 ที่สถาบันวิชาการทีโอที ถนนงามวงค์วาน นนทบุรี องค์กรด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว และเครือข่าย เสนอ ในการสัมมนารับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. …… เครือข่ายได้แสดงตั้งข้อสังเกตต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า
ประเด็นที่ 1 จำนวน องค์ประกอบ คุณสมบัติและการได้มาซึ่ง คณะกรรมการ กสช.
จำนวนคณะกรรมการ กสช. ที่กำหนดไว้เพียง 10 คนไม่เพียงพอกับภาระงานทั้งหมด
1.2 องค์ประกอบของคณะกรรมการ กสช. ควรมีความหลากหลายและมีสัดส่วนจากภาคสังคมดังที่กำหนดไว้ในมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยเสนอให้มีตัวแทนจาก 3 ภาคส่วน คือ ภาคบริหาร, ภาคเทคนิค (วิทยุโทรทัศน์,โทรคมนาคม) และภาคสังคม จำนวน 15 คน
1.3 คุณสมบัติของ กสช. จำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องมีข้อกำหนดเพื่อป้องกันการมีผลประโยชน์ทับซ้อน
1.4 กระบวนการสรรหาคณะกรรมการสรรหา กสช. ควรให้มีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และใช้กระบวนการสรรหา
1.5 กระบวนการคัดเลือกคณะกรรมการ กสช.
ประเด็นที่ 2 การกำกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
2.1 ควรกำหนดให้มีแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อเป็นแนวทางในการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และการอนุญาตให้ประกอบกิจการดังกล่าว และเป็นแนวทางในการดำเนินงานของ กสช. โดยแนวทางการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในแผนแม่บท ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนในระดับชาติและระดับท้องถิ่น และการกระจายการใช้ประโยชน์โดยทั่วถึงในกิจการด้านต่างๆ ให้เหมาะสมแก่การเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยในการจัดทำแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ให้ กสช. รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผู้ประกอบกิจการ และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณา เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในมาตรา 24 – 26 ของ พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๔๓
2.2 ควรกำหนดให้มีการประกอบกิจการดังกล่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะระดับท้องถิ่น โดยอย่างน้อยจะต้องให้มีสถานีวิทยุกระจายเสียงประจำจังหวัด และสถานีวิทยุโทรทัศน์สำหรับการกระจายข้อมูลข่าวสารของประชาชน เพื่อการพัฒนาด้านต่างๆ และส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึงและเพียงพอ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ใน พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๔๓
2.3 ควรกำหนดสัดส่วนในการจัดสรรคลื่นความถี่ที่เหมาสมระหว่างผู้ประกอบการภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยจะต้องจัดให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบ ในกรณีที่ภาคประชาชนยังไม่มีความพร้อม ให้ กสช. ให้การสนับสนุนเพื่อให้ภาคประชาชนมีโอการใช้คลื่นความถี่ในสัดส่วนตามที่กำหนด เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ใน พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๔๓
2.4 ควรกำหนดให้มีการสนับสนุนให้ตัวแทนประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ ในจังหวัดมีการรวมกลุ่มกันเพื่อเสนอแนะความเห็นแก่ กสช. ในการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของ กสช. เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ใน พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๔๓
2.5 เพื่อประโยชน์ในการจัดสรรคลื่นความถี่ให้ภาคประชาชนได้ใช้และสนับสนุนการใช้คลื่นความถี่ของภาคประชาชน ให้ กสช. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับลักษณะของภาคประชาชนที่พึงได้รับการจัดสรรและสนับสนุนให้ใช้คลื่นความถี่ รวมทั้งลักษณะการใช้คลื่นความถี่ที่ได้รับจัดสรร โดยอย่างน้อยภาคประชาชนนั้นต้องดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะและไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ใน พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๔๓
2.6 ควรคงการกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ต้องประกอบกิจการด้วยตนเอง จะมอบการบริหารจัดการทั้งหมดหรือบางส่วนหรือยินยอมให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีอำนาจประกอบกิจการแทนมิได้เอาไว้ เนื่องจากหากไม่มีข้อกำหนดแล้ว จะนำไปสู่การที่ผู้ถือครองคลื่นความถี่อยู่เดิมจะใช้คลื่นความถี่ในการหาประโยชน์ (เช่าช่วง/กินหัวคิว) ได้ดังเดิม และไม่คืนคลื่นความถี่ ทำให้การปฏิรูปสื่อรอบใหม่ไม่สามารถทำได้
การกำหนดข้อยกเว้นในการเช่าช่วงเวลา ให้ กสช. ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างหลากหลาย รอบด้าน ทั่วถึง และเพียงพอ โดยให้นำความเห็นนั้นมาใช้เป็นแนวทางในการจัดทำกติกา โดยเห็นควรให้มีการจัดสรรเวลาให้ผู้ผลิตรายการภายนอก ในส่วนของผู้ผลิตรายการรายย่อย, ผู้ผลิตรายการอิสระ, ผู้ผลิตรายการเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ประเด็นที่ 3 การกำหนดให้กิจการการบริการชุมชนสามารถหารายได้ ต้องเปลี่ยนเป็น ลักษณะการประกอบกิจการบริการชุมชน
เสนอให้ตัดมาตรา 45 ของร่าง พรบ. ฉบับนี้ออก เนื่องจาก การประกอบกิจการและการหารายได้ ของการประกอบกิจการบริการ ชุมชนไม่ควรมีโฆษณา เพื่อให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์มาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญ 2550 และสอดคล้องกับมาตรา 21 ของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ พ.ศ. 2551 ที่กำหนดว่า ในการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนจะหารายได้จากการโฆษณาไม่ได้
เสนอให้ตัดข้อกำหนดที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างเหนียวแน่นกับภาคการเมืองระดับท้องถิ่น ทำหน้าที่ตรวจสอบและติดตามการทำงานของวิทยุชุมชน เพราะจะเป็นการเปิดช่องให้การเมืองท้องถิ่นแทรกแซงการดำเนินการสื่อสาธารณะระดับชุมชน
เสนอให้ตัดมาตรา 45 ของร่าง พรบ. ฉบับนี้ออก เนื่องจาก การประกอบกิจการและการหารายได้ ของการประกอบกิจการบริการ ชุมชนไม่ควรมีโฆษณา เพื่อให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์มาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญ 2550 และสอดคล้องกับมาตรา 21 ของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ พ.ศ. 2551 ที่กำหนดว่า ในการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนจะหารายได้จากการโฆษณาไม่ได้
เสนอให้เปลี่ยนกลับไปใช้วรรคสุดท้ายของมาตรา 26 พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2543 ที่กำหนดว่า “เพื่อประโยชน์ในการจัดสรรคลื่นความถี่ให้ภาคประชาชนได้ใช้และการสนับสนุนการใช้คลื่นความถี่ของภาคประชาชน ให้ กสช. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับลักษณะของภาคประชาชนที่พึงได้รับการจัดสรรและสนับสนุนให้ใช้คลื่นความถี่ รวมทั้งลักษณะการใช้คลื่นความถี่ที่ได้รับจัดสรร โดยอย่างน้อยภาคประชาชนนั้นต้องดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะและไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ”
ประเด็นที่ 4 กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงฯ
ควรกำหนดให้มีกองทุนที่สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 305 (1) ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่กำหนดให้มีการจัดให้มี “กองทุนวิจัยพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร” และ “กองทุนส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ” ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
ประธานคณะกรรมการ กสช. ไม่ควรเป็นคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ในเวลาเดียวกัน กรรมการกองทุนควรมาจากองค์ประกอบที่หลากหลายจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีสัดส่วนจากภาคสังคมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
ประเด็นที่ 5 การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการ ดำเนินการและการบริหารงานของ กสช. ประธานและกรรมการในคณะกรรมการ กสช. ไม่สมควร เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบประเมินผลองค์กรที่ตนเองปฎิบัติหน้าที่อยู่ เพราะขัดต่อหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใสในการทำงานขององค์กรอิสระ
การแต่งตั้งถอดถอน ต้องกำหนดให้ดำเนินการโดยหน่วยงาน/องค์กรอิสระที่เป็นตัวแทนของภาคประชาชน ที่ได้รับความเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับจากสังคม ดำเนินการโดยเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ เช่น สว. ฯลฯ โดยต้องเปิดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วม/การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนประกอบกระบวนการดังกล่าว
กสช. ต้องสนับสนุนให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการทำงานของ กสช. โดยอย่างน้อย ต้องกำหนดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนที่หลากหลาย อย่างทั่วถึงและเพียงพอ โดยต้องมีกระบวนการนำความคิดเห็นที่ได้จากการรับฟัง มาเป็นข้อมูลประกอบเพื่อปรับปรุงแนวทางการทำงานของ กสช. ด้วย
ประเด็นที่ 6 ความสัมพันธ์กับรัฐบาลและรัฐสภา
หน้าที่ในการบริหารคลื่นความถี่ กิจการวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ควรเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระที่ต้องดำเนินการด้วยตนเอง มิใช่มอบอำนาจดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรี เพราะจะทำให้องค์กรอิสระไม่สามารถดำเนินการได้โดยอิสระอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการถูกแทรกแซง/ครอบงำจากภาคการเมืองและธุรกิจการเมือง
การกำหนดนโยบาย/การทำสัญญาระหว่างประเทศ ในกิจการวิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ที่มีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ/ภาคสังคม ต้องจัดมีกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามบทบัญญัติมาตรา 57 วรรค 1 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 จากภาคประชาชน กลุ่มองค์กรภาคสังคมที่เกี่ยวข้องอย่างหลากหลาย รอบด้าน ทั่วถึง และเพียงพอ ก่อนดำเนินการ โดยต้องมีกระบวนการนำความคิดเห็นที่ได้จากการรับฟังดังกล่าว มาเป็นข้อมูล/แนวทางประกอบการจัดทำนโยบายดังกล่าวด้วย
ประเด็นที่ 7 บทกำหนดโทษ
บทกำหนดโทษ ควรมีการแยกแยะให้เหมาะสมกับประเภทและขนาดของกิจการ รวมถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อสังคม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการทั้งภาคบริการสาธารณะและธุรกิจเอกชน ขนาดใหญ่ กลาง และขนาดเล็ก
ประเด็นที่ 8 บทเฉพาะกาล
ควรกำหนดให้มีบทบัญญัติว่าด้วยการป้องกันการทิ้งทวนสัมปทาน เช่นเดียวกับที่เคยได้มีการบัญญัติไว้ในมาตรา 80 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ปี 2543
ควรตัดบทเฉพาะกาลมาตรา 76 – ว่าด้วยเรื่องกำหนดให้ผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมออก เพราะถือเป็นการนิรโทษกรรมผู้ที่ถือครองและใช้ประโยชน์คลื่นความถี่หรือประกอบกิจการวิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายก่อนหน้านี้ ให้สามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายฉบับนี้
• แนวทางการดำเนินการต่อ บ. อสมท. จำกัด (มหาชน); ที่ผ่านมา อสมท.ได้แปรรูปเป็นองค์การมหาชน โดยนำคลื่นความถี่ซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะ ประกอบด้วยคลื่นความถี่ฟรีทีวี 2 ช่อง เคเบิลทีวี 1 ช่อง และคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงกว่า 60 คลื่นในเครือข่าย อสมท. ออกไปเป็นกิจการของเอกชน ดังนั้น จึงต้องมีการทบทวนและดำเนินการในลักษณะการแปรสัญญาสัมปทาน และต้องดำเนินเพื่อรักษาคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์ดังกล่าว ให้ยังคงเป็นสมบัติสาธารณะของชาติต่อไป
เสนอให้ตัดบทเฉพาะกาลมาตรา 77 ว่าด้วยการดำเนินการของ บ.อสมท. จำกัด (มหาชน) ออก เพราะเป็นบทบัญญัติที่ไม่เป็นธรรมต่อ บ.อสมท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ประกอบการรายหนึ่ง ซึ่งควรได้รับสิทธิเท่าเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ
ข้อเสนอแนะอื่น ๆ
รัฐต้องดำเนินการตามมาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ว่าด้วยการจัดเวทีให้ความรู้และรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและกลุ่มองค์กรภาคสังคมที่หลากหลาย ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น อย่างทั่วถึงและเพียงพอ และนำข้อมูลที่ได้รับไปใช้ประกอบการจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้
พันธกิจขององค์กรอิสระด้านคลื่นความถี่และกิจการวิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ควรคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งด้านสิทธิการสื่อสารของประชาชน การศึกษา ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เด็ก เยาวชน ครอบครัว ผู้ด้อยโอกาส ผู้บริโภค ฯลฯ
ในคณะกรรมการ กสช. ควรมีสัดส่วนของผู้แทนจากกลุ่มองค์กรภาคสังคมที่หลากหลาย ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งด้านสิทธิการสื่อสารของประชาชน การศึกษา ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เด็ก เยาวชน ครอบครัว ผู้ด้อยโอกาส ผู้บริโภค ฯลฯ
ในกระบวนการทำงานของ กสช. ต้องจัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน กลุ่มองค์กรภาคสังคม อย่างน้อยในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. สัดส่วนของภาคประชาชน กลุ่มองค์กรภาคสังคมในคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ
2. ในการจัดทำนโยบาย แนวทางการพัฒนาการดำเนินงาน ตลอดจนการติดตามตรวจสอบประเมินผลการทำงานของ กสช. ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มองค์กรภาคสังคมที่หลากหลาย ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งด้านสิทธิการสื่อสารของประชาชน การศึกษา ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เด็ก เยาวชน ครอบครัว ผู้ด้อยโอกาส ผู้บริโภค ฯลฯ
ที่มา : องค์กรด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว และเครือข่าย
update 24-07-51