พม.ปลุกกระแสผู้ชาย ต้านรุนแรงเด็กสตรี
ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ
แฟ้มภาพ
อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เดินสายประชาสัมพันธ์การจัดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ภายใต้แนวคิด "He For She ปรับพฤติกรรม เปลี่ยนความคิด ยุติความรุนแรง"
นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ เดินสายเยื่ยมสื่อมวลชน เนื่องในเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว เพื่อประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมสร้างกระแสสังคม ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ ภายใต้แนวคิด "He For She ปรับพฤติกรรม เปลี่ยนความคิด ยุติความรุนแรง" และขอบคุณสื่อมวลชนที่ร่วมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานด้านสตรีและครอบครัวมาอย่างต่อเนื่อง
นายเลิศปัญญา กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.42 เห็นชอบให้เดือน พ.ย. ของทุกปีเป็น "เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี" จึงได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมสนับสนุนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อปรับเปลี่ยนเจตคติคนในสังคม และให้ประชาชนได้เข้าใจและเข้าถึงสิทธิของตนเองในการใช้กฎหมาย และการเข้าถึงกระบวนการช่วยเหลือ
สำหรับในปีนี้ การรณรงค์เน้นให้คนในสังคมตระหนักถึงปัญหาความรุนแรง โดยเฉพาะเรื่องการปรับเจตคติของคนในสังคม ให้ได้เห็นว่าผู้ชายก็สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีได้ ในการไม่ใช้ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี หรือคนในครอบครัว โดยไม่ได้มุ่งเป้าว่าผู้ชายเท่านั้นที่เป็นผู้กระทำ ถึงแม้ข้อมูลในปีนี้จะพบว่า ผู้กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่มักเป็นผู้ชาย (ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.violence.in.th) ซึ่งก็มีผู้ชายจำนวนไม่น้อยที่เป็นสุภาพบุรุษ อีกทั้งยังเป็นผู้ที่ช่วยเหลือสังคมในการช่วยแก้ปัญหาความรุนแรง
โดยกิจกรรมในเดือนนี้ สค. กำหนดจัดงานรณรงค์ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ มีกิจกรรมสำคัญและต่อเนื่องกัน คือ ในวันที่ 23 พ.ย. 61 เวลา 08.30-11.30 น. พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด และ "ประกาศเจตนารมณ์ในการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ" ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล และในวันที่ 25 พ.ย.61 เวลา 13.00-18.30 น. จัดกิจกรรมขบวนเดินรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ แบ่งออกเป็น 4 ขบวน
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนทุกคนให้แสดงพลังด้วยการ "ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ" และขอให้ทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองที่ดี ซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ได้กำหนดเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่เป็นผู้พบเห็นความรุนแรง หรือถูกกระทำความรุนแรง ให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปลัดอำเภอ หรือกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน หรือแจ้งผ่านช่องทางระบบ OSCC ศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร. 1300 ซึ่งสามารถโทรได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอด 24 ชม.