พม.จับมือ สสส.ลุยแก้วิกฤติสังคม

สู้ปัญหาทำแท้ง-หย่าร้าง-ยาเสพติด

 

 

 พม.จับมือ สสส.ลุยแก้วิกฤติสังคม

 

          ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยนำไปสู่การตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย ปัญหาการทำแท้งและติดเชื้อเอชไอวี ภายในระยะเวลาเพียง 8 ปีระหว่างปี 2544 – 2552 มีวัยรุ่นตั้งครรภ์ก่อนวัยเพิ่มขึ้นจาก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็น 40 เปอร์เซ็นต์” ทพ.กฤษดา เรืองอารีรัชต์ ผู้จัดการสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกถึงปัญหาวัยรุ่นที่กำลังเป็นกระแสสังคมในขณะนี้

 

          ปัญหาท้องไม่พร้อม เป็นหนึ่งใน 6 วิกฤติปัญหาที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้ ได้แก่ ความรุนแรงในเด็ก ปัญหาการบริโภคสื่อและเทคโนโลยีที่ไม่สร้างสรรค์ พบว่า ใน 40 เว็บไซต์ยอดนิยมมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาเสพติด ในแต่ละปีจะมีนักดื่มหน้าใหม่เกิดขึ้น 2.6 แสนคน ปัญหาอุบัติเหตุและปรากฏการณ์รถซิ่ง ทำให้ในปี 2552 มีเด็กและเยาวชนเสียชีวิตถึง 10 ต่อราย

 

          ปัญหาต่อมาทางด้านอารมณ์และจิตใจ ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมซึมเศร้าและทำร้ายตัวเอง ขณะเดียวกันสถาบันครอบครัวไทยกำลังเผชิญการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้น สัมพันธภาพของคนในครอบครัวลดลง นอกจากนี้ยังพบคนกลุ่มเฉพาะ ที่ต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ โดยเพิ่มจำนวนเด็กและผู้สูงอายุที่เข้ารับการสงเคราะห์ในสถานสงเคราะห์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากรายงานของยูนิเซฟพบว่าจำนวนแม่วัยรุ่นไทยต่ำกว่า 20 ปีสูงถึง 150,000 คน

 

          จากปัญหาดังกล่าวหน่วยงาน สสส. ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อจะขับเคลื่อนและพัฒนาสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 

          พนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ทิศทางในการขับเคลื่อนและพัฒนาสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านความร่วมมือระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กับ สสส. ในการทำงาน 4 ด้าน คือ

 

          1. ความร่วมมือระดับกระทรวง การส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับผู้บริหารและการพัฒนาศักยภาพผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมร่วมกัน

 

          2. ความร่วมมือส่วนราชการระดับกรมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน ครอบครัว ชุมชน

 

          3. ความร่วมมือระดับพื้นที่ โดยนำประเด็นข้อตกลงจากระดับกรม ลงไปปฏิบัติการในระดับพื้นที่

 

          4. ความร่วมมือในการจัดให้มีคณะกรรมการเพื่อวางแนวทาง

 

          สสส. มีทีมวิชาการรวบรวมข้อมูลด้านสังคม ภาคประชาชนที่เหนียวแน่นอยู่แล้ว และมีทีมงานคนรุ่นใหม่เป็นจุดแข็งที่จะมาแลกเปลี่ยนวิธีการทำงาน” ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุ

 

 พม.จับมือ สสส.ลุยแก้วิกฤติสังคม

 

          ด้านนายปัญญา เลิศไกร รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนการทำงานด้านครอบครัว ผ่านคณะกรรมการด้านครอบครัวและท้องถิ่น ได้วางเป้าหมายการทำงานด้านครอบครัวให้เกิดรูปธรรม คือ การพัฒนาศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนให้เข้มแข็ง ครบวงจร โดยทิศทางใหม่ของศูนย์พัฒนาครอบครัวจะดูแลคนในชุมชน ทั้งในด้านครอบครัว สตรี ผู้สูงอายุแม่วัยรุ่น งานสวัสดิการชุมชน ผู้พิการ รวมถึงเด็กและเยาวชน โดยจะเริ่มต้นในปีนี้ จำนวน 300 ศูนย์ทั่วประเทศ และจะขยายผลให้เกิดคนทำงานครอบครัวที่เข้มแข็งในทุกศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน ภายใน 5 ปี ซึ่งประโยชน์ของศูนย์พัฒนาครอบครัว จะเปรียบเสมือนหน่วยให้คำปรึกษาด้านครอบครัว เพื่อลดปัญหาการหย่าร้าง

 

          รวมถึงประเด็นอื่นๆ ในชุมชนและการส่งเสริมศูนย์การจัดการความรู้เพื่อสุขภาวะครอบครัว ที่มีความรู้และกระบวนการพัฒนาศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน ซึ่งปัจจุบัน มีทั้งสิ้น 11 กลุ่มโดยจะมีการขยายศูนย์การจัดการความรู้เพื่อสุขภาวะครอบครัวให้ครอบคลุมทุกจังหวัดภายใน 5 ปี

 

          พุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวว่า ในคณะทำงานกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ โดยมีเป้าหมายของการทำงานร่วมกัน 2 ด้านที่สำคัญคือ 1. กลุ่มอาสาสมัคร โดยจะทำให้เกิดความหลากหลายทั้งอาชีพและสถานภาพทางสังคมพร้อมทั้งการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัคร และ 2.การแก้ไขปัญหาแม่ในวัยรุ่น ซึ่งมีการสร้างรูปแบบการทดลองขึ้นมาที่เรียกว่า โมเดลเครือข่าย (Choice Network) หรือกลุ่มทางเลือกที่มีปัญหา เช่น เด็กถูกละเมิด สุขภาวะทางเพศ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เด็กติดเอดส์ ซึ่งต้องมีระบบเชื่อมโยงและมีหน่วยงานรับรอง

 

          ขณะที่ สมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพ และพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ กล่าวว่า จะผลักดันให้เกิดสภาเด็กและเยาวชนในระดับตำบล เป็นกลไกภาคเด็ก เพื่อให้เกิดความสามารถจัดการและแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง เพราะปัจจุบันมีหลายจังหวัดไม่มีการตั้งสภาเด็กระดับจังหวัด จะเร่งผลักดันตรงนี้ด้วยรวมถึงการพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ของเด็กในการพัฒนาท้องถิ่นนั้นโดยตรง ซึ่งจะมีการนำร่องใน 5 จังหวัด นอกจากนี้จะมีการพัฒนางานเชิงวิชาการในการประเมินสถานการณ์เด็กและเยาวชน เพื่อได้รู้ข้อมูลในการแก้ไขปัญหาสังคมในระดับประเทศ

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

 

 

Update : 12-12-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : กิตติภานันทร์ ลีจันทึก

 

Shares:
QR Code :
QR Code