พบ 5 กลุ่มโรคหลักก่อปัญหาสุขภาพจิตคนไทย
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
แฟ้มภาพ
กรมสุขภาพจิตแจงพบ 5 กลุ่มโรคหลักก่อปัญหาสุขภาพจิตคนไทยสูงถึง 7 ล้านคน คาดแนวโน้มมากขึ้นโดยเฉพาะ“เหล้า-ยาเสพติด”
กรมสุขภาพจิต เผยสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตคนไทยอายุ 18 ปีขึ้นไป พบป่วยประมาณ 7 ล้านกว่าคน สาเหตุมาจาก 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท วิตกกังวล ความบกพร่องทางสติปัญญา และผลแทรกซ้อนมาจากสิ่งเสพติด คาดในอนาคตปัญหาจะมากขึ้น โดยเฉพาะจากเหล้า ยาเสพติด ให้ศูนย์สุขภาพจิต 13 ศูนย์ทั่วไทยเร่งส่งเสริมป้องกันทุกกลุ่มวัย เพื่อมุ่งตอบโจทย์ให้คนไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0 มีสุขภาพจิตดี มีความสุข และใช้องค์ความรู้ด้านสุขภาพจิตมาใช้แก้ปัญหาโรคทางกายเช่นการใช้กระบวนการให้คำปรึกษาแบบมีทิศทาง แก้ปัญหาผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมระดับความดันโลหิตไม่ได้ ได้ผลสูงถึงร้อยละ 74 สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโรคอื่นๆเช่น เบาหวาน วัณโรค เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาดีขึ้น
วันนี้ ( 18 กรกฎาคม 2560 ) ที่โรงแรมเอวัน เดอะรอยัลครูซ พัทยา จ.ชลบุรี นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลการสำรวจสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตเมื่อพ.ศ.2556 ซึ่งสำรวจทุก5 ปี พบว่าคนไทยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปมีปัญหาสุขภาพจิตประมาณ 7 ล้านคน พบใน 5 กลุ่มโรค ประกอบด้วย 1. กลุ่มโรคซึมเศร้า 2. กลุ่มที่มีภาวะจิตผิดปกติซึ่งเรียกว่าโรคจิตเภท 3.กลุ่มที่มีความวิตกกังวล 4. กลุ่มที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาหรือพิการทางสมองตั้งแต่กำเนิด และ 5.กลุ่มที่มีปัญหาแทรกซ้อนจากสิ่งเสพติดเช่น แอลกอฮอล์ ยาเสพติด ปัญหาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจเมื่อพ.ศ. 2551 แต่แนวโน้มผลจากการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าเรื่องเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต คาดว่าปัญหาสุขภาพจิตจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหายาเสพติดและแอลกอฮอล์
อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้ให้ศูนย์สุขภาพจิตที่มี13 ศูนย์ทั่วประเทศ ร่วมมือกับเขตสุขภาพต่างๆ ดำเนินการใช้มาตรการเชิงรุกในการส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิต เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพจิตดี มีความสุข รองรับประเทศไทยยุค 4.0 ซึ่งเป็นสังคมที่มีความเจริญมีเทคโนโลยีความทันสมัยด้านต่างๆ โดยเน้นการตรวจคัดกรองหาผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต เพื่อให้ได้รับการดูแลส่งเสริมอย่างเหมาะสมครอบคลุมทุกกลุ่มวัย การให้ความรู้สร้างความตระหนักและความเข้าใจต่อปัญหาสุขภาพจิต รวมทั้งการใช้องค์ความรู้ด้านสุขภาพจิตแก้ปัญหาโรคเรื้อรังด้วย เช่น มีผลการวิจัยของรพ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เมื่อพ.ศ.2558-2559 พบว่าการใช้กระบวนการทางจิตวิทยาคือการให้คำปรึกษาแบบมีทิศทาง ( Motivational counseling :MC) สามารถสร้างแรงจูงใจให้ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่มีปัญหาควบคุมความดันโลหิตไม่ได้ซึ่งมีประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วย มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้สูงถึงร้อยละ 74 ซึ่งผลวิจัยนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโรคอื่นได้เช่นโรคเบาหวาน ผู้ป่วยจิตเวช วัณโรค โรคเอชไอวี เป็นต้น เป็นผลดีต่อการแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศได้ โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการรักษาให้ผลดียิ่งขึ้น
ด้านนางธิดา จุลินทร ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 4 กล่าวว่า ศูนย์สุขภาพจิตที่ 4 ดูแลเขตสุขภาพที่4ประกอบด้วย 8 จังหวัดได้แก่นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นครนายก สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรีและสระบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งยังเป็นเขตชนบทและ มีนิคมโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายแห่ง มีสถานประกอบการประมาณ 15,000 แห่ง มีประชากรรวมทั้งตามทะเบียนราษฎร์และประชากรแฝงประมาณ 7 – 8 ล้านคน ส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ เช่น วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 19 ปีตั้งครรภ์ซ้ำร้อยละ 17.59 สูงกว่าเป้าหมายประเทศคือไม่เกินร้อยละ 10 และมีปัญหาการเลี้ยงดูลูก ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้สารเสพติด มีปัญหาเศรษฐกิจ รวมทั้งผู้สูงอายุฆ่าตัวตาย 6.79 ต่อประชากรแสนคน เป็นต้น ศูนย์ฯได้วางแผนสร้างความรอบรู้สุขภาพทั้งกายและจิต ( Health Literacy) ให้ประชาชน ในปี 2560-2561 เริ่ม 3 เรื่องก่อน ได้แก่กลุ่มโรคเรื้อรัง เช่นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคซึมเศร้า ซึ่งปัญหาของอารมณ์ซึมเศร้าจะทำให้ผู้ป่วยขาดความสนใจดูแลตัวเอง ส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาไม่ดี เช่นในผู้ป่วยโรคหัวใจ หากมีอาการซึมเศร้า จะเกิดการหลั่งฮอร์โมนที่มีชื่อว่าคอร์ติซอล ( Cortisol) ทำให้เลือดข้น หัวใจทำงานหนัก เสี่ยงเกิดหัวใจวายได้
เรื่องที่ 2 ได้แก่การป้องกันแม่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 19 ปี ซึ่งจะมีผลต่อการเลี้ยงดูและพัฒนาการของเด็กล่าช้า และเรื่องที่ 3 คือกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งจะเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศในอนาคตและมักจะพบโรคซึมเศร้าด้วย จะเน้นเรื่องความสุข 5 มิติ และการเฝ้าระวังด้วยหลัก 3 ส. โดยดำเนินการ 6 ด้าน ได้แก่ 1. การเข้าถึงข้อมูลและบริการสุขภาพ 2. ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น 3. เพิ่มทักษะการสื่อสารแก่บุคลากร อสม. 4.ให้ความรู้ประชาชนให้เกิดทักษะการตัดสินใจว่าอาการอย่างไรจึงต้องไปพบแพทย์ 5. การจัดการตนเองเมื่อไม่สบาย และ 6. การรู้เท่าทันสื่อโดยจะมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้ประชาชนใช้คัดกรองความเครียดและอาการซึมเศร้าผ่านทางมือถือด้วยตนเอง เพื่อตรวจประเมินสภาพจิตใจตัวเองเบื้องต้น และจัดทำคำแนะนำให้ประชาชน พร้อมช่องทางในการรับบริการด้วย