พบ ความมั่นคงทางอาหารไทยวิกฤติ
ชี้ เกษตรกรแห่ปลูกพืชพลังงาน 3 ใน 4 ของพื้นที่ กระทบอัตรากินผักผลไม้เข้าขั้นวิกฤต และนำเข้าสารเคมีเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน ส่งผลให้แนวโน้มการป่วยโรคเรื้อรังสูงขึ้น ถือเป็นภัยเงียบที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มูลนิธิชีววิถี ร่วมกับแผนงานความมั่งคงทางอาหาร จัดงานสมัชชาวิชาการความมั่นคงทางอาหารของประเทศและชุมชน
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผอ.สำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากพื้นที่การเกษตรเกิดความสูญเสียอยู่ตลอด นอกจากนี้ ปัจจุบันไทยมีอัตราการนำเข้าสารเคมีเป็นลำดับหนึ่งในอาเซียนและมีปริมาณการใช้สารเคมีใกล้เคียงกับประเทศจีน ทั้งนี้ผลจากการใช้สารเคมีจำนวนมากทำให้เมื่อตรวจวัดเลือดของเกษตรกร พบว่าปริมาณสารเคมีในเลือดสูงกว่ามาตรฐานจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค สอดคล้องกับอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่พบได้มากขึ้นอีกด้วย
“ความมั่นคงทางอาหารถือเป็นดัชนีชี้วัดหนึ่งเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ โดยมาตรการเพื่อสร้างความมั่นคงของประเทศจำเป็นต้องดูทั้งระบบเพื่อทำให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน” รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว
นายเดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงนโยบายพลังงานและการคุกคามพื้นที่ทางอาหาร ว่า ปัจจุบันพบกลุ่มพืชพลังงาน เช่น ปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา มีพื้นที่การเพาะปลูกเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 34 ขณะที่ข้าวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 12 ซึ่งเกิดจากปริมาณความต้องการและการส่งออกที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากการเก็บข้อมูลระหว่างปี 2553-2555 พบว่าพื้นที่การปลูกพืชประเภทผลไม้ลดลงประมาณ 3 แสนไร่ โดยการลดลงดังกล่าวจะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารอย่างมาก และเมื่อดูปริมาณการบริโภคผัก ผลไม้ พบว่าผู้ชายไทยร้อยละ 81 และผู้หญิงไทยร้อยละ 76 บริโภคผักผลไม้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
“พื้นที่ปลูกผักผลไม้ที่ลดลงจะกระทบต่อจำนวนการกินผักผลไม้คนไทย เพราะทำให้ราคาสูงขึ้น ในขณะที่เกษตรกรได้เงินน้อยเหมือนเดิม จึงเปลี่ยนไปเพาะปลูกพืชพลังงานแทน ปัจจุบันพบว่า พื้นที่ 3 ใน 4 ของภาคใต้ปลูกพืชพลังงาน ทำให้อัตราการผลิตอาหารพอเพียงต่อครัวเรือนมีเพียง 2 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช และพัทลุง ที่ปลูกข้าวได้เพียงพอสำหรับคนในพื้นที่ ทำให้คนภาคใต้ต้องจ่ายเงินซื้ออาหารรองจากคนกรุงเทพฯ ซึ่งกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบคือคนรายได้น้อย ความมั่นคงทางอาหารจึงถือเป็นภัยเงียบ” นายเดชรัต กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ