พบไวรัสตับอักเสบคุกคามคนทั่วโลก ไทยติดเชื้อ 5%
ไวรัสตับอักเสบลามทั่วโลก ป่วยเรื้อรังแล้วกว่า 500 ล้านคน ประเทศไทยคาดติดเชื้อ 5%ของประชากร แนะฉีดวัคซีนตับอักเสบบีป้องกันก่อนติดเชื้อ หากมีคนในครอบครัวป่วยโรคตับควรรีบไปตรวจเช็ก ชี้หากติดเชื้อแล้วจะไม่มีการแสดงอาการ กว่าจะรู้ตัวก็เป็นระยะสุดท้ายแล้ว ย้ำเมื่อติดเชื้อต้องดูแลสุขภาพ ห้ามดื่มเหล้า กินอาหารเสริมทำลายตับ
เมื่อวันที่ 26 ก.ค. เวลา 08.00 น. ที่ตึกสยามินทร์ โรงพยาบาลศิริราช รศ.นพ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และอุปนายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย กล่าวในงานวันรักษ์ตับโลก “วายร้าย ไวรัสตับอักเสบบี” ว่า สถานการณ์ไวรัสตับอักเสบบีและซีทั่วโลกขณะนี้ มีผู้ป่วยเรื้อรังกว่า 500 ล้านคน จำนวนนี้กว่าร้อยละ 75 เป็นคนเอเชีย โดยเฉพาะจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับประเทศไทยคาดว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีประมาณร้อยละ 5 ของประชากร
โดยกลุ่มอายุที่น่าเป็นห่วงคือ คนที่มีอายุ 20-25 ปีขึ้นไป เนื่องจากรัฐบาลมีวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีฉีดให้แก่เด็กแรกคลอดเมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ซึ่งสามารถช่วยป้องกันไวรัสตับอักเสบบีได้มากกว่า 95% ตลอดชีวิต สำหรับผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนตับอักเสบบีและยังไม่เคยติดเชื้อ หากฉีดครบ 3 เข็มตามที่กำหนดก็จะสามารถป้องกันได้เช่นกัน ส่วนไวรัสตับอักเสบซีแม้จะยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ไม่ใช่ไวรัสที่ติดกันได้โดยง่าย แต่จะติดผ่านการรับเลือด โดยเฉพาะผู้ที่เคยได้รับเลือดก่อนปี 2538 เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งคาดว่าผู้ที่ได้รับเลือดก่อนปี 2538 จะมีประมาณร้อยละ 1 ของประชากร หรือประมาณ 5-6 แสนคน ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ทั้งนี้ หากปล่อยให้เป็นไวรัสตับอักเสบบีและซีอย่างเรื้อรัง ตับจะถูกทำลายไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็นตับแข็งและโรคมะเร็งตับในที่สุด
“การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีส่วนใหญ่จะติดจากมารดาสู่ทารกในระหว่างคลอด ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ ยังสามารถติดได้จากการมีเพศสัมพันธ์ร่วมกัน จากการสัมผัสเลือด เช่น การใช้อุปกรณ์มีคมร่วมกัน แต่ไม่มีการติดต่อทางการสัมผัสใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนไวรัสตับอักเสบซี ส่วนใหญ่ติดต่อจากเลือดที่ปนเปื้อเชื้อไวัรสเข้าสู่บาดแผลโดยตรง”
รศ.นพ.ทวีศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน ไวรัสตับอักเสบบีถือเป็นภัยเงียบ เนื่องจากเมื่อได้รับเชื้อแล้วจะไม่มีสัญญาณแสดงอาการ แม้ว่าจะเป็นแบบเรื้อรังจนตับจะถูกทำลายไปมากถึง 5 ใน 6 ส่วน แต่ตับก็ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัว ไม่ให้ความสำคัญ และไม่ไปพบแพทย์ ซึ่งกว่าจะรู้ตัวก็มักเป็นระยะสุดท้ายแล้ว โดยมีอาการดีซ่าน ท้องมาน ขาบวม บางรายอาจมาด้วยอาการปวดท้องบริเวณชายโครงขวาจากมะเร็งตับ ซึ่งหากเป็นในระยะนี้จะสามารถมีชีวิตอยู่ได้อีกประมาณ 3-6 เดือนเท่านั้น
ดังนั้น ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ควรได้รับการตรวจเลือด เพื่อติดตามการทำงานของตับอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งแพทย์จะให้การรักษาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละราย ในผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีอาจใช้ยาต้านไวรัสฉีดเข้าใต้ผิวหนังหรือยารับประทาน ซึ่งมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพดีในการรักษา ส่วนผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี ปัจจุบันสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาฉีดร่วมกับยารับประทาน ทั้งนี้ การรักษาทั้งไวรัสตับอักเสบบีหรือซี สามารถใช้สิทธิการรักษาพยาบาลได้ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพคือ สวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำหรับผู้ที่ควรไปตรวจไวรัสตับอักเสบบีคือ มีคนในครอบครัวมีประวัติโรคตับ โดยเฉพาะญาติฝ่ายแม่
“ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบทุกรายควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง งดการทำลายตับ เช่น ดื่มสุรา การรับประทานอาหารเสริมหรือสมุนไพรต่างๆ เพื่อหวังผลบำรุงสุขภาพหรือล้างพิษตับ รวมไปถึงการสักต่างๆ แม้จะมีการใช้แอลกอฮอล์เช็ดเข็มก็ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ เมื่อไปพบแพทย์ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เพื่อให้แพทย์มีความระมัดระวังในการจ่ายยา ที่สำคัญควรเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งตับแทรกซ้อนด้วยการตรวจโดยเครื่องอัลตราซาวนด์อย่างสม่ำเสมอทุก 6 เดือน” รศ.นพ.ทวีศักดิ์ กล่าวและว่า เรื่องการรักษาที่มีข้อสงสัยว่าเหตุใดแพทย์จึงไม่ให้ยา ตรงนี้ต้องดูภูมิต้านทานของตับ เนื่องจากแต่ละคนมีภูมิต้านทานที่ต่างกัน ต้องประเมินด้วยว่าให้ยารักษาแล้วจะเป็นผลดีต่อผู้ป่วยหรือไม่
วันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายสุรชัย เบ้าจรรยา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวแถลงข่าว “การรณรงค์เนื่องในวันตับอักเสบโลก” ประจำปี 2556 ภายใต้คำขวัญ “ไวรัสตับอักเสบบี รู้ทัน ป้องกันรักษาได้” ว่า ไวรัสตับอักเสบบี เป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ผลสำรวจขององค์การอนามัยโลก พบว่า ประชากรโลกกว่า 240 ล้านคนป่วยไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง และมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 600,000 รายต่อปี องค์การอนามัยโลกได้ประกาศในการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลกว่า ให้ทุกประเทศดำเนินการควบคุมป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบอย่างบูรณาการ และกำหนดให้วันที่ 28 ก.ค.ของทุกปี เป็นวันตับอักเสบโลก สำหรับประเทศไทย สธ.มีการดำเนินนโยบายเพื่อป้องกันควบคุมโรคไวรัสตับอักเสบบี
โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการติดเชื้อ ลดการป่วยตาย และลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งตับ เช่น สนับสนุนการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีในหญิงตั้งครรภ์ การให้บริการวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีในเด็กเล็กและบุคลากรทางการแพทย์ สนับสนุนให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาและการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และผลักดันให้ประชาชนที่มีความเสี่ยงเข้าถึงการตรวจคัดกรอง
นายสุรชัย กล่าวอีกว่า การณรงค์ในวันตับอักเสบโลกปีนี้ สธ.ร่วมกับมูลนิธิโรคตับ และสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย โดย สธ.มอบหมายให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน จัดสัปดาห์รณรงค์ ระหว่างวันที่ 29 ก.ค. – 2 ส.ค. โดยให้ความรู้เกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบบีและบริการตรวจคัดกรองหาเชื้อแก่ประชาชนอายุ 20 ปีขึ้นไป ที่ไม่ทราบสถานการณ์ติดเชื้อของตน
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ซึ่งพบบ่อยเป็นอันดับต้นๆ ในคนไทย โดยคาดว่าคนไทยประมาณ 1-2 ล้านคนติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และจะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งตับราว 250,000 คนในอนาคต สำหรับไวรัสตับอักเสบบี มีวิธีการติดเชื้อคล้ายกับไวรัส hiv คือ ผ่านทางเลือดและสารคัดหลั่ง การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย และติดต่อจากแม่สู่ลูก โดยสามารถติดต่อได้ง่ายกว่าการติดเชื้อ hiv ถึง 100 เท่า และมีอัตราการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีสูงกว่าอัตราการติดเชื้อ hiv ในคนไทย ถึง 5 เท่า
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ได้แก่ 1.ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปหรือผู้ที่เกิดก่อนการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบีในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค 2.ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัว เช่น บิดา/มารดา สามี/ภรรยา ป่วยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี 3.ผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น 4.ชายรักร่วมเพศ 5.ผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นๆ และ 6.ผู้ที่มีคู่นอนหลายคนหรือผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ส่วนอาการของป่วยไวรัสตับอักเสบบี จะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง (ดีซ่าน) คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดท้อง (ตับ) หลายสัปดาห์ จากนั้นอาการจะหายไป บางคนจะกลายเป็นพาหะ ซึ่งต่อมามีโอกาสกลายเป็นโรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง จนเป็นตับแข็งหรือมะเร็งตับได้
ที่มา : เว็บไซต์ astv ผู้จัดการออนไลน์