พบโรคไอกรนคร่าเด็กทารก
ที่มา: เว็บไซต์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
หมอเผยสัญญาณอันตราย ปี 61 พบเด็กต่ำกว่า 3 เดือน ดับจากโรคไอกรนแล้ว 2 ราย
กรมควบคุมโรค พญ.ปิยนิตย์ ธรรมาภรณ์พิลาศ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โรคไอกรนจัดเป็นโรคที่ไม่อันตรายในเด็กโต และผู้ใหญ่ แต่เป็นอันตรายมากในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 3 เดือน เนื่องจากเป็นช่วงที่เด็กยังไม่ได้รับวัคซีน การให้วัคซีนเข็มแรกจะเริ่มที่อายุ 2 เดือน ส่วนเข็มต่อไปจะให้ที่อายุ 4 เดือน 6 เดือน ขวบครึ่งและ 4 ขวบ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาปกติแล้วเด็กแรกเกิดจะได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่ ซึ่งภูมิคุ้มกันจากแม่จะช่วยปกป้องทารกไปได้ประมาณ 6 เดือน ก็พอดีกับที่ได้รับวัคซีนพอดีเลยมีภูมิคุ้มกันโรค แต่ปัญหาคือ ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาเริ่มพบสัญญาณโรคไอกรนที่เป็นอันตรายกับเด็กเล็กเพิ่มขึ้นมีเด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือนเสียชีวิตจากโรคนี้ปี 2561 เสียชีวิตแล้ว 2 ราย ที่จ.นครศรีธรรมราช และอุตรดิตถ์
พญ.ปิยนิตย์ กล่าวต่อ ปัจจุบันจึงเริ่มพบสัญญาณโรคในเด็กเล็กซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันจึงได้มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรนในแม่ที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ ว่าจะบรรจุให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์หรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญเพราะประเทศไทยเน้นเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรค และวัคซีนนี้ก็จะช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ แต่ถ้าปล่อยให้ป่วยแล้วจะเสียค่ารักษามากกว่านี้
“โรคไอกรนเมื่อก่อนเรียกว่าโรคไอร้อยวัน เป็นการไอหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งหากเป็นในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ไม่อันตรายมากเพื่อท่อหายใจมีขนาดใหญ่แล้ว สามารถรับกับการไอหนักๆ ได้ แต่ถ้าเกิดในเด็กเล็กซึ่งหลอดลมเล็กมาก เมื่อไอหนักๆ ก็รับไม่ไหว ไอหนักจนตาแดง เลือดออกในตา อาเจียน หายใจไม่ออก เขียว และเสียชีวิตได้ ที่ผ่านมาต้องรักษาตามอาการ เช่นให้ยาปฏิชีวนะ ใส่ท่อช่วยหายใจ ให้ยาขยายหลอดลม ซึ่งเด็กต้องนอนที่รพ.นานเป็นเดือนๆ ถ้ารักษาหายก็กระทบกับพัฒนาการของเด็ก เรียกว่ารักษาหายได้แต่สะบักสะบอมมาก” พญ.ปิยนิตย์ กล่าว และว่า ในระหว่างที่ยังไม่อนุมัติให้วัคซีนหญิงตั้งครรภ์ ก็อยากเตือนคนที่มีลูกเล็กต่ำกว่า 2 เดือนที่ยังไม่ถึงวัยรับวัคซีนว่าไม่ควรให้เด็กไปสัมผัสกับคนมากๆ หลีกเลี่ยงคนที่มีอาการไอต่างๆ.