พบเด็ก อ.อุ้มผาง มีสารตะกั่วในเลือดสูงกว่า 60 %

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ เผยผลสำรวจเด็กในพื้นที่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก มีสารตะกั่วในเลือดสูงกว่า 60 % เร่งหาสาเหตุ หวั่นเด็กมีพัฒนาการถดถอยเสี่ยง iq ต่ำ 

พบเด็ก อ.อุ้มผาง มีสารตะกั่วในเลือดสูงกว่า 60 %

ที่สถาบันสุขภาพเด็กฯ พญ.นัยนา ณีศะนันท์ กุมารแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ในฐานะหัวหน้าคณะลงพื้นที่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก กล่าวว่า หลังจากพบข้อมูลเด็กพม่าในค่ายอพยพที่อยู่บริเวณชายแดนใกล้กับพื้นที่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก มีสารตะกั่วในเลือดสูง ทำให้สถาบันสุขภาพเด็กฯ กังวลว่าเด็กไทยในพื้นที่ใกล้เคียงอาจได้รับสารตะกั่ว จึงลงพื้นที่ไปสำรวจเมื่อปี 2553 พบว่าเด็กอายุระหว่าง 3-7 ปี จำนวน 220 คน มี 1 ใน 4 มีสารตะกั่วในเลือดเกินมาตรฐาน และในปี 2554 ได้ลงไปสำรวจเพิ่มในเด็กอายุ 1-2 ปี จำนวน 151 คน พบว่ากว่า 60% มีระดับสารตะกั่วในเลือด คือมากกว่า 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตรซึ่งเป็นปริมาณที่สูงเกินกว่าจะยอมรับได้ เพราะเด็กวัย 1-2 ปี เป็นกลุ่มเด็กที่เสี่ยงสูงสุดในการเกิดพิษจากสารตะกั่ว จะส่งผลให้เด็กมีการพัฒนาศักยภาพด้านสติปัญญาถดถอย และการเจริญเติบโตบกพร่องได้

“จากที่ได้ลงพื้นที่ยังพบอีกว่าบริเวณที่ไปสำรวจไม่มีโรงงานขนาดใหญ่ และไม่มีสิ่งที่จะเป็นต้นเหตุให้มีการฟุ้งกระจายของสารตะกั่ว แต่กลับพบว่า น้ำดื่ม และอาหาร บางครอบครัวมีการปนเปื้อน แต่บางครอบครัวไม่พบการปนเปื้อน ซึ่งต้องดูไปถึงการเลี้ยงดูลูก และสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยด้วยว่ามีความเสี่ยงอะไรที่เด็กได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย อย่างกรณีที่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร มีการทำเครื่องเบญจรงค์ ก็มีตะกั่วปนอยู่ในสี เด็กไม่รู้เรื่องก็นำไปเล่น เอาเข้าปากก็สามารถรับสารตะกั่วได้”

พญ.นัยนา กล่าวอีกว่า กรณีที่ อ.อุ้มผางยังหาคำตอบถึงสาเหตุที่ชัดเจนไม่ได้ โดยในปีงบประมาณ 2555 จะเร่งดำเนินการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อ.อุ้มผาง สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค และกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาในเด็ก เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนก่อนสรุปและหาทางแก้ปัญหา อย่างไรก็ตามการได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายสามารถรับเข้าไปได้หลายทาง แต่หากร่างกายของเด็กมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงก็จะสามารถขับสารตะกั่วออกมาได้ หากปล่อยปะละเลยก็จะมีการสะสมในกระดูก ในปอด อาจจะส่งให้เด็กมีอาการสมอง ปอดและเสียชีวิตได้ ดังนั้น ผู้ปกครองควรใส่ใจในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code