พบเด็กไทยเสียตัวชั่วข้ามคืนมากขึ้น!
เมินวัฒนธรรม แถมชอบใช้ความรุนแรง
อาจารย์ ม.ศรีปทุมวิจัยพบปัญหาเด็กไทยยุคใหม่ขาดศีลธรรม มองเก่งแล้วโกง ฉลาดแกมโกง เป็นเรื่องปกติ เมินวัฒนธรรมไทย ชอบเล่นพนัน ใช้ความรุนแรง เชื่อเซ็กส์ขายง่าย ส่งผลมีเซ็กส์กับคนแปลกหน้า เสียตัวชั่วข้ามคืนมากขึ้น
เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2552 ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม บรรยายพิเศษ เรื่อง ถอดรหัสปัญหาเด็กและเยาวชนไทยในมิติวัฒนธรรม จัดโดย ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมว่า ปัจจุบันปัญหาเด็กและเยาวชนไทยเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก จากผลการวิจัย พบว่า ปัญหาของเด็กและเยาวชนไทยในยุคโลกาภิวัฒน์ มี 5 มิติ ได้แก่
1. ปัญหาขาดศีลธรรมและรักษาวัฒนธรรมไทย ซึ่งผลการวิจัยระบุว่า เด็กไทยจะมีค่านิยมใหม่ คิดว่าถ้าเก่งแล้วโกง ฉลาดแกมโกง เป็นเรื่องที่ปกติธรรมดาคนไทยยอมรับได้ สภาพสังคมและวัฒนธรรมไทยเป็นเรื่องที่เชย การพูดไทยคำอังกฤษคำเป็นเรื่องที่เด็กไทยนิยม
2. เรื่องการบริโภค เด็กไทยมีค่านิยมการบริโภค เลียนแบบสื่อ โดยเฉพาะละคร โฆษณา ซึ่งมักนำเสนอเนื้อหา รูปภาพเพื่อสร้างความต้องการทำให้ผู้บริโภคคิดว่าตัวเองมีปัญหา และจำเป็นจะต้องหาสินค้ามาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ตนเองไม่ได้มีปัญหา จึงทำให้เด็กไทยเกิดพฤติกรรมความอยากได้อยากมีสินค้าใหม่ล่าสุด บางคนถึงกับต้องกูหนี้ยืมสิน หรือใช้ตัวเข้าแลกเพื่อให้ได้เงินและนำมาซื้อของฟุ่มเฟือย
3. การพนัน ซึ่งเป็นภัยเงียบที่แฝงเข้ามาถึงตัวเด็กอย่างง่ายมาก โดยเฉพาะ ทางหนังสือพิมพ์กีฬาต่างๆ ที่มักจะนำเสนอข้อมูลของช่องทางการพนันกีฬาประเภทต่างๆ เอาไว้ให้เด็กและเยาวชน สามารถเลือกใช้เป็นแนวทางการเล่นพนันได้ ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมากที่สุดที่จะบ่อนทำลายอนาคตของเด็กไทยให้จมลง เพราะเป็นการชี้โพรงให้เด็กเกิดความอยากได้ อยากมี ไม่รู้จักพอ
4. ใช้ความรุนแรง ทั้งทางด้านร่างกาย วาจา และจิตใจ เป็นผลมาจากการเล่นเกม ชมภาพยนตร์ ละคร ที่มีภาพ ภาษาที่มีความรุนแรง ส่งผลให้เด็กเกิดความอาฆาต พยาบาท แก้แค้น เกิดพฤติกรรมความรุนแรงทางเพศ มีการบังคับข่มขืน และเมื่อมีการเสพสื่อดังกล่าวบ่อยครั้งก็จะกลายเป็นเรื่องชินชา ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่เสื่อมโทรมของสังคมไทย
5. ทัศนคติการแสดงออกทางเพศ ปัจจุบันเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ขายง่าย โดยเฉพาะเรื่องการมีเซ็กส์ การนำเสนอค่านิยมทางเพศ ซึ่งเห็นได้ว่า เพลงไทย กว่า 90% เป็นเพลงเกี่ยวกับความรัก บางเพลงมีเป้าหมายการนำเสนอเนื้อหาที่ช่วยในการหาความรักแบบไร้เหตุผล ทำให้พบสถิติ เด็กไทยเสียตัวมากขึ้น และเป็นการร่วมรักแบบข้ามคืน โดยที่ยังไม่รู้จักกันมากขึ้นด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
update 03-07-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก