พบเด็กไทยร้อยละ 90 เล่นเกมรุนแรง
เผยพูดจาหยาบคาย โกง แถมมีส่วยนอกระบบ
แฉสังคมเกมค่าเฟ่เน่าเฟะ เด็กไทยร้อยละ 90 เล่นเกมรุนแรง สอนเด็กยิง ต่อสู้กัน จนถูกเรียกว่าพวก “ไทยเลี่ยน-เกรียน” ไม่ควรคบ ชอบด่า ขี้โกง ไม่มีจริยธรรม แถมเปิดช่องมีส่วยนอกระบบ 4 อย่าง ส่วยจดทะเบียน ส่วยรับเด็กเข้าใช้บริการในร้าน ส่วยลิขสิทธิ์ และส่วยเวลาเปิด-ปิด สถานประกอบการ
เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2551 นายอิทธิพล ปรีติประสงค์ นักวิชาการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และที่ปรึกษาโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการพัฒนาสังคมไทย กล่าวว่า ทางโครงการวิจัยฯ ได้เตรียมเสนอการพัฒนาร้านเกมคาเฟ่ ร้านอินเทอร์เน็ตค่าเฟ่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)
เพื่อใช้เป็นแนวทางแก้ปัญหาเด็กติดเกม สร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันให้ผู้ใช้ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน พัฒนาพื้นที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมีส่วนร่วมของชุมชน และผู้ประกอบการ เนื่องจากช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์เด็กด้านพื้นที่ในการเข้าถึงและบริโภคสื่อได้รับความสนใจอย่างยิ่ง
และพบว่าร้านเกมคาเฟ่ที่จดทะเบียนในไทยมี 23,000 ร้าน หากประมาณการว่าในแต่ละร้านมี 15 เครื่อง นั่นหมายความว่าในแต่ละชั่วโมง มีโอกาสที่เด็กใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ได้อย่างน้อย 345,000 เครื่อง เท่ากับว่าโอกาสที่เด็กๆ จะใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้ชั่วโมงละ 345,000 คน
“แต่ในความเป็นจริงพบว่า เวลาที่เด็กเข้าไปใช้บริการในร้านเกมค่าเฟ่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 เข้าไปเพื่อเล่นเกม และในบรรดาเกมคอมพิวเตอร์ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ใน 10 อันดับแรก ส่วนใหญ่เป็นเกมที่เน้นการใช้ความรุนแรง เช่น การยิง การต่อสู้ น้อยมากที่เราจะพบเกมที่ฝึกทักษะในการวางแผน หรือฝึกด้านทักษะชีวิต
รวมไปถึงเกมที่ฝึกความชำนาญในอาชีพต่างๆ เช่น เกมฝึกการเป็นอาสาสมัคร และปัญหาของการเล่นเกมคอมพิวเตอร์มี 2 ส่วนคือ การใช้เวลาในการเล่นเกมและการสร้างความคุ้นชินในการใช้ความรุนแรงที่เกิดจากการเล่นเกม รวมไปถึงสังคมในการเล่นเกม
โดยเฉพาะผู้เล่นเกมคนไทยได้รับกล่าวขานในทางลบ เช่น ไทยเลี่ยน มาจากคำว่าไทย ผสมคำว่า เอเลี่ยน หมายความว่า กลุ่มคนที่ไม่ควรคบ หรือคำว่า เกรียน หมายถึง ผู้มีนิสัยเหมือนเด็กนักเรียนหัวเกรียน มีนัยว่าเป็นผู้เล่นนิสัยไม่ดี เช่น การด่าทอ ขี้โกง สะท้อนให้เห็นว่า พฤติกรรมในการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ของคนไทยขาดจริยธรรมที่ดีในการเล่น”นายอิทธิพล กล่าว
นายอิทธิพล กล่าวต่อไปว่า จากการที่คณะวิจัยได้ร่วมประชุมกับเครือข่ายในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก อุบลราชธานี สงขลา ปทุมธานี พบมีสถานการณ์สำคัญเกี่ยวกับร้านเกมคาเฟ่ 7 ประการ ดังนี้
1.ขาดระบบการคุ้มครองเด็กในเรื่องจำนวนชั่วโมงที่เด็กเล่น และสิ่งแวดล้อม
2.ขาดเนื้อหาสื่อสร้างสรรค์ที่เพียงพอต่อเด็ก
3.ขาดระบบติดตามตรวจสอบการประกอบการอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
4.ขาดระบบการส่งเสริมการประกอบการเพื่อสร้างแรงจูงใจในการประกอบพื้นที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่เป็นไปได้จริง รวมทั้งขาดมาตรการในการลดอุปสรรคในการประกอบการ เช่น เรื่อง ธุรกิจนอกระบบ หรือ ส่วย
ซึ่งสามารถจำแนก ได้เป็น 4 กลุ่ม กล่าวคือ ส่วยจดทะเบียน ส่วยรับเด็กเข้าใช้บริการในร้าน ส่วยลิขสิทธิ์ และส่วยเวลาเปิด-ปิด สถานประกอบการ
5.ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการกำกับดูแลติดตามตรวจสอบและส่งเสริมการประกอบการ
6.ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ขาดความรู้ในการประกอบการ เช่น กฎหมาย เทคโนโลยี แผนธุรกิจ จริยธรรม
7.ขาดการสร้างวัฒนธรรมร่วมกันในการสร้างพื้นที่เรียนรู้ และวัฒนธรรมในการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ
ทั้งนี้ คณะวิจัยจึงมีข้อเสนอในการพัฒนาร้านเกมค่าเฟ่ฯ ให้ วธ. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดเครือข่ายผู้ประกอบการในพื้นที่จัดตั้ง คณะกรรมการชุมชนด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีหน้าที่ติดตามตรวจเยี่ยมร้านเกมค่าเฟ่
สร้างแรงจูงใจผู้ประกอบการทำร้านเกมสร้างสรรค์ กำหนดมาตรการคุ้มครองเด็ก กำหนดเวลาเปิดปิด จัดประชุมประเมินสถานการณ์ทุก 3 เดือน เพื่อจัดทำเป็นยุทธศาสตร์ชาติ
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
update 25-12-51