พบสุนัขจรจัด 60% เป็นพาหะโรคกลัวน้ำ

ชี้สุนัขจรจัดกว่าร้อยละ 60 เป็นพาหะโรคกลัวน้ำ


ห่วงสุนัขจรจัด เป็นพาหะโรคกลัวน้ำ thaihealth


แฟ้มภาพ


เมื่อวันที่ 10 ส.ค. นายสัตวแพทย์ (นสพ.) สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดทำ "แผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัด อย่างยั่งยืน ปี 2559-2563" ว่าสภาพปัญหาในปัจจุบันถึงเวลาต้องมาจัดการให้เป็นระบบ สำรวจและขึ้นทะเบียนสุนัขอย่างมีประสิทธิภาพเช่นการพัฒนาระบบฐานข้อมูลประชากรสุนัขในประเทศไทยมีการบูรณาการควบคุมจำนวนประชากรสุนัขจรจัดให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้มีระบบเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันไม่ให้เกิดโรคติดต่อจากสุนัขจรจัดไปสู่คนและสัตว์ชนิดอื่นและสำคัญที่สุดคือความตระหนักของเจ้าของสุนัขให้เลี้ยงสุนัขอย่างรับผิดชอบ มีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องต้องนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ที่มองว่าต้องมีการขึ้นทะเบียน สุนัขและควบคุมการขยายพันธุ์


นสพ.ประภาส ภิญโญชีพ ผู้อำนวยการสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กล่าวว่าปัญหาสุนัขจรจัด ถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยเนื่องจากทำให้เกิดผลกระทบในด้านต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านสังคมก่อเหตุรำคาญในชุมชน ปัญหาขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลรวมทั้งปัญหาโรคระบาดสัตว์โดยเฉพาะโรคพิษสุนัขบ้าที่พบว่าปัจจุบันได้มีการตรวจพบในสุนัขมากถึงร้อยละ 90 ซึ่งในจำนวนนี้พบว่าเป็นสุนัขจรจัดถึงร้อยละ 60 จึงถือได้ว่าสุนัขจรจัดเป็นสัตว์พาหะนำโรคพิษสุนัขบ้าที่สำคัญในประเทศไทย


"สุนัขจรจัดสามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว จากการสำรวจจำนวนประชากรสุนัขในปี 2557 ของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศที่ผ่านมา มีจำนวนประมาณ 8.5 ล้านตัวในจำนวนนี้เป็นสุนัขจรจัดประมาณ 7 แสนตัว เป็นเพศผู้ประมาณ 3.7 แสนตัว และเพศเมีย 3.4 แสนตัว โดยหากสุนัขเพศเมีย 1 ตัว มีโอกาสที่จะคลอดลูกได้มากถึง 10 ตัวต่อปี จะพบว่าในแต่ละปีจะมีสุนัขจรจัดเพิ่มขึ้นมากถึง 3.4 ล้านตัว ทั้งนี้เนื่องจากการที่จะจับสุนัขกลุ่มนี้เพื่อนำมาฉีดวัคซีนทำได้ยากจึงทำให้เพิ่มโอกาสที่ประชาชนจะเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าปัจจุบันการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อาจเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เช่นการผ่าตัดทำหมันเพื่อควบคุมจำนวนประชากร การสร้างสถานพักพิง  เพื่อนำสุนัขเข้าไปเลี้ยงซึ่งไม่เพียงพอและสอดคล้องกับจำนวนสุนัขที่มีอยู่จำนวนมากทำให้แต่ละปีหลายหน่วยงานต้องสูญเสียงบประมาณที่ใช้ไปกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าหรือปลายเหตุไปเป็นจำนวนมากแต่ต้นเหตุที่แท้จริงยังไม่ได้รับการแก้ไข" นสพ.ประภาส กล่าว


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code