พบสารพิษ 2 ชนิดในยากันยุงพม่าถึงขั้นเสียชีวิต
ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ
แฟ้มภาพ
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุเคยตรวจสอบยากันยุง “ก็อดซิลล่า” เมื่อ ต.ค.ปีกลาย พบผลิตที่จีน มีสารอันตรายต้องห้ามและไม่ได้ขึ้นทะเบียนในไทย 2 ชนิด ล้วนมีผลทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ชักเกร็ง และตายได้ ด้าน อย.สั่งคุมเข้มผู้ครอบครอง ผู้ผลิต ผู้นำเข้าและส่งออกสินค้าที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้ง
กรณีมีผู้ขายยากันยุงยี่ห้อ “ก็อดซิลล่า” (GODZILLA) มีตัวยาแรงจุดไล่ยุงได้ผลชะงัดยุงตายทันที ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศเมียนมา ทางด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก คาดมีส่วนผสมของสารที่เสี่ยงเป็นอันตรายต่อร่างกายคนและสัตว์เลี้ยง วางขายเกลื่อนภายในตลาดย่านบางแค บางบอน บางขุนเทียน และพื้นที่รอยต่อกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะร้านค้าใน จ.สมุทรสาคร ที่มีแรงงานเมียนมาอาศัยอยู่จำนวนมาก และมีคนไทยซื้อไปใช้จุดยากันยุงให้ลูกสุนัข 3 ตัว จนตายอนาถ เมื่อคนสูดดมเข้าไปทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ต้องการให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เข้ามาตรวจสอบยากันยุงยี่ห้อดังกล่าวว่ามีความปลอดภัยกับคนและสัตว์หรือไม่นั้น
ต่อมาเมื่อวันที่ 27 ส.ค. นายชัยพฤกติ์ เชียรธานรักษ์ นายอำเภอแม่สอด นายมานัส ต๊ะชมพู สาธารณสุขอำเภอแม่สอด พร้อมเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบตลาดสดแม่สอด ซึ่งชาวเมียนมาชอบมาจับจ่ายซื้อสินค้า พบมีร้านจำหน่ายยากันยุงยี่ห้อดังกล่าวอยู่หลายร้าน รวมทั้งเข้าตรวจสอบแผงจำหน่ายสินค้าของฝากที่ตลาดริมเมย ชายแดนไทย-เมียนมา พบว่ามีการจำหน่ายยากันยุงดังกล่าวเช่นกัน แต่เป็นร้านจำหน่ายปลีก เจ้าหน้าที่จึงตรวจยึดทั้งหมดและแจ้งเตือนห้ามนำมาขายอีกเพราะเป็นอันตรายกับผู้ใช้ นอกจากนี้จากการสอบถามร้านต่างๆ บอกว่ามีเอเย่นต์อยู่ในตลาดแม่สอด นำสินค้ามาส่ง เมื่อเจ้าหน้าที่เดินทางไปตรวจสอบปรากฏว่าโกดังดังกล่าวเหมือนนกรู้ ต่างพากันปิดโกดังหลบหนีไปก่อนหน้าแล้ว
ด้าน ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า อย.ได้ประสานกับเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ลงพื้นที่ตรวจสอบ และจะขยายผลติดตามหาต้นตอการลักลอบนำยากันยุงดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายในประเทศ ไทยแล้ว ทั้งนี้ การใช้ยากันยุงอย่างถูกต้อง ต้องรู้จักถึงข้อควรระวังและอันตรายของยากันยุง โดยข้อควรระวัง ได้แก่ ไม่จุดใกล้กับเด็กอ่อน หรือผู้ป่วย เพราะไม่ว่าควันอะไรหากจุดในพื้นที่อับ อากาศไม่ระบายก็ล้วนแล้วแต่มีอันตรายต่อสุขภาพทั้งนั้น และยิ่งเป็นยากันยุงที่มีการลักลอบนำเข้ามา ยิ่งมีอันตราย และต้องนำตัวอย่างมาตรวจหาสารเพิ่มเติมว่ามีสารชนิดใดอยู่บ้าง ส่วนกรณีที่สุนัขเสียชีวิตนั้น ปัจจัยหนึ่งน่าจะมาจากการที่สุนัขมีอายุน้อยเพียง 2-3 วัน จึงทำให้ได้รับอันตรายได้
รองเลขาธิการ อย. กล่าวอีกว่า สำหรับอันตรายจากสารที่อยู่ในยากันยุงนั้น จะมีผลข้างเคียงตั้งแต่เกิดอาการแพ้สารหายใจไม่ออก มีผลต่อระบบประสาท ซึ่งในคนอาจไม่มีผลเฉียบพลันถึงขั้นเสียชีวิต แต่ในระยะยาวอาจมีผลต่อสุขภาพในเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการเผาไหม้ที่อาจได้รับสารอันตรายได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สำหรับโทษของผู้ครอบครอง ผู้ผลิต ผู้นำเข้าและส่งออกสินค้าที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะที่ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบยากันยุงจากเมียนมา เป็นยากันยุงไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. มีการลักลอบซื้อตามแนวชายแดน ทราบว่ามีกระบวนการผลิตที่จีน ทั้งนี้ ยากันยุงดังกล่าว เมื่อไม่มีการนำเข้าก็จะไม่ทราบปริมาณที่แน่ชัด อย่างไรก็ตาม ยากันยุงดังกล่าวเคยได้รับการตรวจสอบจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มาแล้ว โดยเมื่อ ต.ค.2560 พบว่ามีสารอันตรายต้องห้ามที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนในไทย 2 ชนิด ได้แก่ สารเฮปตาฟูลทริน และสารแอลเลทริน ไอโซเมอร์ ซึ่งจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 หากเข้าสู่ร่างกายจะมีผลคลื่นไส้ อาเจียน ชักเกร็ง และเสียชีวิต ซึ่งสารดังกล่าวเป็นอันตราย ประชาชนต้องระวัง เพราะยาฆ่าแมลงมีผลต่อสัตว์ชนิดอื่นได้ ดังนั้นการซื้อหา หากซื้อสินค้าในประเทศ ย่อมมีความปลอดภัยมากกว่า เพราะมีการจดแจ้งและมีข้อมูลอย่างชัดเจน