พบสมุนไพรไทยมีฤทธิ์ต้าน “วัณโรคดื้อยา”
ขอ 2 ปี รู้ผล ก่อนนำใช้กับคน
วิจัยพบสมุนไทย มีฤทธิ์ต้านเชื้อวัณโรคดื้อยา ได้ผลดีเทียบเท่ายารักษาวัณโรคมาตรฐาน ปีหน้าเตรียมต่อยอดงานวิจัยทดลองในสัตว์ทดลองใช้เวลา 2 ปี รู้ผล ก่อนนำมาทดลองในมนุษย์ต่อไป
วันนี้ (12 มิ.ย.) ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีการจัดประชุมวิชาการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 16 โดยดร.เบญจวรรณ เพชรสุขศิริ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้ได้รับรางวัลวิจัยดีเด่น ประจำปี 2550 เรื่อง “ผลการศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อวัณโรคของสารสกัดสมุนไพร” กล่าวว่า คณะวิจัยได้ร่วมกันศึกษาโดยทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อวัณโรคของสารสกัดสมุนไพรอย่างหยาบ 82 ตัวอย่าง พบสารสกัดสมุนไพร 14 ตัวอย่าง มีฤทธิ์ต้านเชื้อวัณโรคในหลอดทดลอง มีผลทำลายเชื้อวัณโรคที่แยกได้จากผู้ป่วยและเชื้อดื้อยา ทั้งแบบดื้อยาขนานเดียวและหลายขนาน
ทั้งนี้ สารสกัดที่มาจากพืชสมุนไพรของไทย และเป็นสมุนไพรเดี่ยวที่ได้จากส่วนต่างๆ ของพืช ทั้งราก ลำต้น ใบ สมุนไพรบางชนิดมีการใช้เพื่อสุขภาพด้านอื่นมาก่อน บางชนิดค้นพบใหม่ไม่เคยมีการทดสอบและบางชนิดเคยเผยการทดสอบกับเชื้อวัณโรคและให้ผลสอดคล้องกัน แต่ไม่สามารถบอกได้ว่ามีสมุนไพรใดบ้าง เนื่องจากยังไม่มีการจดสิทธิบัตร
สำหรับกรรมวิธีการทดสอบฤทธิ์ มีความหลากหลายและศึกษาอย่างละเอียดมีการตรวจยืนยันได้ผลที่สอดคล้องกัน ว่ามีฤทธิ์อยู่ในขั้นดีมาก มีค่าความเข็มข้นต่ำสุดในการทำลายเชื้อวัณโรค 10-100 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ซึ่งใกล้เคียงกับยาที่มาตรฐานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การทดลองสมุนไพรครั้งนี้เป็นเพียงสารสกัด ไม่ใช่สารบริสุทธิ์ ดังนั้น หากมีการสกัดออกมาเป็นสารบริสุทธิ์ จึงหน้าจะให้ผลในการรักษาที่มีประสิทธิภาพดีกว่า
ดร.เบญจวรรณ กล่าวต่อว่า ขั้นตอนต่อไป จะมีการศึกษาเพิ่มเติม เกี่ยวกับคุณสมบัติทางเคมี การดูดซึม และสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อวัณโรค รวมถึงความเป็นพิษและฤทธิ์ทางชีวภาพอื่นๆ เพื่อใช้ประโยชน์จากสมุนไพรหรือพัฒนายาใหม่ พร้อมทั้งจดสิทธิบัตร โดยในปี 2552 จะเริ่มต้นการทดลองในสัตว์ทดลอง ซึ่งคาดว่า อาจใช้เวลาในการทดลอง 1-2 ปี จากนั้นจึงทำการทดลองในมนุษย์ต่อไป โดยอาจนำสมุนไพรดังกล่าวมาใช้คบคู่กับยาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หรือมีการต่อยอดงานวิจัยผลิตยาออกมาในรูปแบบแคปซูลในอนาคต
“ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นที่ได้ทำการศึกษาสมุนไพรรักษาวัณโรค เนื่องจากเห็นว่า วัณโรคดื้อยาถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่มีความรุนแรงมากขึ้นในระยะนี้ ซึ่งเชื้อที่ดื้อยาทำให้การรักษาไม่ได้ผล การพัฒนาสมุนไพรใหม่ ซึ่งโครงการนี้ ใช้เวลาในการศึกษา 2 ปี ตั้งแต่ปี 2549-2550 ได้รับงบประมาณการวิจัยจำนวน 3-4 แสนบาท ซึ่งได้รับการสนับสนุนการทำวิจัยร่วมกับหลายมหาวิทยาลัย”ดร.เบญจวรรณ กล่าวและว่า นอกจากจะศึกษาสมุนไพรกลุ่มนี้ เพื่อรักษาวัณโรคดื้อยาแล้ว ยังมีการวิจัยโรคอื่นที่มีความน่าสนใจด้วย ทั้งโรคไข้หวัดนก ไข้เลือดออก และมาลาเรีย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
update 13-06-51