พบยาปฏิชีวนะใน “แซนด์วิชไก่อบ”

ที่มา : เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์


พบยาปฏิชีวนะใน “แซนด์วิชไก่อบ”  thaihealth


แฟ้มภาพ


ผู้บริโภคสำรวจอาหารฟาสต์ฟูด พบ “แซนด์วิชไก่อบ” เจอยาปฏิชีวนะ ชี้ ไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่สะท้อนการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์เร่งโต ไม่ได้ใช้เมื่อสัตว์ป่วย ทำให้ยาตกค้าง เพิ่มความเสี่ยงเชื้อดื้อยา หวั่นเด็กเล็กเสี่ยงเชื้อดื้อยามากสุด


น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวในงานแถลงข่าว “ยังพบมีการใช้เนื้อสัตว์ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะในอาหารฟาสต์ฟูด” ว่า ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อได้เก็บตัวอย่างอาหารฟาสต์ฟูด อาทิ ไก่ทอด นักเก็ต สเต็กหมู สเต็กไก่ สเต็กเนื้อ ในร้านจำหน่ายอาหารฟาสต์ฟูดที่มีหลายสาขา 18 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหายาปฏิชีวนะ 6 ชนิด พบเพียงแซนด์วิชไก่อบของร้านแห่งหนึ่งมียาปฏิชีวนะ “เตตตราไซคลีน (Tetracyline)” 13.73 ไมโครกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ไม่เกินค่ามาตรฐานสากลที่อนุญาตให้ใช้ที่ 200 ไมโครกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม แต่เป็นการยืนยันว่า ประเทศไทยมีการใช้ยาปฏิชีวนะในการบวนการเลี้ยงสัตว์ ดังนั้น อยากเรียกร้องให้ 1. ผู้ประกอบการอาหารฟาสต์ฟูดรายใหญ่ หรือผู้เลี้ยงสัตว์รายใหญ่มีนโยบายและแผนการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ เลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ปลอดยาปฏิชีวนะ 2. ให้นักวิชาการภายนอกเข้าไปตรวจสอบการดำเนินการของบริษัทได้ ซึ่งเชื่อว่าจะทำไห้ปัญหาเชื้อดื้อยา และการใช้ยาในการเลี้ยงสัตว์ลดลง ประชาชนมีปัญหาสุขภาพลดลง หากไม่ทำอะไรเลยมีการคาดการณ์ว่าอีกไม่กี่ปีจะมีคนเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยากว่า 50 ล้านคนทั่วโลก


รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ ประธาน มพบ. กล่าวว่า ตามปกติการเลี้ยงสัตว์จะให้ยาปฏิชีวนะเมื่อป่วยเท่านั้น และใช้ในปริมาณที่สามารถทำลายเชื้อโรคได้หมด ไม่ให้เหลือเชื้อโรคแม้แต่เซลล์เดียว เพราะมันต่อสู้เพื่อให้ตัวเองรอด และสามารถแพร่จำนวนได้มหาศาลภายใน 15 นาที แต่ปัญหาคือในหลายประเทศทั่วโรคและประเทศไทยมีการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อการป้องกันโรค เพื่อเร่งการเจริญเติบโตย่นระยะเวลาในการเลี้ยงดูให้สั้นลง ซึ่งถือเป็นการใช้ยาที่ไม่สมเหตุผล ทำให้ยานั้นตกค้างในอวัยวะของสัตว์ เครื่องใน ผิวหนัง เนื้อบางส่วนแล้วแต่กลุ่มของยาปฏิชีวนะ ในขณะที่ผู้บริโภคมักเข้าใจว่ายานั้นจะหายไปได้จากการชำแหละ และกระบวนการปรุงอาหาร แต่ปัญหาคือประเทศไทยมีการกินอาหารสุกๆ ดิบๆ จึงมีโอกาสตกค้าง และก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ ทั้งนี้เมื่อรับเชื้อเข้าไปแล้วสามารถทำให้เกิดการดื้อยาได้ภายใน 24 ชั่วโมง และมีข้อมูลว่าเชื้อดื้อยาจะมียีนที่สามารถดื้อต่อยาข้ามกลุ่มได้ ดังนั้น อย่าใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น เพราะถ้าใช้ต้องให้ครบโดส ที่สำคัญคือ ในภาคการเลี้ยงสัตว์นั้นภาครัฐก็ต้องกำกับให้มีการใช้เพื่อการรักษาโรคเท่านั้นไม่ใช้เพื่อเร่งการเจริญเติบโต รวมถึงอย่าปล่อยน้ำหรือของเสียจากแหล่งที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่บำบัด ซึ่งประเทศไทยมีปัญหานี้มาก


พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ แพทย์ประจำสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า เด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อดื้อยามากที่สุดโดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ที่อยู่ตามสถานเลี้ยงเด็กเนื่องจากเมื่อมีการอยู่รวมกันเป็นหมู่มากก็เจ็บป่วยง่าย พ่อแม่เป็นห่วงมาก บางคนซื้อยาปฏิชีวนะมาให้ลูกกิน หรือเวลาไปหาหมอก็จะเจาะจงตัวยาซึ่งบางครั้งหมอก็สั่งจ่ายให้ตามนั้น ตรงนี้เป็นปัญหามาก ที่ผ่านมาตนเคยพบเด็กอายุเพียง 6 เดือนป่วยติดเชื้อดื้อยาทั้งๆ ที่กินเพียงนมแม่เท่านั้น เมื่อสอบประวัติพบว่าแม่มีอาชีพขายไก่ป๊อบอยู่ ดังนั้น หากจัดการอาหารไม่ดีก็จะเกิดการดื้อยาได้ต้องระวัง


ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี  ผู้จัดการแผนงานวิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า ประเทศไทยเคยมีรายงานวิจัยพบคนไทยติดเชื้อดื้อยาประมาณ 88,000 คน เสียชีวิต 20,000 – 38,000 คนต่อปี ส่งผลให้มีความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 46,000 ล้านบาท ทั้งนี้ สาเหตุมาจากกรใช้ยาไม่สมเหตุผล อย่างในต่างจังหวัดมีการศึกษาพบพฤติกรรมใช้ยาตามเพื่อนบอก ตัวไหนดีก็ใช้ตาม แล้วก็ใช้ไม่ครบโดส ใช้ซ้ำๆ บางคนใช้โรยแผล ซึ่งไม่ถูกต้อง ดังนั้น ต้องย้ำเตือน และเฝ้าระวังอย่าใช้ยาเกิน ใช้ไม่สมเหตุผล โดยเฉพาะกรณีป่วยไข้หวัด ท้องเสียนั้นไม่ควรใช้ เพราะกว่าร้อยละ 80 เกิดจากเชื้อไวรัสใช้ยาปฏิชีวนะไม่ได้ผล รวมถึงแผลสดก็ไม่ควรใช้ นอกจากนี้ ต้องเฝ้าระวังการดื้อยาในโรงพยาบาล เฝ้าระวังเรื่องการกระจ่ายยาตั้งแต่การนำเข้า ผลิต และถึงมือเกษตรกร และผู้บริโภค

Shares:
QR Code :
QR Code