พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับสูงสุดในเดือน เม.ย.

ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 


พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับสูงสุดในเดือน เม.ย. thaihealth


แฟ้มภาพ


กรมควบคุมโรค เผยข้อมูลปี 2559 พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับ 300 ราย พบผู้ป่วยสูงสุดในเดือนเมษายน เตือนประชาชนที่เฉลิมฉลองช่วงเทศกาลสงกรานต์หลีกเลี่ยงการกินหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เพราะเสี่ยงป่วยโรคไข้หูดับ ทำให้หูหนวกถาวรหรือเสียชีวิตได้


นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึงนี้ ประชาชนจำนวนมากได้เดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อพบปะสังสรรค์กัน ขอให้ระมัดระวังเรื่องการรับประทาน โดยเฉพาะลาบ หลู้หมูดิบ หมูกระทะปิ้งย่าง จิ้มจุ่ม แบบสุก ๆ ดิบ ๆ เนื่องจากเสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับ หรือโรคติดเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส ที่ทำให้หูหนวกถาวรหรือเสียชีวิตได้  ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 3 เมษายน 2560 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้หูดับแล้ว 60 ราย เสียชีวิต 3 ราย  ส่วนข้อมูลในปี 2559 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโรคไข้หูดับ 300 ราย เสียชีวิต 16 ราย โดยพบผู้ป่วยส่วนใหญ่ ร้อยละ 83 เป็นกลุ่มวัยทำงานและสูงอายุ พื้นที่ที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคเหนือ รองลงมา คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับเดือนที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ เดือนเมษายน ช่วงเทศกาลสงกรานต์


ทั้งนี้ โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส ที่อยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในกระแสเลือดของหมูที่กำลังป่วย โรคนี้สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ ทางการสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ รวมทั้งเนื้อหมู เครื่องในหมู และเลือดของหมูที่เป็นโรค โดยติดต่อสู่คนทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือเยื่อบุตา  และการกินหมูดิบๆ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ เชื้อจะเข้าไปทำให้เยื่อหุ้มสมอง เยื่อบุหัวใจอักเสบ ทำให้ประสาทหูทั้ง 2 ข้างอักเสบและเสื่อมจนหูหนวก ผู้ที่ต้องเฝ้าระวังโรคนี้เป็นพิเศษ เพราะเมื่อติดเชื้อจะเกิดอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคมะเร็ง โรคหัวใจ  และ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น เนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคอ่อนแออยู่แล้ว สำหรับอาการของผู้ที่ได้รับเชื้อเข้าในร่างกาย จะป่วยหลังติดเชื้อประมาณ 3-5 วัน อาการที่พบ คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูดับ ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด

Shares:
QR Code :
QR Code