พบผู้ป่วยรวมกว่าร้อยละ 60 จากพาหะยุงลาย
ที่มา: สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง/ สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
แฟ้มภาพ
กรมควบคุมโรค ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อที่มียุงลายเป็นพาหะ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลพบผู้ป่วยในภาคใต้และภาคกลางรวมกว่า 2.7 หมื่นราย คิดเป็นร้อยละ 60 ของผู้ป่วย ทั่วประเทศ เสียชีวิต 40 ราย แนะประชาชนควรตระหนักและให้ความร่วมมือตามมาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้อากาศประเทศไทยเปลี่ยนแปลงบ่อย ทั้งอากาศหนาวสลับฝนตก โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ที่ซึ่งที่มีฝนตกหนักทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามภาชนะที่มีน้ำขังต่างๆ รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วมและพื้นที่เขตเมือง เช่น กรุงเทพฯ ก็เสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อที่มียุงลายเป็นพาหะได้มากขึ้น
สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออก จากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค รายงานว่า ทั่วประเทศมีผู้ป่วย 44,927 ราย เสียชีวิต 56 ราย พื้นที่ภาคใต้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือ 26 ราย จากจำนวนผู้ป่วย 11,240 ราย (25%) และภาคกลางพบผู้เสียชีวิตรองลงมา 14 ราย จากจำนวนผู้ป่วย 15,960 ราย (35.5%) เฉพาะกรุงเทพฯ มีผู้ป่วยกว่า 6,627 ราย คิดเป็น 41 % ของผู้ป่วยของภาคกลาง
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรค มอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และเครือข่ายในพื้นที่ ดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่มาจากยุงลายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง รวมถึงรณรงค์ประชาชนให้ความร่วมมือตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะเศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ประชาชนควรตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ที่เป็นสาเหตุของโรคดังกล่าว ที่สำคัญในช่วงนี้เป็นช่วงปลายฝน ระดับน้ำในหลายพื้นที่เริ่มลดลง อาจทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จึงต้องขอความร่วมมือจากประชาชนเป็นพิเศษ และขอให้เริ่มต้นดำเนินการที่บ้านของตนเองก่อน จากนั้นขยายไปสู่ชุมชน และสถานที่ส่วนรวม เช่น โรงเรียน วัด และสถานที่ทำงาน เป็นต้น ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422