พบนโยบายคุมบุหรี่ได้ผลสูง แนะใช้ระดับชุมชน
ใช้ “นโยบาย 3 ลด 3 เพิ่ม” เพื่อลดการบริโภคยาสูบ เน้นใช้นโยบายเริ่มต้นในระดับชุมชน
ท.ญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการประชุมแกนวิชาการด้านควบคุมยาสูบระดับภาค ว่า การประชุมเป็นไปเพื่อประเมินการลดการบริโภคยาสูบแบบมุ่งเป้าของกระทรวงสาธารณสุขตาม “นโยบาย 3 ลด 3 เพิ่ม” คือ 3 ลด ได้แก่ ลดผู้เสพรายใหม่ ลดผู้เสพรายเก่า และลดการได้รับควันบุหรี่มือสอง และ 3 เพิ่ม ได้แก่ เพิ่มกลไกการป้องกันการแทรกแซงจากธุรกิจยาสูบ เพิ่มผู้ขับเคลื่อนระดับจังหวัด/พื้นที่ และเพิ่มนวัตกรรมควบคุมยาสูบที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมยาสูบ ซึ่งในการประชุมดังกล่าว แกนวิชาการจากมหาวิทยาลัยพะเยา ขอนแก่น นเรศวร สงขลานครินทร์ และคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันลงชื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ เพราะว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะทำให้เกิดผลตอบแทนทางสังคมในการควบคุมยาสูบสูงขึ้นอีก
ด้าน น.พ.ปิยะ หาญวรวงศ์ชัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยการศึกษาการลงทุนขับเคลื่อนการควบคุมยาสูบในช่วง พ.ศ.2545-2554 ว่า การขับเคลื่อนนโยบายให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสังคมและสุขภาพสูงกว่าเงินที่ใช้ โดยประมาณการภาพรวมได้ผลกลับมาเป็นสัดส่วนมากกว่า 12 เท่าของเงินลงทุน อย่างไรก็ตาม แกนวิชาการมีความสนใจและจะริเริ่มงานศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดของมาตรการและนวัตกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบที่น่าสนใจในระดับพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายและสร้างความตระหนักในระดับพื้นที่ เพื่อเลือกลงทุนในกิจกรรมควบคุมยาสูบที่มีประสิทธิภาพ
น.พ.ปิยะ กล่าวว่า จากการพิจารณานโยบายที่ดำเนินการมา พบว่า การขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ เพื่อทำให้ประชาชนลด ละ เลิก และไม่เป็นนักสูบหน้าใหม่ จะเป็นต้องทำหลายๆ มาตรการพร้อมกัน ทั้งการเปลี่ยนสังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งการมีกฎหมายนโยบายที่เข้มแข็งจะทำให้การปฏิบัติเห็นผลได้ชัดเจนยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม มาตรการในลำดับถัดไปที่ต้องเน้นเพิ่มเติมคือ การใช้นโยบายในระดับชุมชน ซึ่งประชาชนสามารถช่วยเหลือกันเองได้
ที่มา: เว็บไซต์บ้านเมือง
ภาพประกอบจกาอินเทอร์เน็ต