พบคนไทยกว่า 15 ล้านคน เสี่ยงเกิดภาวะกระดูกพรุน

เหตุได้รับแคลเซียมและวิตามินดีไม่เพียงพอ

 

 พบคนไทยกว่า 15 ล้านคน เสี่ยงเกิดภาวะกระดูกพรุน

          นายแพทย์ธนา ธุระเจน  เลขาธิการมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โรคกระดูกพรุนคือภาวะความผิดปกติของกระดูกซึ่งทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลงซึ่งโดยทั่วไปจะไม่มีอาการ ผู้ป่วยจึงไม่ได้ใส่ใจที่จะป้องกันและดูแลรักษาจนหลายครั้งเมื่อตรวจพบหรือเกิดอุบัติการกระดูกหักก็มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตแล้ว สำหรับในประเทศไทย ในปี 2552 พบว่ามีประชากรอายุมากกว่า 50 ปี ประมาณ 15 ล้านคน โดยประมาณ 15% ของประชากรผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปี หรือ 2.25 ล้านคนเป็นโรคกระดูกพรุน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง

 

          สำหรับอุบัติการณ์กระดูกหักที่ศึกษาที่เชียงใหม่โดย รศ. สัตยา โรจนเสถียร ร่วมกับ รศ. ทวีทรงพัฒนศิลป์ และคณะ โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากมูลนิธิโรคกระดูกพรุนฯ และ บริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ด โฟร์โมสต์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) พบว่า อัตราการเกิดกระดูกสะโพกหักในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปี เพิ่มจาก 152/100,000 รายในปี 2540 เป็น 180/100,000 รายในปี 2550 หรือคิดเป็นอัตราเพิ่มประมาณ 15% แต่อัตราการเกิดกระดูกสะโพกหักในผู้ป่วยอายุมากกว่า 65 ปีมีอัตราการเพิ่มประมาณ 100% (600:100,000 เป็น 1,200:100,000) โดยอัตราการตายหลังภาวะกระดูกข้อสะโพกหักภายในหนึ่งปีจะอยู่ที่ประมาณ 20% และภายใน 3 ปีประมาณ 50% และค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษากระดูกสะโพกหักต่อผู้ป่วย 1 รายอยู่ที่ประมาณ 120,000 บาท

 

          นายแพทย์ธนา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากตัวเลขในการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โรคกระดูกพรุนไม่เพียงแต่เป็นเหตุให้เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยปีละหลายพันล้านบาท แต่ยังกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของโรคนั้นมาจากการได้รับแคลเซียมและวิตามินดีไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อายุมาก หมดประจำเดือน ขาดการออกกำลังกาย ฯลฯ  แต่อย่างไรก็ตาม โรคกระดูกพรุนสามารถป้องกันได้ถ้าเราให้ความสนใจดูแลรักษา โดยรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ และแคลเซียมสูงอย่างปลาตัวเล็ก ผักใบเขียว ดื่มนม การได้รับแสงแดดประมาณวันละ 10 นาที และออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ โดยการดื่มนมนั้นควรดื่มเป็นประจำในทุกช่วงอายุ ไม่เพียงเฉพาะเด็กหรือผู้สูงวัย เพื่อสะสมมวลกระดูกให้แข็งแรงและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุนก่อนเมื่อเข้าสู่วัยชรา

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย

 

 

update:07-05-52

Shares:
QR Code :
QR Code