พบคนกรุงภาวะอ้วนสูง เสี่ยงโรค NCDs
เผยผลสำรวจ ภาวะโรคอ้วนของคนกรุงสูงเกือบ5ล้านคน เสี่ยงเป็นโรค NCDs
แฟ้มภาพ
รศ.ดร.ฤๅเดช เกิดวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ สวนสุนันทา เปิดเผยว่า คณะทำงาน สวนสุนันทาเฮลท์โพลล์ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นด้านสุขภาพ เกี่ยวกับภาวะเสี่ยงต่อโรคอ้วนลงพุงของประชาชนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพื่อใช้เป็นสารสนเทศภาพรวมการนำเสนอต่อสาธารณชนและนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผน ด้านสุขภาพอนามัยโดยทำการสุ่มตัวอย่างจำนวน 4,400 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15-26 กุมภาพันธ์ 2559 พบว่า มีภาวะเสี่ยงต่อโรคอ้วนลงพุง โดยพิจารณาจากค่าดัชนี มวลกาย (BMI) ที่มีค่าเกิน 25 กก./ม 2 ประมาณร้อยละ 33.3 หรือประมาณ 4.9 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 51.4 อายุระหว่าง 16-30 ปี ร้อยละ 49.4 มีการออกกำลังกาย เป็นประจำเพียงร้อยละ 15.4 และมีพฤติกรรม การบริโภคอาหารในการรับประทานข้าวและอาหารประเภทแป้ง ร้อยละ 61.2 ชอบเติมน้ำตาลในก๋วยเตี๋ยวหรือกาแฟ ร้อยละ 38.3 ชอบทานอาหารผัดๆ ทอดๆ มันๆ แกงกะทิ ร้อยละ 32.5 ทานอาหารมื้อเย็นมากกว่ามื้ออื่นๆ ร้อยละ 68.2 ทานอาหารมื้อเย็นใกล้กับเวลาเข้านอน ร้อยละ 57.5 อาหารที่ทานแต่ละมื้อมักไม่ค่อยมีผักเป็นส่วนประกอบ ร้อยละ 19.8 และชอบทานอาหารว่างเป็นขนมหวานมากกว่าผลไม้ ร้อยละ 18.2
ข้อค้นพบข้างต้นสอดคล้องกับรายงานสุขภาพ คนไทย ปี 2557 ที่ระบุว่า โรคอ้วนถือเป็นสาเหตุการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable Diseases : NCDs) อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคมะเร็ง โรคเกี่ยวกับ ถุงน้ำดี โรคซึมเศร้า ภาวะหายใจลำบากและหยุดหายใจขณะหลับ และโรคข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น โดยคนอ้วนมีโอกาสเป็นโรคเหล่านี้มากกว่าปกติ 2-3 เท่าปัจจัยสำคัญ คือ พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ได้สัดส่วนและปริมาณที่ไม่เหมาะสม รวมไปถึงการขาดการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ประชาชนจึงควรให้ความตระหนักในการบริโภค อาหารและการออกกำลังกายเพื่อลดภาวะเสี่ยงต่อโรคอ้วนลงพุง
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า