พบขนมหมดอายุทะลักชายแดน!
แฉเล่ห์ผู้ประกอบการขนมกรุบกรอบแนวชายแดนลักลอบนำเข้า-เลียนแบบ-ตระเวนซื้อขนมหมดอายุบรรจุหีบห่อใหม่ ก่อนวางขายราคาถูก ห่วงอันตรายกับเด็ก เหตุไม่สามารถตรวจสอบส่วนผสมได้ เผยล่าสุดยังไม่มีหน่วยงานเข้าไปดูแลตรวจสอบ
ทพ.ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล เครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ (คศน.) เปิดเผยว่า จากการเฝ้าสังเกตการณ์การจำหน่ายขนมตามชายแดนและตามชนบท พบพฤติกรรมการผู้ประกอบการขายขนมกรุบกรอบในพื้นที่จังหวัดแนวชายแดน 3 รูปแบบที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคอย่างรุนแรง เช่น การนำเข้าขนมคุณภาพต่ำจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ประเทศจีน มาเลเซีย เพราะไม่มีการแสดงฉลากเป็นภาษาไทย และไม่มีการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่ามีส่วนประกอบใด และอันตรายมากน้อยเพียงใด
ผู้ประกอบการในประเทศไทยจงใจผลิตขนมเลียนแบบขนมที่วางขายอย่างถูกต้อง อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ลอกเลียนแบบบรรจุภัณฑ์ภายนอกเหมือนกับผลิตภัณฑ์ที่ทำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ออกมาวางขายในราคาเพียง 1-2 บาท แต่ระบุไว้เพียงคำว่ารสต้มยำ โดยไม่มีการยืนยันผู้ผลิต ส่วนประกอบ ตราสัญลักษณ์ อย. และ พฤติกรรมของผู้ประกอบการที่ไปตระเวนรับซื้อขนมที่หมดอายุ ผลิตไม่ได้มาตรฐาน หีบห่อฉีกขาดจากโรงงาน จากนั้นนำมาใส่บรรจุภัณฑ์ใหม่และวางขายในราคาถูก ตรงนี้นับเป็นพฤติกรรมที่อันตรายที่สุด
“ขนมที่นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านจะวางขายในจังหวัดแนวชายแดน ขนมที่ผู้ประกอบการตั้งใจเลียนแบบหรือนำมาบรรจุหีบห่อใหม่จะมีวางขายทั่วประเทศ แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในหมู่บ้าน ชุมชน ชนบท เพราะกลุ่มเป้าหมายของผู้ขายคือตลาดล่าง อีกทั้งยังพบว่าขนมเหล่านี้มีวางขายในโรงเรียนด้วย ส่วนขนมที่หมดอายุหรือไม่ได้มาตรฐานทั้งหมดโรงงานต้องทิ้ง แต่ผู้ประกอบการในภาคอีสานมักจะไปตระเวนซื้อแล้วนำมาบรรจุให้หีบห่อย่อยตั้งขายราคาถูก โดยแหล่งใหญ่อยู่ที่ จ.สุรินทร์” ทพ.ธงชัยกล่าว และว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าไปควบคุมดูแลแต่อย่างใด
ทพ.ธงชัยกล่าวอีกว่า โดยทั่วไปขนมกรุบกรอบจะมีอันตราย เนื่องจากมีความหวาน มัน เค็ม เมื่อเด็กรับประทานเข้าไปจะได้รับน้ำตาล เกลือ และไขมัน ในปริมาณที่เกินความพอดี แต่ในกรณีเด็กตามแนวชายแดนจะยิ่งอันตรายมากกว่า เพราะมีโอกาสได้รับเชื้อรา แบคทีเรีย สีผสมอาหาร ที่ไม่สามารถยืนยันแหล่งที่มาเข้าสู่ร่างกายได้
“สำหรับกลุ่มของตนที่ ทำการศึกษาข้อมูลนี้มีความกังวลว่าจะเป็นอันตรายกับเด็กมาก แต่เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนการสังเกตการณ์จึงไม่สามารถเผยตัวเพื่อไปให้ข้อมูลกับผู้ปกครองหรือเด็กๆ ตามโรงเรียนในพื้นที่เหล่านั้นได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าประมาณเดือนเมษายนนี้ การดำเนินการเก็บข้อมูลจะแล้วเสร็จ ตนจะรีบจัดทำข้อเสนอส่งไปยังสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลด้านสุขภาพอยู่” ทพ.ธงชัย กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์