พนัน ยากจน นอกใจ ทำครอบครัวไทยเปราะบาง หวังรัฐจัดสวัสดิการแบบหุ้นส่วนสังคม

 

ครอบครัวศึกษาแห่งชาติ

การพนัน ความยากจน การนอกใจ ทำครอบครัวไทยยุคใหม่เปราะบาง หวังรัฐจัดสวัสดิการแบบหุ้นส่วนสังคม มากกว่าแค่ “โยน” เงินให้ เผยซ้ำโลกอินเตอร์เน็ต ทำครอบครัวเปลี่ยน ลดการชม ไม่ขอโทษ คุยกับคนอื่นมากกว่าคนในครอบครัว

กรุงเทพมหานคร 2554 นักวิชาการชี้ครอบครัวไทยเปราะบาง เผชิญอบายมุข ความรุนแรง ยากจน และการนอกใจมากขึ้น พบโลกอินเตอร์เน็ตทำคนในครอบครัวขาดการสื่อสารในเชิงบวก คุยกันน้อยลง แต่คุยกับคนนอกบ้านมากขึ้น หวังรัฐจัดสวัสดิการแบบการเป็นหุ้นส่วนสังคม สำรวจความต้องการของผู้รับ มากกว่าแบบให้เงินสงเคราะห์

พร้อมจัดสวัสดิการให้ครอบครัวลักษณะเฉพาะ ที่มีผู้สูงวัย แม่วัยรุ่น คนพิการ หรือเจ็บป่วยเรื้อรังเป็นพิเศษ เพื่อลดปัญหาสังคมและช่องว่างระหว่างชนชั้น ในงานประชุมวิชาการครอบครัวศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เมื่อเร็วๆ นี้

ประชุมครอบครัวศึกษา

สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทยและ 15 องค์กรภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ร่วมกับภาคีเครือข่ายนักวิชาการ คนทำงานด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)และ แผนงานสุขภาวะครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดการประชุมวิชาการครอบครัวศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “แนวโน้มการเปลี่ยนผ่านของครอบครัวไทย : ความท้าทายของนักพัฒนาครอบครัวในสังคมสวัสดิการ” มีนักพัฒนาครอบครัวร่วมงานกว่า 400 คน และได้จัดสัมมนากลุ่มย่อย 5 กลุ่ม เพื่อระดมความคิดในเรื่องการจัดสวัสดิการของครอบครัวของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคองค์กรพัฒนาเอกชน (ngos) ภาคชุมชน และภาคเครือข่ายครอบครัว โดยมีนายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม

น.ส.ศิวพร ปกป้อง รองผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวน.ส.ศิวพร ปกป้อง รองผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล รายงานถึงผลการวิจัยสถานการณ์สุขภาวะครอบครัวไทยปี 2553 เปรียบเทียบกับปี 2552 โดยใช้กรอบหยุด 4 ทุกข์ อบายมุข หนี้สิน ความรุนแรง และการนอกใจ สร้าง 4 สุข ได้แก่ สื่อสารดี มีเวลาร่วมกัน แบ่งปันใส่ใจ ห่วงใยสุขภาพ ผลการศึกษาในภาพรวมชี้ว่าครอบครัวไทยมีแนวโน้มเป็นครอบครัวที่เปราะบางมากขึ้น 

ครอบครัวไทย กำลังพุ่งประเด็นไปแค่เรื่อง รายได้ ฐานะทางเศรษฐกิจ และมอบหมายหน้าที่ในการสร้างความมั่นคงเข้มแข็งของครอบครัว ให้กับสถาบันอื่นในสังคมแทน แม้การวิจัย 4 ทุกข์จะพบว่า ในปี 2553 มีจำนวนครอบครัวที่มีสมาชิกยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข คือ สุรา หวยใต้ดิน และการพนัน ลดลงจากปี 2552 แต่ยังอยู่ในสัดส่วนลดลงน้อยมาก ครอบครัวไทยมีรายได้พอเลี้ยงครอบครัว และมีเงินออมเฉลี่ยลดลง แม้การปลอดหนี้จะสูงขึ้นถึงร้อยละ 10 แต่ความรุนแรงในครอบครัวทะเลาะ ทุบตี การนอกใจ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

การสร้าง 4 สุขนั้น พบว่าร้อยละ 36.6 เท่านั้น ที่พูดจากันด้วยคำพูดที่ไพเราะ เป็นสัดส่วนที่ลดลง มีการดุด่ากันโดยไม่ถามเหตุผลมากขึ้น กล่าวคำขอโทษหรือขอบคุณกันในครอบครัวร้อยละ24 การทำกิจกรรมร่วมกันของสมาชิกในครอบครัว เช่น การทานข้าวมื้อเย็นร่วมกัน ช่วยกันทำงานบ้านลดลง ละเลยการแสดงความรักและบอกกล่าวกันก่อนออกไปทำธุระนอกบ้านเพิ่มขึ้น มีเพียงประเด็นสุขภาพ คือการออกกำลังกาย และการทานผักผลไม้ในมื้ออาหาร ที่ครอบครัวไทยให้ความใส่ใจมากขึ้นจากปีก่อน

นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท รักลูกกรุ๊ป จำกัดนางสุภาวดี หาญเมธี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท รักลูกกรุ๊ป จำกัด กล่าวถึงสาเหตุการเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับครอบครัวไทยว่า มาจากการเป็นสังคมโลกาภิวัฒน์ มีการปรับตัววิธีคิด ขนบธรรมเนียม ประเพณี ดั้งเดิมให้เข้ากับโลกเศรษฐกิจใหม่ที่ไร้พรมแดน

“สำหรับทางออก ภาครัฐควรเน้นนโยบายส่งเสริมครอบครัวให้เข้มแข็ง กระจายงบประมาณ พัฒนาตามสภาพครอบครัวที่แตกต่างกัน ควรมีศูนย์ดูแลเด็กและผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ที่สำคัญคือการสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้ทุกคนในครอบครัว ทำให้จัดการเวลา จัดการชีวิตให้เกิดความสมดุลได้” นางสุภาวดี กล่าว

ส่วนเรื่องการจัดสวัสดิการสังคมเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านของครอบครัวนั้น ดร.ทิพาภรณ์ โพธิ์ถวิล อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ได้รายงานผลการวิจัยเรื่อง การศึกษาสวัสดิการครอบครัวลักษณะเฉพาะ คือ ครอบครัวแม่วัยรุ่น ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวที่ผู้สูงอายุเลี้ยงเด็กตามลำพัง และครอบครัวที่มีเด็กพิการและเจ็บป่วยเรื้อรัง

ดร.ทิพาภรณ์ โพธิ์ถวิล อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม

“เราขาดการมองคนแบบองค์รวมของครอบครัว เน้นบริการเชิงสงเคราะห์ตัวเงิน มากกว่าบริการเชิงป้องกัน ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนา ขาดการจัดบริการด้านอาชีพ รายได้ ที่อยู่อาศัย และกระบวนการยุติธรรม ปัญหาสวัสดิการที่ครอบครัวเฉพาะส่วนใหญ่เผชิญคือ ความไม่มั่นคงของอาชีพและรายได้ อันเนื่องมาจากการขาดความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับสิทธิ แนวทางการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมสำหรับครอบครัวลักษณะเฉพาะนั้น ควรส่งเสริมการมีส่วนร่วมของหุ้นส่วนทางสังคม รวมถึงอาจลดขั้นตอนการบริการของรัฐด้วย” ดร.ทิพาภรณ์ กล่าว

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีห้องย่อยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่อง “การจัดสวัสดิการ ครอบครัวขององค์กรภาคี” ได้แก่ ภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน ชุมชน และเครือข่ายครอบครัว พร้อมมีการจัดเวทีเสวนา เรื่อง “นักพัฒนาครอบครัวมืออาชีพ : ผู้นำการเปลี่ยนผ่านของครอบครัวไทย” และการจัดนิทรรศการ “ถนนนักพัฒนาครอบครัว เส้นทางการเรียนรู้สู่นักพัฒนาครอบครัวมืออาชีพ” โดยมีนักพัฒนาครอบครัวชมงานกว่า 400 คน

 

          

ที่มา: ไทยพีอาร์ดอทเน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code