ฝึกเด็ก”แอลดี”-“ออทิสติก”
สร้างสมาธิด้วยพุทธศาสนา
เด็กถูกผลักออกจากสังคม ถูกละเลยในเรื่องการศึกษา เพียงเพราะพวกเขามีความบกพร่องทางปัญญา หรือถูกจัดอยู่ในกลุ่มออทิสติก จนอาจทำให้สังคมรอบข้างมองว่า พวกเขาไม่สามารถเรียนหนังสือได้เหมือนเด็กทั่วไป ซึ่งอาจทำให้เกิดข้อจำกัดในเรื่องการศึกษา หากสังคมไม่เปิดโอกาสนั้น
โรงเรียนฉะเชิงเทราปัญญานุกูล หนึ่งในโรง เรียนสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ที่เปิดการเรียนการสอนแก่เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและออทิสติกในระดับปฐมวัยถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2539
ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก งานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ (สสพ.) และสถาบันวิจัยสาธารณสุข (สวรส.) จึงเล็งเห็นศักยภาพในการพัฒนาต้นกล้าต้นน้อยให้มีรากแก้วที่หยั่งรากแข็งแรงอย่างยั่งยืน ผ่านสุขภาวะ ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ สุขภาวะทางกาย ทางสังคม ทางจิตใจ และปัญญา
นายโต้ง พรหมกุล ครูโรงเรียนฉะเชิงเทราปัญญานุกูล กล่าวว่า การจะสื่อสารให้เด็กเหล่านี้เข้าใจต้องอาศัยสื่ออุปกรณ์แหล่งเรียนรู้และกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้จากนามธรรมเป็นรูปธรรมให้เหมาะสมกับพยาธิสภาพของแต่ละบุคคล และทำให้เด็กสามารถบำบัดและฟื้นฟูผ่านกิจกรรมการสัมผัสสิ่งเร้าผ่านอายตนะภายในและภายนอกให้เกิดกระบวนการซึมซับเข้าสู่ภายในจิตใจ เกิดความรู้สึกคล้อยตาม เพื่อฝึกฝนเด็กให้เกิดศีล สมาธิ ปัญญา
ครูโต้งยังกล่าวถึงห้อง “ธรรมานุบาล” ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับฝึกการทรงตัว ผ่านการย่างก้าวช้าๆ ตลอดพื้นเล่นระดับว่า จะช่วยสร้างสมาธิให้เด็กควบคู่กับการเอาหลักทางระพุทธศาสนามาสอนร่วมด้วยนั้น จะทำให้เด็กที่มีปัญหาทางปัญญา หรือเด็กออทิสติกเกิดสมาธิ เมื่อพวกเขาจดจ้องกระทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างแน่วแน่
การจัดสิ่งแวดล้อมให้สัมผัสอายตนะ 6 ทั้งภายนอกและภายในได้สัมพันธ์กับสิ่งเร้า เกิดธาตุ (รับ) รู้ ซึ่งจะนำมาสู่กระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของแต่ละบุคคล เรียกว่า กระบวนการซึมซับ ทั้งด้านกาย (กายภาวนา) ด้านความประพฤติ (ศีลภาวนา) ด้านจิตใจ (จิตตภาวนา) และด้านปัญญา (ปัญญาภาวนา) ทำให้มีการกระทำโต้ตอบ ฝึกฝนอบรมตนเองโดยอาศัยสังคมที่อยู่ในสภาวะเป็นน้ำเลี้ยงที่ดีนั้นจะทำให้ เด็กเกิดพัฒนาการที่ดีขึ้น
ด้าน น.ส.พัชรีวรรณ ตันกุระ ครูโรงเรียนฉะเชิงเทราปัญญานุกูล กล่าวถึงนักเรียนบางคนที่มีพัฒนาการช้า หรือมีความบกพร่องในการเรียนรู้ หรือเรียกว่า เด็ก “แอลดี” (learning disabilities – ld) นั้นจะเน้นการเรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองชอบ เพราะพวกเขามักปฏิเสธที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ ดังนั้นเราจึงต้องเน้นให้เด็กมีสมาธิก่อน โดยอาศัยทฤษฎีให้ความรู้ต่อระบบสัมผัส เพราะเด็กจะมีระบบรับความรู้สึก คือมองเห็น ได้กลิ่น คือ ถ้าเด็กเริ่มมองเห็นว่าพวกเขากำลังทำอะไรอยู่ และจับจ้องอยู่ที่สิ่งนั้น พวกเขาก็จะเริ่มมีสมาธิ
“เมื่อเด็กมีสมาธิ เราก็จะมีการเล่านิทานเพื่อเป็นการสร้างสติ ซึ่งเป็นการสอนให้เด็กมีคุณธรรมเบื้องต้น โดยเราเน้นให้พวกเขาเข้าสังคมได้ ผ่านการพาเด็กไปเรียนรู้ตามแหล่งชุมชน ต่างๆ พร้อมกับทำกิจกรรมทักษะการดำรงชีวิตแบบพอเพียง โดยเป็นการสอนเตรียมทักษะให้กับเด็ก“ ครูพัชรีวรรณ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
update: 10-03-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร