ฝึกสมาธิ ในการกิน ช่วยลดอ้วน ลดพุง
ที่มา : เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
เมื่อนึกถึงคำว่า “สมาธิ” ก็จะนึกถึงการนั่งที่ฝึกฝนจิตใจให้เกิดความสงบ เกิดการผ่อนคลาย การมีสติ รับรู้ ปลอดโปร่ง ช่วยลดความเครียด ซึ่งประโยชน์ของการฝึกสมาธินั้นมีมากมาย การกินก็เช่นกันหากเราสามารถฝึกสมาธิในการกินก็จะช่วยให้เรามีสติ รับรู้ถึง ความต้องการของร่างกายและจิตใจ
วิธีการฝึกสมาธิในการกิน
– ก่อนจะกินอาหารในแต่ละครั้งควรฝึกจิตใจให้ผ่อนคลายจากอารมณ์ต่างๆ เช่นอารมณ์โกรธ อารมณ์หิว อารมณ์ดีใจ อารมณ์เสียใจ เนื่องจากอารมณ์จะส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ ทำให้พฤติกรรมการกินแตกต่างจากอารมณ์ปกติ จากนั้นถามตัวเองว่ามื้อนี้มีความหิวมากน้อยระดับไหน และร่างกายต้องการอาหารมากน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะได้เลือกซื้ออาหารหรือตักอาหารได้พอดีกับความหิวของร่างกายและความอยากของจิตใจ อย่าฝืนกับความต้องการของร่างกายและจิตใจ เช่นหากต้องการกินขนมหวานก็สามารถกินได้แต่รับรู้ถึงปริมาณที่กินเข้าไป การฝึกถามร่างกายและจิตใจจะทำให้แยกได้ระหว่างความหิวของร่างกายและความอยากอาหารของจิตใจ และจะช่วยลดการกินอาหารที่มาจากความอยากลงได้
– ตักอาหารทีละน้อยๆก่อนเข้าปาก อาจใช้ช้อนส้อมที่มีขนาดเล็กหรือใช้ตะเกียบ การใช้อุปกรณ์การกินที่มีขนาดเล็กจะช่วยให้เราสามารถฝึกให้ร่างกายได้รับอาหารที่ช้าลง และปริมาณที่น้อยลงกว่าอุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่
– ฝึกวิเคราะห์ส่วนประกอบของอาหารที่กำลังจะกินเข้าไป ฝึกดูว่าอาหารนั้นทำมาจากอะไรบ้าง เช่น เนื้อสัตว์ชนิดไหน ผัก แป้ง น้ำมันแบบไหน มีการใส่เครื่องปรุงรสอะไรบ้าง มีวิธีการปรุงประกอบอย่างไร เพื่อที่เราจะได้รับรู้และเรียนรู้ถึงประเภทของอาหารที่เรากินเข้าไป บางครั้งจะได้รับรู้ว่าเรารับประทานอาหารชนิดนี้บ่อยครั้งแค่ไหน อาจช่วยให้เรารู้ว่าอาหารชนิดไหนที่กินมากเกินไปหรือน้อยเกินไป เพื่อที่จะได้เพิ่มเติมอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายให้มากขึ้นและลดปริมาณอาหารที่ก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายให้น้อยลง
– ฝึกกินอาหารให้ช้า เคี้ยวอาหารให้ละเอียด นักวิจัยได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับอัตราเร็วในการเคี้ยวและกลืน พบว่าผู้ที่เคี้ยวเร็วและกลืนเร็วจะไม่ค่อยได้รับรู้ถึงชนิดและปริมาณอาหารที่ได้กินเข้าไป โดยจะส่งผลทำให้ได้รับปริมาณและสารอาหารมากเกินกว่าที่ตนเองต้องการ แม้ว่าในบางครั้งอาหารที่กินเข้าไปจะเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพแต่หากมากเกินไปก็จะทำให้ร่างกายได้รับพลังงานสูงเกินและส่งผลให้เกิดไขมันสะสมในร่างกาย มีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น โดยในแต่ละคำควรจะเคี้ยวอาหารประมาณ 15-25 ครั้งก่อนที่จะกินคำใหม่
– ฝึกการรับรู้ถึงรสชาติของอาหาร ทุกครั้งที่อาหารเข้าปากลองฝึกการรับรู้ถึงรสชาติอาหารเพื่อช่วยให้สมองและร่างกายได้วิเคราะห์ดูว่าชอบหรือไม่ชอบรสชาติอาหารนี้ การฝึกรับรู้ถึงรสชาติอาหารจะทำให้เราได้รู้ว่าเรามีนิสัยการบริโภครสชาติอาหารแบบไหนเป็นประจำ เช่น รสเค็ม รสหวาน รสเปรี้ยว รสเผ็ดร้อน หรืออาหารทอดน้ำมัน อาหารแกงกะทิ เพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจส่งผลต่อสุขภาพในทางที่ไม่ดี เช่นอาหารหวานจัด อาหารเค็มจัด อาหารมันจัดเป็นต้น
– ในแต่ละคำของการกิน ฝึกวางช้อนส้อม หรืออุปกรณ์การกินลง เพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลายและรับรู้ว่าร่างกายต้องการอาหารเพิ่มเติมหรือไม่ หรือว่าเพียงพอแล้ว
– นั่งกินอาหารในที่สงบและไกลจากสิ่งรบกวนต่างๆ เช่นการคุยกับเพื่อน คุยโทรศัพท์มือถือ การดูทีวี การฟังวิทยุ การทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ เพื่อที่จะใส่ใจต่ออาหารที่วางอยู่ตรงหน้าและวิเคราะห์ถึงคุณค่าและพลังงานที่จะได้รับจากอาหารที่กินเข้าไป
– หลังจากกินอาหารเสร็จ ควรนั่งพักสัก 3-5 นาที ฝึกขอบคุณร่างกายที่ช่วยย่อยอาหารและนำสารอาหารไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย ขอบคุณจิตใจที่ทำให้เกิดความสุขในการกินครั้งนี้ การนั่งพักนี้ยังช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้นและสมองรวมถึงจิตใจพร้อมที่จะมีแรงทำงานอย่างอื่นต่อไป
การฝึกสมาธิการในการอาจไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องการการฝึกฝนเหมือนการฝึกนั่งสมาธิหรือการฝึกโยคะ หากฝึกเป็นประจำก็จะช่วยให้การกินมีสมาธิมากขึ้น และมีวินัยในการกินมากขึ้น การฝึกการกินนี้จะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดอ้วนลดพุง และยังช่วยผ่อนคลายความเครียดได้