ฝึกทักษะทำค่ายอาสาปลุกสำนึกวิชาพลเมือง
กลุ่มนักศึกษาภาคเหนือร่วมกิจกรรมค่ายอาสาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (ค่ายสร้างสุข) ปีที่ 9 ซึ่งมูลนิธิโกมลคีมทอง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นพี่เลี้ยง ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่พวกเขาได้ใช้เวลาในช่วงปิดภาคเรียนในการลงพื้นที่ ต.บ้านกล้วย อ.ภูซาง จ.พะเยา เพื่อหาประสบการณ์จริงโดยตรงจากประชาชนในพื้นที่
นายดิลก หาญพล เจ้าหน้าที่มูลนิธิโกมลคีมทอง บอกว่า กลุ่มนักศึกษาภาคเหนือมีความสนใจที่จะทำค่ายเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม สิทธิที่ดินทำกิน ความเป็นอัตลักษณ์ในภูมิภาค ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเยาวชนให้ความสำคัญถึงความเปลี่ยนแปลงในเรื่องเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเปิดโอกาสให้ลงมือทำค่ายจริง จำเป็นต้องมีกิจกรรมฝึกปฏิบัติ ที่จะสอนทักษะในเรื่องการทำงานร่วมกับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการคิด การเขียนโครงการการลงพื้นที่และทำงานร่วมกับชาวบ้าน รวมไปถึงการกำหนดเป้าหมายของค่ายให้ชัดเจน ในขั้นตอนนี้ประโยชน์ของชุมชนหรือรูปธรรมในพื้นที่เป็นผลพลอยได้ แต่หัวใจหลักยังเป็นการเติบโตภายในของเยาวชน ที่จะได้ยินได้เห็นจากการลงพื้นที่จริง ให้ลองทำจริง
ขณะที่ น.ส.อัญชลี ไชยวงศ์ หรือนุ่น นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย บอกว่า พึ่งเคยร่วมกิจกรรมค่ายอาสาเป็นครั้งแรก และเป็นแบบฝึกหัดจริงที่เพิ่งมีโอกาสได้ทดลองทำ เพราะที่ผ่านมาเคยได้ยินจากคำบอกเล่าเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประทับใจคือการได้ร่วมพูดคุยกับชาวบ้านถึงประเด็นสาธารณะที่อาจนำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่ชุมชน เห็นการเตรียมข้อมูลที่จะนำมาแบ่งปันกันของชาวบ้าน ซึ่งสะท้อนได้ว่าทุกคนสามารถเป็นพลเมืองที่จะตรวจสอบนโยบายของภาครัฐอย่างตรงไปตรงมาได้ เมื่อถึงคราวที่ชุมชนที่ตัวเองอยู่กำลังมีความเปลี่ยนแปลง
"งานค่ายอาสาได้เปลี่ยนมุมมองของหนู การลงพื้นที่ครั้งนี้สอนให้กล้าพูดในที่สาธารณะสอนให้รับฟังคนอื่น ฝึกทักษะทำงานร่วมกับคนที่มีความหลากหลาย อย่าลืมว่าการพัฒนาสังคมที่ไม่ได้เกิดจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ต่างคนก็ทำหน้าที่พลเมืองที่แตกต่างกัน นักศึกษาเองก็คงไม่สามารถไปช่วยอะไรใครได้ แต่เราสามารถช่วยในเรื่องข้อมูลช่วยประสานงานจัดเวที ที่จะให้ผู้เกี่ยวข้องได้สื่อสารความจริงไปสู่ผู้เกี่ยวข้องทุกๆ ฝ่าย ส่วนคนที่จะตัดสินใจคือตัวชาวบ้านเอง"
นายวิศวะ ชาตรีกุล หรือแชมป์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตลำปาง เล่าว่า เคยผ่านกิจกรรมการทำค่ายมาบ้างในรั้วมหาวิทยาลัย แต่การทำร่วมกับชุมชนในลักษณะลงพื้นที่เช่นนี้จำเป็นต้องมีทักษะที่รอบด้าน เริ่มตั้งแต่เรื่องพื้นฐานง่ายๆ อย่างการเล่นเกมเพื่อดึงสมาธิก่อนเข้าเนื้อหา การเข้าหาชาวบ้าน ชักชวนชาวบ้านให้ร่วมเสวนาในประเด็นที่เราต้องการ หรือการบอกข้อมูลที่ชาวบ้านอาจไม่เคยรู้มาก่อน
"การทำค่ายคงไม่ใช่แค่การไปลงพื้นที่ทำอะไรสักอย่างหนึ่งแล้วจบ แต่ต้องมีเป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะนำไปสู่อะไร ส่วนตัวผมสนใจประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะคิดว่าในพื้นที่ภาคเหนือที่มีการเจริญเติบโตของเมืองเพิ่มขึ้น ดังนั้นปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นสิ่งที่จะตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ การทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับสังคมต้องรู้จักที่จะเชื่อมโยง เช่น ที่มหาวิทยาลัย ผมและเพื่อนร่วมทำกิจกรรมการจัดการขยะ ชื่อ 'ขยะแลกบุญ' โดยนำเอาลักษะนิสัยของคนไทยที่ชอบทำบุญเข้ามาร่วมกับการรณรงค์แยกขยะ ซึ่งกิจกรรมนั้นสามารถลดขยะได้ในจำนวนหนึ่ง แต่เมื่อขยายสนามจากมหาวิทยาลัยมาสู่ชุมชน เราจำเป็นที่จะต้องมองให้รอบด้านกว่านั้น ต้องฝึกทักษะการเข้าหาชาวบ้าน รู้ถึงประเด็นที่ละเอียดอ่อน ซักซ้อมก่อนจะลงสนามจริง"
ด้าน นายไชยวัฒน์ มะกรูดอินทร์ หรือบอล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งสนใจในประเด็นเรื่องการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจในภาคเหนือ กล่าวว่า โลกปัจจุบันทำให้ทุกคนตื่นตัวและรับรู้ในความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ส่วนตัวมองว่าการพัฒนาเมืองเป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ แต่ต้องไม่ทำด้วยมุมมองของรัฐจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว เพราะต้องมีพื้นฐานมาจากการตัดสินใจของชุมชน คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์คนในท้องถิ่น ดังนั้นความหมายหนึ่งของการทำค่ายจึงเป็นพื้นที่ร่วมกันระหว่างข้อมูลส่วนกลางกับคนในชุมชน ซึ่งจะคอยกระตุ้นให้ชาวบ้านและเยาวชนเองทำหน้าที่พลเมืองที่มีคุณค่าต่อส่วนรวม
จะเห็นได้ว่าการจัดค่ายอาสาของกลุ่มนักศึกษาตามพื้นที่ต่างๆ ในชุมชนนั้น เป็นส่วนสำคัญที่จะบูรณาการร่วมกันพัฒนาสังคม ประชาชนในชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ระหว่างภาครัฐในการรับฟังความคิดเห็นและการตัดสินใจของคนในพื้นที่ โดยคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตและความเป็นอัตลักษณ์ในชุมชนนั้นๆ อย่างยั่งยืนต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน โดย เหรียญชัย จันทร์สุภาเสน
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต