ฝากเวลา…ปักหมุด’แผนที่ความดี’ ‘พลังแผ่นดิน’

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ฝากเวลา...ปักหมุด'แผนที่ความดี' 'พลังแผ่นดิน'  thaihealth


“น้ำใจคนไทย…ไม่แพ้ชาติใดในโลก”


คงไม่เกินจริงนักหากจะกล่าวเช่นนี้ เห็นได้จากเมื่อให้ชาวต่างชาติกล่าวถึง“อัตลักษณ์” ที่โดดเด่นของคนไทย คำที่มักจะปรากฏเสมอคือ “Friendly-เป็นมิตร” หรือ “Kindly-มีเมตตา” นอกจากนี้หลายครั้งหลายคราที่มีการนำเสนอข่าว “ภัยพิบัติ” ในต่างประเทศ หากมีการเปิดรับบริจาค คนไทยเป็นชาติหนึ่งที่ระดมทุนได้อย่างรวดเร็ว…


นาร์กิสที่เมียนมา…ธรณีพิโรธเฮติ…สึนามิถล่มญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นตัวอย่าง หรือเรื่องราวของ “จิตอาสา”…


แม้การจัดอันดับนานาชาติ “ดัชนีความเอื้อเฟื้อ” (World Giving Index) ในทุกปีคนไทยอาจไม่โดดเด่นด้านการใช้เวลาเป็นจิตอาสา (Volunteered Time) ด้วยอาจเพราะคนไทยส่วนใหญ่แค่ทำงานเลี้ยงชีพอย่างเดียวก็แทบไม่มีเวลาเหลือแล้ว จึงเน้นแสดงน้ำใจด้วยการบริจาคเงิน (Donating Money) เป็นหลักแทน


ทว่า…ในหลายโอกาส โดยเฉพาะขณะนี้ที่ผู้คนเดินทางมากราบถวายสักการะพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “ในหลวงรัชกาลที่ 9”ณ พระบรมมหาราชวัง มีผู้คนไม่น้อยมาเป็นจิตอาสา “อำนวยความสะดวก” ในหลายด้าน


ฝากเวลา...ปักหมุด'แผนที่ความดี' 'พลังแผ่นดิน'  thaihealthฝากเวลา...ปักหมุด'แผนที่ความดี' 'พลังแผ่นดิน'  thaihealth


เพื่อให้ “จิตอาสา” ของคนไทยมีความต่อเนื่อง ผู้ต้องการทำประโยชน์แก่สังคมมีช่องทางรับรู้ว่า “จะไปทำอะไรที่ไหนดี” จึงเกิดแนวคิดรวมสิ่งดีๆ มาไว้ด้วยกัน ดังตัวอย่างเช่น…


โครงการ “ธนาคารจิตอาสา” บนเว็บไซต์ http://www.palangpandin.com/ ซึ่งปัจจุบันมี 2 ส่วน…หนึ่งนั้น คือ แผนที่พลังแผ่นดิน ที่ให้ทุกคนเข้ามาเขียนถึงกิจกรรมทำดีของตนที่เว็บไซต์ บอกตำแหน่งสถานที่ และแชร์ไปยังเฟซบุ๊กได้ทันที นอกจากนี้เว็บไซต์ยังรวบรวมกิจกรรมเรื่องราวดีๆ จากทวิตเตอร์และอินสตาแกรม เพียงในโพสต์นั้นใส่แฮชแท็ก #จิตอาสาพลังแผ่นดิน หรือ #palangpandin และ “ปักหมุด” สถานที่ที่ทำความดี


อีกหนึ่งนั้น คือฝากเวลา เมื่อคลิกเลือกหมวดนี้ จะเชื่อมต่อไปยัง http://www.jitarsabank.com/ ซึ่งจะรวบรวมกิจกรรมจิตอาสาจากทั่วประเทศ ให้ผู้สนใจได้เลือกเข้าร่วมตามความถนัดและความสะดวก


ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงที่มาของโครงการนี้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นสัญลักษณ์การทำความดีและทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ดังที่คนไทยได้เห็นตลอดรัชสมัยของพระองค์ เพื่อน้อมนำพระราชดำรัสของพระองค์เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต สสส. จึงเชิญชวนทุกภาคส่วนในสังคม แปรเปลี่ยนความโศกเศร้า ความอาลัยรัก เป็น “พลัง…สานต่อพระปณิธาน” ของพระองค์สืบไป


ฝากเวลา...ปักหมุด'แผนที่ความดี' 'พลังแผ่นดิน'  thaihealth“สสส.ร่วมกับธนาคารจิตอาสา พัฒนาพื้นที่กลางเพื่อสานพลังจิตอาสาผ่านทางเว็บไซต์ www.Palangpandin.com ซึ่งเป็นช่องทางเชื่อมโยงพลังเครือข่ายทั่วประเทศ ในการแบ่งปันเรื่องราวกิจกรรมอาสาทำดี การช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการสร้างกลไกสำหรับการสร้างงานและเครือข่ายจิตอาสาเพื่อผู้อื่น เพื่อสร้างแรงบันดาลใจผ่านเรื่องราวการลงมือทำความดี สนับสนุนให้สังคมส่งต่อความดีแก่กัน” ผู้จัดการกองทุน สสส. ระบุ


เรื่องเล่าหนึ่งที่เป็น “แรงบันดาลใจ”ของโครงการ…เรียม สิงห์ทร ครูโรงเรียนบ้านขอบด้ง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เล่าย้อนความหลังว่า เมื่อเกือบ 3 ทศวรรษก่อน ชนบททางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ถูกเรียกเป็น “พื้นที่สีแดง” มีปัญหาสู้รบระหว่างกองกำลังติดอาวุธต่างๆ ตามแนวชายแดน อีกทั้งเป็นแหล่งผลิตและค้ายาเสพติดแหล่งใหญ่ ตนมาเป็นครูที่นี่แรกๆ รู้สึก “ท้อแท้” จนแทบอยากหนีออกไปเสียให้ได้ กระทั่งมีโอกาสได้เฝ้าฯรับเสด็จ “ในหลวง-พระราชินี” ทำให้เปลี่ยนความคิดและตัดสินใจ “ขอสู้ต่อ” จนกว่าจะถึงวันเกษียณ


“ยอดแม่พิมพ์แห่งดอยอ่างขาง”เล่าว่า วันที่ 11 มีนาคม 2535 ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จฯ มาที่บ้านขอบด้ง และเข้ามาที่อาคารศิลปาชีพมาทอดพระเนตรเด็กปั้นดินน้ำมันและเขียนภาษาไทย พระองค์ท่านทอดพระเนตรแล้วก็เสด็จออกไปดูแปลงดอกคาร์เนชั่น และพระราชทานเงิน 3 พันบาท เป็นค่าโรงเรือนในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสฝากถึงครูและเด็กๆ ว่า…“ฉันฝากเด็กชาวเขาเหล่านี้ด้วยตัวฉันอยู่ไกล ครูดูแลด้วยนะ…”


จากพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงตั้งปณิธานไว้กับตัวเองว่าจะอยู่บนดอยจนเกษียณ ทำงานบนพื้นที่นี้ไปตลอดชีวิต อยู่เพื่อบอกกล่าวกับคนทั่วไปให้รู้ว่า พระองค์ท่านได้ทำอะไรให้ที่นี่บ้าง และขณะนี้กำลังทำพิพิธภัณฑ์เรื่องราวชุมชนบ้านขอบด้งกับพระเจ้าอยู่หัวของไทย ผู้ทรงอยู่ในหัวใจคนบ้านขอบด้งเสมอมา


เช่นเดียวกับ น.ส.อภิญญา โสดสงค์ ครูสอนโยคะ เล่าว่า เมื่ออายุ 19 ปี เคยต้องโทษคดียาเสพติด เข้าไปอยู่ในเรือนจำ 4 ปี แน่นอนว่า “วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี” เป็นวันที่นักโทษทุกคนรอคอยว่าจะมีรายชื่อได้รับ “พระราชทานอภัยโทษ” หรือไม่???ซึ่งอยู่ที่ว่านักโทษรายนั้น “ประพฤติดี” เพียงใดก็มีโอกาสได้เลื่อนได้ลดโทษและอภัยโทษในฝากเวลา...ปักหมุด'แผนที่ความดี' 'พลังแผ่นดิน'  thaihealthที่สุด


“ระหว่างอยู่ในเรือนจำ มีโอกาสได้รู้จักศาสตร์ของโยคะ จากโครงการบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับระบบยุติธรรมทางอาญา ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาฯ ดังนั้นเมื่อพ้นโทษออกมา จึงต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ไม่หวนกลับไปกระทำความผิดอีก หลายคนมองว่าเราเป็นคนขี้คุก แต่พระเมตตาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังทรงให้อภัย จึงขอนำความรู้ที่ได้จากในเรือนจำออกมาสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้สังคม” อภิญญา กล่าว


ขณะที่ นายอุดมศักดิ์ ดอนขำไพร ผู้ก่อตั้งและประธานฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท Zanroo Limited กล่าวว่า อยากสานต่อให้คนได้ร่วมกันแสดงออกถึงการทำความดี ให้เห็นว่าการทำความดีมีได้หลายรูปแบบจึงร่วมพัฒนาเว็บไซต์พลังแผ่นดินขึ้น เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมกันแสดงพลังทำความดีตามรอยพ่อและบอกเรื่องความดีที่ได้กระทำลงในแผนที่เพื่อส่งต่อความดีและสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นทั่วทั้งแผ่นดิน


ด้าน ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้อำนวยการร่วมธนาคารจิตอาสา ฝากทิ้งท้ายว่า หากได้เข้าชมและมีส่วนร่วมบอกความดีในเว็บไซต์จิตอาสาพลังแผ่นดิน แล้วเกิดความสนใจจะทำงานอาสาสมัครที่ตรงกับความสนใจและได้ใช้ทักษะของตน สามารถสมัครตรงไปที่ธนาคารจิตอาสา JitArsaBank.com หรือ เฟซบุ๊กแฟนเพจ ธนาคารจิตอาสา โดยผู้สนใจเป็นจิตอาสาสามารถ “ฝากเวลา” ที่ตั้งใจจะใช้ทำงาน บอกทักษะและความสนใจที่มี ระบบธนาคารจิตอาสาจะ “จับคู่งานอาสา” ที่สอดคล้องกัน ขณะนี้กำลังเปิดรับโดยองค์กรภาคสังคมที่หลากหลาย เพื่อให้กระแสจิตอาสามีความต่อเนื่อง และเป็น… “พลังที่เข้มแข็ง” ของแผ่นดินไทย

Shares:
QR Code :
QR Code