ฝันที่เป็นจริงสร้างเมืองปั่นได้เมืองปั่นดี
พัฒนายุทธศาสตร์ 3 ส. เมืองปั่นได้ปั่นดี ส่งเสริมคนไทยสุขภาพดี
แฟ้มภาพ
คงไม่ปฏิเสธกันว่ากิจกรรมทางกายที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปีนี้คือออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยาน เพราะยามนี้ไม่ว่าจะไปไหนมาไหนก็จะเห็นผู้คนพกเจ้าสองล้อคู่กายออกไปทำกิจกรรมกัน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก เยาวชน กลุ่มครอบครัว ทั้งในสวนสาธารณะและตามเส้นทางต่างๆ หรือปั่นกันแบบทัวริ่งระยะทางไกลข้ามเขต เช่น เส้นทางที่นิยมปั่นและเปิดเผยกันทางโลกโซเชียลคือ เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทางประมาณ 700 กิโลเมตร
เคยตั้งคำถามกับผู้ใช้จักรยานถึงสาเหตุที่หลงใหลกีฬาชนิดนี้ พบว่านอกจากได้รับความสนุกแล้ว ยังได้มิตรภาพที่ดีและประสบการณ์ใหม่ๆ ตลอดสองข้างทาง แต่สิ่งสำคัญสุดคือพวกเขาเสพติด สารเอนดอร์ฟินที่หลั่งมาพร้อมกับฮอร์โมนสร้างสุข
นอกจากสุขภาพกาย สุขภาพใจดีแล้ว พวกเขายังฝันต้องการให้บ้านเมืองเราเป็นเมืองจักรยานอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับที่พบเห็นในประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน หรือในประเทศยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ หรือกลุ่มสแกนดิเนเวีย ที่ประชากรของประเทศเหล่านั้นสามารถนำจักรยานมาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยไม่ต้องกลัวเกรงอุบัติเหตุ รวมทั้งผู้คนในสังคมเปิดใจยอมรับ ควบคู่กับภาครัฐบาลและหน่วยงานท้องถิ่นที่ต่างสนับสนุนให้มีเส้นทางจักรยานควบคู่ถนนสายหลัก สายรอง และพื้นที่สาธารณะอย่างทั่วถึงด้วย
กลับมาที่บ้านเรา เรื่องดังกล่าวจะเป็นจริงแบบที่เห็นในต่างประเทศได้หรือไม่ ยังไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่อย่างน้อยก็มีเรื่องน่ายินดี เพราะช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับทราบว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย จัดทำโครงการความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการใช้จักรยานในวิถีชีวิตประจำวัน ภายใต้ชื่อโครงการ “เมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี” ในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ
ทั้งนี้ อาจารย์ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกายของ สสส. กล่าวว่า “โครงการเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี” คือการร่วมพัฒนายุทธศาสตร์ 3 ส.กับทุกจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ 1 สวนสาธารณะ 1 เส้นทางสัญจร และ 1 สนามกีฬา หรือสนามบิน ในพื้นที่ของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ
โดยสวนสาธารณะ คือ การสร้างทางจักรยานในสวน ซึ่งทุกจังหวัดมีสวนสาธารณะขนาดต่างๆ กระจายอยู่ทั่ว และผลการสำรวจพบว่าร้อยละ 60 มีความพร้อมในการพัฒนาเป็นพื้นที่จักรยาน
ด้านเส้นทางสัญจรภายในเมือง คือ พัฒนาเส้นทางจักรยานบนเส้นทางหลักที่เชื่อมโยงสถานที่สำคัญของเมือง ระบบขนส่งสาธารณะและเส้นทางที่มีผู้ใช้สัญจรเป็นประจำ โดยใช้วิธีปรับแบ่งพื้นผิวจราจร ขีดสี ตีเส้น และกำหนดมาตรการดูแลตามกฎหมาย เช่น จำกัดความเร็วไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันทุกจังหวัดมีแผนเรื่องทางจักรยานแล้ว ส่วนสุดท้ายคือสนามกีฬา คือ สนับสนุนให้มีการขี่จักรยานโดยรอบสนามกีฬาหรือสนามบิน จัดพื้นที่โดยรอบและมีระบบบริหารจัดการที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่
อาจารย์ณรงค์กล่าวว่า ในปัจจุบันคนไทยใช้จักรยานทั้งเดินทางในวิถีชีวิตและนันทนาการ โดยตลาดจักรยานเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉพาะช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เติบโตจากมูลค่ารวม 3,000 ล้านบาทต่อปี เป็น 5,000 ล้านบาทในปี 2556 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
สอดคล้องกับข้อมูลสถิติของ สสส. พบว่ามีผู้มีศักยภาพที่จะใช้จักรยานมากถึง 60 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการรณรงค์ให้คนกลุ่มนี้เปลี่ยนพฤติกรรมและหันมาเดินทางในชีวิตประจำวันด้วยจักรยานมากยิ่งขึ้น โดยมีแผนการส่งเสริมให้มีเส้นทางจักรยานที่ปลอดภัยซึ่งถือเป็นหัวใจของเรื่องนี้ เพราะหากไม่ปลอดภัยก็จะไม่มีผู้ใช้จักรยานจริงเกิดขึ้นในวิถีชีวิต รวมถึงสร้างเสริมทัศนคติที่ดีต่อการใช้ถนนร่วมกันในสังคม
ทั้งนี้ โครงการเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี ระยะที่ 1 มีจังหวัดต่างๆ เข้าร่วมจำนวน 17 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำพูน จังหวัดน่าน จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดอุดรธานี จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดชัยนาท จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดราชบุรี จังหวัดจันทบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดกระบี่ จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลา
ผู้ทรงคุณวุฒิแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกายกล่าวว่า โครงการเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี นอกจากส่งเสริมให้มีการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันแล้ว ยังสนับสนุนให้ประชาชนเพิ่มกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเพื่อสนองตอบความต้องการของประชาชน ประกอบไปด้วย 4 ด้าน ได้แก่ ด้านสุขภาพ โดยการปั่นจักรยานเป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที จะช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ช่วยให้ระบบการไหลเวียนของโลหิตและหายใจดีขึ้น ทำให้หัวใจและปอดทำงานได้ดี
นอกจากนี้ยังลดความเสี่ยงเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) 6 โรคหลัก ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ และโรคอ้วนลงพุง ซึ่งพบว่าคนไทยมีความเสี่ยงเกิดโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยข้อมูลจากรายงานผลการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อและบาดเจ็บ พ.ศ.2553 พบว่าคนไทยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญถึงร้อยละ 71 ของการเสียชีวิต และยังมีแนวโน้มการเป็นโรคเพิ่มมากถึง 3.3 ล้านคน โดยประมาณ 6.3 แสนคน เป็นผู้ป่วยรายใหม่ที่พบในปี 2554
ด้านที่ 2 ได้แก่ ด้านสังคม ใช้จักรยานเดินทางระยะสั้น หรือประมาณ 1-5 กิโลเมตร จะช่วยคืนความเป็นชุมชนกลับมา โดยมีแผนที่จะปั้น 76 จังหวัดให้เป็นเมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี ทั้งนี้ เมื่อศึกษาในหลายประเทศ ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา พบความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างปริมาณการเดินและใช้จักรยานของประชาชนกับความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ สังคม ความเป็นประชาธิปไตย และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ด้วยการจัดผังเมือง ออกแบบและพัฒนาเมืองที่ส่งเสริมระบบดังกล่าว ขณะที่การใช้จักรยานเชื่อมโยงกับการใช้ระบบขนส่งสาธารณะจะช่วยลดการใช้รถยนต์ ลดการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ
ด้านที่ 3 ด้านเศรษฐกิจ พบว่าค่าใช้จ่ายครัวเรือนในการเดินทางและยานพาหนะคิดเป็นร้อยละ 19 ดังนั้นหากใช้จักรยานแทนใช้รถยนต์เพียงสัปดาห์ละ 1 วัน คนไทยจะประหยัดค่าน้ำมันได้เฉลี่ย 5,200 บาท/คัน/ปี นอกจากนั้นยังพบว่ามีผู้ขี่จักรยานท่องเที่ยวราว 260,000 คน โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 500-1,000 บาทต่อคนต่อวัน สร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวภายในประเทศประมาณ 900 ล้านบาท
สุดท้าย ด้านสิ่งแวดล้อม ใช้จักรยานระยะสั้นช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่ง ซึ่งเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยเพิ่มขึ้นในอัตราสูงมากจนเป็นอันดับที่ 21 ของโลกในปี 2554 จากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมาจากภาคขนส่งมากถึงร้อยละ 27
ความฝันว่าประเทศไทยจะเป็นเมืองจักรยานได้หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่หน่วยงานรัฐและองค์กรภาคสังคมที่ส่งเสริม แต่ปัจจัยสำคัญสุดคือทัศนคติของคนไทยด้วยว่าจะยอมรับจักรยานหรือมองเป็นสิ่งแปลกปลอมบนท้องถนน.
กิจกรรมทางกาย คลายโรค
จากแนวโน้มการเจ็บป่วยของคนไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีสภาวะการเจ็บป่วยด้วยโรคซึ่งมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตและการบริโภค ที่เรียกว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน ข้อเสื่อม กระดูกพรุนในผู้สูงอายุและโรคอ้วนลงพุง
องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ถ้าต้องการมีสุขภาพที่ดี ป้องกันโรคไม่ติดต่อทั้งหลาย ควรมีกิจกรรมทางกาย (Physical Activities) ซึ่งการปั่นจักรยานเป็นหนึ่งในกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง ที่ทำให้เกิดการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้หัวใจเราเริ่มเต้นแรง หายใจเร็วขึ้น ควรทำอย่างต่อเนื่อง 10 นาทีขึ้นไป หรือ 150 นาทีต่อสัปดาห์
ขณะที่กรมอนามัยให้ข้อมูลว่า ปั่นจักรยานเป็นประจำทุกวัน วันละ 30 นาที จะช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ช่วยให้ระบบการไหลเวียนของโลหิตและหายใจดีขึ้น ทำให้หัวใจและปอดทำงานได้ดี สามารถป้องกันโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และปั่นจักรยานที่ถูกวิธียังช่วยลดแรงกระแทกบริเวณหัวเข่า ข้อเท้า ช่วยให้กล้ามเนื้อกระชับและกระดูกแข็งแรง ทั้งสามารถช่วยเผาผลาญพลังงานได้เป็นอย่างดี (กรมอนามัย 2557)
ปั่นจักรยานเป็นกิจกรรมทางกายที่คนทุกเพศทุกวัยสามารถทำโดยลำพังก็ได้ ทำเป็นกลุ่มก็สนุก การขับขี่ทำได้ตลอดทั้งปี
ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์